“บุหรี่” ยังทำคนไทยตายเพิ่ม เฉลี่ยอายุสั้นหายไป 12.6 ปี
โดยเฉลี่ยเมื่อคนไทย 1 คน ตายด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ จะยังมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่อีก 20 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 51,651 คนต่อปี นั่นหมายความว่า มีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคนที่ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ นับเป็นความสูญเสียมหาศาลทั้งด้านค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และการเพิ่มภาระความแออัดในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
ดร.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ โครงการศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยตัวเลขล่าสุดของคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ว่ามีถึง 51,651 คนในปี พ.ศ.2557 เพิ่มขึ้น 941 คน จากปี พ.ศ.2552 ที่เสียชีวิต 50,710 คน โดยเป็นจำนวนตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มโรค ทั้งกลุ่มโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง และโรคอื่นๆ
ดร.กนิษฐา เปิดเผยต่อไปว่า โดยเฉลี่ยผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็นคนละ 12.6 ปี ส่งผลก่อนเสียชีวิตแต่ละคนจะป่วยหนักเป็นเวลา 2.3 ปี รวมแล้วเป็นจำนวนปีสุขภาพทรุดโทรมที่แต่ละคนเสียไปเท่ากับ 15 ปี ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่โดยตรง ยังไม่รวมคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่าจากสถิติวิเคราะห์ของนักวิชาการองค์การอนามัยโลก โดยเฉลี่ยเมื่อคนไทย 1 คน ตายด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ จะยังมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่อีก 20 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 51,651 คนต่อปี นั่นหมายความว่า มีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคนที่ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ นับเป็นความสูญเสียมหาศาลทั้งด้านค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และการเพิ่มภาระความแออัดในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยหนัก มีผู้ป่วยทั้งอาการหนัก เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลมูลค่าสูงมาก เพื่อบำบัดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมปอดพอง ทุกฝ่ายจึงต้องเร่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายยาสูบฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 4 ก.ค.2560 นี้ มาตราที่ห้ามแบ่งซองขาย ห้ามขายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามแสดงซองบุหรี่ที่จุดขาย เพื่อกระตุ้นผู้สูบบุหรี่จำเป็นต้องเลิกสูบทันทีหรือโดยเร็วที่สุด ลดภาระการดูแลรักษาพยาบาลในครอบครัวและสังคม โดยเริ่มต้นจากการไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อทำให้เลิกง่ายขึ้น