มติกบง. เปิดเสรีแอลพีจีทั้งระบบครั้งแรก เริ่ม1 ส.ค.นี้
มติกบง. เปิดเสรีแอลพีจีทั้งระบบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เริ่ม1 ส.ค.นี้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2560 โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกรกฎาคม 2560 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 32.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ 355.00 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4544 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.1655 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวลดลง 1.4262 บาท/กก. จาก 15.0491 บาท/กก. เป็น 13.6229 บาท/กก.
ดังนั้นเพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และสำรองไว้ใช้บริหารราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภายหลังจากการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบในอนาคต ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 1.4262 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 1.5469 บาท/กก. เป็นชดเชย 0.1207 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสุทธิอยู่ที่ 131.82 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 39,669 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,448 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,221 ล้านบาท
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว่า ที่ประชุม กบง. เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG พร้อมยกเลิกการกำหนดอัตราเงินส่งเข้าหรือชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากทุกส่วนของการผลิต ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์
แต่ยังคงให้ สนพ. ติดตามและประกาศเฉพาะราคาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ รวมทั้งให้ สนพ. มีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคานำเข้าก๊าซ LPG และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน ซึ่งหากราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังมีมติให้เตรียมนำเสนอ กพช. เพื่อ พิจารณา ให้ ปตท. ดำเนินธุรกิจโครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นสามารถเข้าใช้บริการคลังก๊าซ LIFE ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ของ ปตท. ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่าผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นจะสามารถสร้างหรือขยายคลังก๊าซ LPG นำเข้าแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ให้ ปตท. เปิดเผยข้อกำหนด/กติกาการใช้คลังก๊าซฯ ดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบด้วย และเพื่อส่งเสริมให้มีการจำหน่ายก๊าซ LPG ภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซจะต้องให้ความสำคัญกับการจำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนเป็นลำดับแรก มิใช่เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสำหรับการส่งออกก๊าซ LPG จะต้องขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) โดยจะมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ยกเว้นกรณีที่ก๊าซ LPG นำเข้า เพื่อเป็นการส่งออก (Re-export) เท่านั้น