ชบ.เดือดร้อนเหมืองแร่ทั่ว ปท.เปิดเวทีถกปัญหา - ค้านปลดเหมืองออกจากโครงการรุนแรง
เครือข่ายชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเหมืองแร่ทั่วประเทศเตรียมทำข้อเสนอรัฐบาล กลุ่มศึกษาปัญหาแร่ชี้รัฐต้องสะสางปัญหาเก่าในพื้นที่ให้ได้ก่อนเดินหน้าอนุมัตโครงการใหม่-เรียกร้องทบทวนร่าง พ.ร.บ.แร่ซึ่งอยู่ที่กฤษฎีกา เอ็นจีโอเตรียมถกประเด็น คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติปลดเหมืองบางประเภทออกจากโครงการรุนแรงตาม รธน.มาตรา 67 วรรค 2
จากการที่เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย เตรียมจัดเวทีเพื่อระดมสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากพื้นที่เพื่อประมวลความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องสู่การวางแผนการทำงานร่วมกัน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทำให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อหวังเม็ดเงินเข้าประเทศ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับไม่สอดคล้องกับทรัพยากรที่สูญเสียไป
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่าในระดับพื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เหมืองทองคำที่ จ.เลยและพิจิตร ซึ่งรัฐบาลกำลังจะให้ประทานบัตรเพิ่มเติม ทั้งที่การดำเนินงานกว่า 7 ปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบกับชาวบ้านอย่างมาก ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และโรคผิวหนังเป็นตุ่มผื่นเพราะสารพิษจากเหมืองแร่
“ชาวบ้านกำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หยุดประทานบัตร เพราะกังวลว่าถ้าให้เพิ่มอีกจะเดือดร้อนหนักขึ้น จึงยื่นเงื่อนไขว่าให้แก้ผลกระทบที่มีอยู่ให้เรียบร้อยก่อนค่อยคิดทำใหม่”
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งกรณีเป็นโครงการสำรวจเหมืองถ่านหิน อ.งาว จ.ลำปาง ชาวบ้านระบุว่าบริษัทที่สำรวจอ้างว่าจะใช้พื้นที่ทำสวนป่า จึงกว้านซื้อที่ดินกว่า 2,000 ไร่ แต่กลับเปลี่ยนแปลงจุดประสงค์ภายหลังมาสำรวจเพื่อทำเหมืองถ่านหินแทน ชาวบ้านจึงเรียกร้องเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมและให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบของการทำเหมือง ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการอนุญาต
สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นที่จะมีถึงรัฐบาล นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า 1.รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ที่มีอยู่ให้เรียบร้อยและชัดเจนก่อน 2.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเหมืองแร่ในประเทศไทย เช่น การยุติและถอดร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกก่อน เพราะมีหลายมาตราที่ละเมิดสิทธิชุมชน และ 3.ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมโดยมีประชาชนร่วมพิจารณานโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกประเภท
นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่าการจัดเวทีครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาที่ชาวบ้านประสบจากการทำเหมืองแร่ และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อตรวจสอบเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน
“เชื่อว่าการเปิดเครือข่ายให้ชุมชนและชาวบ้านได้ติดตามประเด็นปัญหาของตนเองจะทำให้เกิดการหนุนเสริมในพื้นที่ที่ไม่เข้มแข็งได้ลุกขึ้นมา อีกทั้งวางกรอบการติดตามนโยบายร่วมกัน โดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปล่อยโครงการเหมืองแร่บางประเภทให้หลุดออกจากประเภทโครงการรุนแรง”
นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมมองส่วนตัวเหมืองแร่ทุกประเภทเป็นโครงการที่อาจกระทบต่อชุมชนรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 โดยเฉพาะกรณีเหมืองใต้ดินที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้หลักทางวิศวกรรมโดยไม่มองถึงประเด็นระดับพื้นที่ ทั้งที่ชุมชนรู้ดีที่สุดว่ารุนแรงหรือไม่
“สำหรับชุมชนคำว่ารุนแรงมี 2 ระดับคือรุนแรงโดยสภาพโครงการ และรุนแรงโดยกิจกรรมโครงการที่เกิดขึ้นและกระทบชุมชน อันนี้ต่างหากที่เรียกว่ารุนแรงในนิยามพวกเรา จึงไม่เห็นด้วยกับมตินี้”
ทั้งนี้เวทีเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 3-5 ก.ย. นี้ ที่โรงแรมเทพนคร จ.พิษณุโลก โดยมีพื้นที่ซึ่งประสบความเดือดร้อนเข้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 15 แห่ง ได้แก่ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการลำเลียงถ่านหินพม่า จ.เชียงราย, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโครงการสำรวจแร่เหล็กและทองคำ ลุ่มน้ำสลอย อ.วังชิ้น จ.แพร่, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโครงการสำรวจเหมืองถ่านหิน อ.งาว จ.ลำปาง, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองสังกะสี อ.แม่สอด จ.ตาก, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ จ.เลย, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสำรวจแร่ทองแดง จ.เลย, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสำรวจเหมืองเหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปรแตส จ.อุดรธานี ขอนแก่น และมหาสารคาม, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่สูบน้ำเกลือใต้ดิน จ.นครราชสีมา, กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดูดทราย อ.ตะกั่วป่า และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่หิน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา.