เอสซีจี จัดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่พลิกโฉมบรรจุภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์และขายได้จริง
เพราะบรรจุภัณฑ์ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อรองรับการบรรจุหรือขนส่งผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังต้องเปี่ยมไปด้วยประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมหรือความสวยงาม เพื่อดึงดูดใจลูกค้าและสื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ ดังนั้น การออกแบบที่ดี จึงถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.ค. 2560 ณ อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์รอบชิงชนะเลิศของโครงการ “SCG Packaging x Wallpaper* The Challenge 2017” ภายใต้แนวคิด “ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นจริง” โดยคัดสรรผลงานที่ดีที่สุด 12 ผลงาน จากกว่า 326 ผลงานของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมประกวดมาตัดสินกันในวันนี้ เพื่อให้ได้ที่สุดของบรรจุภัณฑ์ซึ่งตอบโจทย์อันท้าทายจากผู้ผลิตสินค้าจริง 4 โจทย์ ได้แก่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์บรรจุสินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งที่ปรับเป็น Display ได้ ให้กับซอสภูเขาทอง (ฝาเขียว) และซอสพริก ตราศรีราชาพานิช การออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้กับข้าวและน้ำแกงสำเร็จรูปตรารอยไทย เรดี้ สุดท้ายคือการตั้งชื่อแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และออกแบบบรรจุภัณฑ์กล่อง UHT ให้กับเครื่องดื่มน้ำหัวปลี
โดยผู้ชนะเลิศ The Best of The Challenge จากแต่ละโจทย์ จะได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 50,000 บาท และโอกาสในการเดินทางไปร่วมงาน Dutch Design Week ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเปิดประสบการณ์ด้านการออกแบบ พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนผู้ที่ได้คะแนนรองลงมาของแต่ละโจทย์ รับทุนการศึกษารางวัลละ 30,000 บาท นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเพิ่มรางวัลพิเศษจากผู้ผลิตสินค้าเป็นทุนการศึกษารางวัลละ 15,000 บาท ให้กับผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 3 ของแต่ละโจทย์ รวมทั้งยังมอบรางวัล The Popular Challenge เป็นทุนการศึกษา 10,000 บาท อีกด้วย สรุปมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1,000,000 บาท
ลูกค้าจริง บรีฟจริง คอมเมนต์จริง
กิจกรรมประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยความร่วมมือของ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กับ นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับภาษาไทย จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แต่ความพิเศษของปีนี้ คือ การนำโจทย์จากลูกค้าจริงของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง อย่าง กลุ่มบริษัทอำพลฟูดส์ เจ้าของแบรนด์ “รอยไทย เรดี้” และ “เครื่องดื่มน้ำหัวปลี” ที่รอชื่อแบรนด์จากการประกวดครั้งนี้ และ บริษัทไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ “ซอสภูเขาทอง (ฝาเขียว)” และ “ซอสพริก ตราศรีราชาพานิช” ที่มามอบโจทย์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่มีความท้าทายแตกต่างกัน ให้กับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมสร้างประสบการณ์จากการประกวดครั้งนี้มากกว่าแค่การแข่งขัน น้อง ๆ ที่ผ่านเข้ารอบ 24 คนสุดท้ายยังได้ร่วม Workshop ให้ความรู้ในเรื่องที่ห้องเรียนอาจไม่มีสอน ทั้งเรื่องของเทรนด์และหลักการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองด้านการตลาด รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานการผลิตบรรจุภัณฑ์ และได้ลองขายงานเสมือนการทำงานจริงในสายวิชาชีพ พร้อมรับฟังคำคอมเมนท์เพื่อนำไปปรับแก้ก่อนมาถึงรอบชิงชนะเลิศ จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการตลาด ได้แก่ คุณธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง คุณเรวัฒน์ ชํานาญ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับภาษาไทย คุณสมชนะ กังวารจิตต์ นายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย และ Executive Creative Director จาก Prompt Design รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Director of the Brand Center และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการตัดสินจากเจ้าของแบรนด์อีก 2 ท่าน คือ คุณธนวัฒน์ วิญญรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) และ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง
พรีเซนท์งานวันตัดสิน ร่วมลุ้นราวกับเรียลลิตี้โชว์
ในวันงานฯ ซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศนั้น จะมีเวลาให้น้อง ๆ ที่ฝ่าด่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นจนเหลือ 12 คนสุดท้าย (โจทย์ละ 3 คน) ได้นำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการและผู้สนใจเข้าร่วมฟัง คนละ 5 นาที บรรยากาศเป็นไปอย่างเข้มข้นเมื่อต้องนำเสนอผลงานให้อยู่ภายในเวลาที่กำหนด รวมทั้งต้องตอบคำถามจากคณะกรรมการที่เน้นย้ำให้น้อง ๆ ได้นึกถึงโจทย์สำคัญในการออกแบบครั้งนี้ ที่จะต้องสามารถนำบรรจุภัณฑ์ไปปรับใช้และวางจำหน่ายได้จริง เช่น มีการสอบถามความสะดวกของลูกค้าผู้ใช้งานจริงหรือไม่ หรือร้านจำหน่ายสินค้ายินดีจะจัดวาง Display บรรจุภัณฑ์สินค้าตามที่เราออกแบบมาหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจของการรับฟังคอมเมนท์ต่าง ๆ จึงเป็นการได้รู้ว่าการออกแบบที่ดีต้องตอบโจทย์ให้ครบ ตั้งแต่การทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถผลิตได้จริงในราคาสมเหตุสมผล ความดึงดูดใจผู้ซื้อเพื่อให้ร้านค้าขายสินค้าได้ การคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องกับแนวคิดของแบรนด์และมีความเชื่อมโยงร้อยต่อกันได้ในทุกองค์ประกอบของสิ่งที่ลูกค้าเห็น เช่น ขวดบรรจุภัณฑ์ กล่องบรรจุภัณฑ์ และชั้นวางสินค้า เป็นต้น
เติมแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของตำนานในวงการ
วันเดียวกันระหว่างรอประกาศผลการแข่งขัน มีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้คนต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คืองาน Design Talks 2017 ที่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ร่วมกับ นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับภาษาไทย จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณทาคุ ซาโตะ (Taku Satoh) หนึ่งในนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลจากญี่ปุ่น ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบดีๆ มากมาย ทั้งบรรจุภัณฑ์นมสดของ Meiji หมากฝรั่ง Lotte Xylitol ขวดเครื่องดื่ม Calpis ไปจนถึงแคมเปญโฆษณา Pleats Please และ Bao Bao ของ Issey Miyake ตลอดจนร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ด้านการออกแบบในชื่อ 21_21 Design Sight ที่โตเกียว
บรรยากาศของการบรรยายเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง และไม่วิชาการจนเกินไป โดยคุณทาคุเน้นย้ำว่า “ทุกอย่างในชีวิตล้วนแต่เป็นการออกแบบ” ไม่สามารถจัดกลุ่มเป็นศาสตร์แยกจากสิ่งใดได้ พร้อมยกตัวอย่างผลงานของตนที่ทำร่วมกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย ตลอดจนบอกเล่าถึงความสำคัญของการสร้างเรื่องราวให้กับการออกแบบ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ก่อนปิดท้ายด้วยช่วงตอบคำถามจากผู้ร่วมงานที่ต่างอยากฟังทรรศนะของคุณทาคุ เพื่อนำมาปรับใช้กับงานออกแบบของตัวเอง
ผู้ชนะบอกเป็นเสียงเดียว: ได้โอกาสและประสบการณ์
เมื่อถึงช่วงของการประกาศผล น้อง ๆ ผู้เข้ารอบ 12 คนสุดท้าย รวมทั้งเพื่อน ๆ ที่เข้ารอบ 24 คนสุดท้ายที่มาร่วมเอาใจช่วย และผู้เข้าร่วมงานต่างได้ลุ้นไปพร้อม ๆ กัน จนเมื่อการประกาศผลเสร็จสิ้น ก็ได้มีการถ่ายภาพหมู่แห่งความประทับใจของน้อง ๆ ร่วมกับเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข มาลองฟัง 2 ใน 4 ของผู้ชนะเลิศที่ได้รับรางวัล The Best of Challenge พูดถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้
นายนิธิธัช พันธุรังษี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะเลิศจากโจทย์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับซอสภูเขาทอง (ฝาเขียว) เผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลว่า “ดีใจอย่างคาดไม่ถึงเลยครับ เพราะเหตุผลที่ผลมาสมัครเข้าประกวดงานนี้ แค่อยากจะนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้จริงกับงานของบริษัทใหญ่ และอยากเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่ได้รับกลับเหนือความคาดหมายไปมาก นอกจากรางวัลที่ได้แล้ว การเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สำหรับผม เพราะเหมือนได้มาเติมความรู้เรื่องการตลาดกลับไปทำให้งานดีขึ้น และทำให้ผมได้ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นว่าในอนาคตอยากจะเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างแน่นอน”
สำหรับผลงานการออกแบบของนิธิธัช มาในแนวคิด “Mountain of Tastes” หรือภูเขาแห่งความอร่อย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ทำอาหารเองน้อยลง และลบภาพเก่าของผลิตภัณฑ์ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสามารถใช้ทำได้แค่การผัดอาหาร ด้วยการปรับโฉมขวดให้เทใช้งานได้ง่าย มี QR code ข้างขวดให้สามารถติดตามเมนูอาหารหรือแชร์ภาพร่วมสนุกได้ ส่วนรูปลักษณ์ของการออกแบบก็สื่อสารได้เป็นอย่างดีว่าภูเขาแห่งความอร่อยนั้นมาจากนานาเมนูที่ซอสนี้สามารถเพิ่มรสชาติให้ได้ ต่อเนื่องจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าสามารถใช้สื่อสารกับลูกค้าไปในทางเดียวกัน และเพิ่มโอกาสทางการขายได้เป็นอย่างดี
ในอีกมุม นางสาวธนาภรณ์ กุศลมโนมัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากโจทย์ตั้งชื่อแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับเครื่องดื่มน้ำหัวปลี เครื่องดื่มบำรุงสำหรับสตรีเพื่อผลิตน้ำนมให้กับบุตร ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มบริษัทอำพลฟูดส์นั้น เธอตั้งชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า ENMILK for MOM (เอ็นมิลค์ ฟอร์ มัม) ที่สื่อถึงการบำรุงร่างกายของคุณแม่ให้พร้อมกับการให้นมบุตร ขณะเดียวกันบุตรก็จะได้รับสารอาหารที่ดีจากนมแม่เช่นกัน ผสานกับโลโก้ที่พัฒนารูปทรงของหัวปลี อ้อมอกแม่ และหยดน้ำนมเข้าด้วยกันในโทนสีชมพู ขาว ที่มีความสวยงาม แต่ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า เพราะเธอได้ทำการสืบค้นข้อมูลก่อนการออกแบบว่าคุณแม่สมัยใหม่นิยมศึกษาหาข้อมูลของสินค้าที่ตนจะซื้อใช้อย่างละเอียด และต้องการสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือนั่นเอง
ธนาภรณ์เล่าว่าที่เลือกทำโจทย์นี้เพราะเป็นงานเชิงเร้าอารมณ์ (emotional) ที่ตนถนัด และมีความท้าทาย ก่อนกล่าวปิดท้ายว่า “ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่สร้างเวทีนี้ขึ้นมา ถือเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากสำหรับหนู เพราะในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่อย่างเราได้ลองออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับการขายได้จริง และการเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอผลงานบนเวทีที่เสมือนการฝึกให้เราได้โน้มน้าวใจนักลงทุนแบบนี้ก็ตรงกับความสนใจในธุรกิจแนวสตาร์ตอัพของหนูอยู่ด้วยค่ะ”
สุดท้ายนี้ต้องฝากขอบคุณไปยังองค์กรที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ทั้ง เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนและการออกแบบ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับภาษาไทย ผู้เป็นสื่อกลางให้กับวงการนักออกแบบไทย คณะกรรมการ ตลอดจนบริษัทเจ้าของโจทย์ที่ได้ร่วมผนึกกำลังกันฝึกความเป็นมืออาชีพให้น้อง ๆ นิสิตนักศึกษา ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นผลผลิตของน้อง ๆ จากเวทีนี้ที่กลายเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์หน้าใหม่แห่งวงการก็เป็นได้