หนึ่งโอกาส. . . เพื่ออีกหนึ่งชีวิตใหม่ของผู้ประกันตนทุพพลภาพ
นายสมศักดิ์ อภิวันทนกุล ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่มอบสุข ผู้ประกันตนทุพพลภาพ ประจำปี 2560 ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก จ.ระยอง เพื่อติดตามคุณภาพชีวิต “นายไพบูลย์ พันธุ์พิริยะ” ผู้ประกันตนทุพพลภาพเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ และเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับโอกาส เข้ารับการฟื้นฟู จนพบกับคำว่า “ชีวิตใหม่” ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
นายสมศักดิ์ อภิวันทนกุล ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นายไพบูลย์ พันธุ์พิริยะ เป็นผู้ประกันตนทุพพลภาพ ที่ได้รับโอกาสจากการลงพื้นที่โครงการมอบสุขฯ ประจำปี 2559 ซึ่งคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคม นำนักกายภาพและเจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ เข้าเยี่ยม ประเมินอาการ ในขณะนั้น นายไพบูลย์ มีความพิการขา ต้องอาศัยรถเข็น และกล้ามเนื้อเริ่มมีอาการเกร็ง สภาพจิตใจไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เนื่องจากเดิมทีสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ด้วยภาวะร่างกายที่ทุพพลภาพ ส่งผลให้ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัวจึงย้ายออกมาอาศัยอยู่กับวัดซึ่งให้การดูแลผู้ป่วยไร้บ้าน แต่จากการเข้าตรวจเยี่ยม ประเมินสภาพอาการแล้ว สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นว่า อยู่ในระดับที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และอาจจะมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นหากเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จึงได้ประสานขอรับตัวนายไฟบูลย์เข้ารับการฟื้นฟูเมื่อปี 2559 และพบว่า หลังจากเข้ารับการฟื้นฟู ผู้ประกันตนมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีขึ้นมาก ตลอดจนมีหน้าตา จิตใจแจ่มใส สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยัง ได้รับการฝึกอาชีพและมีความมุ่งหวังว่าจะสามารถเข้ารับการฝึกฝนทางด้านการกีฬาเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทยในการเข้าแข่งขันกีฬาคนพิการได้
นอกจากการดูแลภายในศูนย์ฟื้นฟูฯแล้ว นายไพบูลย์ยังคงได้รับสิทธิประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง ได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้เดือนละ 4,297.50 บาท ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมให้การดูแลผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม
ด้านนายไพบูลย์ พันธุ์พิริยะ ผู้ประกันตนทุพพลภาพ เปิดเผยว่า วันนี้ ทำให้เข้าใจคำว่า “ชีวิตใหม่” อย่างถ่องแท้ เพราะชีวิตวันนี้หลังจากเข้ารับการฟื้นฟู กับชีวิตของการเป็นผู้พิการที่อาศัยอยู่ในวัดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก่อนเข้ารับการฟื้นฟูรู้สึกลังเล เพราะอดีตเคยต้องนอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว หลังจากที่เจ้าหน้าที่ประกันสังคมติดต่อให้เข้าศูนย์ฟื้นฟูฯ มีความกังวลว่าจะเป็นเหมือนโรงพยาบาล แต่เมื่อได้รับการพัฒนาทางกายอย่างแท้จริงแล้ว ก็พบว่ามีความแตกต่างจากโรงพยาบาลเพราะนอกจากจะได้ฝึกสมรรถภาพทางร่างกายแล้ว ยังมีการดูแลเยียวยาทางด้านจิตใจและฝึกอาชีพร่วมด้วย ปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้นกว่า 60% อาทิ การพยุงตัวเองออกจากรถเข็น การเข้าห้องน้ำ การใช้รถเข็นยกล้อข้ามสิ่งกีดขวางด้วยตนเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพัฒนาการของตนเอง และที่สำคัญคือ ยังมีโอกาสได้เข้ารับการคัดเลือกจากสถานประกอบการที่จะเข้ามาคัดเลือกผู้ทุพพลภาพเข้าทำงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต ที่เชื่อว่าหากไม่มีสิทธิประกันสังคมคงไม่สามารถได้รับโอกาสเช่นนี้อย่างแน่นอน