กสทช.เคาะยกเลิก ลงทะเบียนโอทีที
หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯโอทีที โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.- 8 มิ.ย.2560 รวมกว่า 10 ครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลกิจการโอทีที
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการโอทีทีได้เปิดให้ผู้ประกอบการโครงข่าย หรือแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากกลุ่มแรก 14 รายมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที โดยกำหนดให้ลงทะเบียน 30 วัน หรือภายในวันที่ 22 ก.ค.นี้ พบว่ามีแพลตฟอร์มโอทีทีรายใหญ่ “เฟซบุ๊คและยูทูบ(กูเกิล)” ไม่มีการประสานงานเพื่อลงทะเบียน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าวันที่ 5 ก.ค.60 ที่ผ่านมาพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมวาระลับ เรื่องกำกับดูแล กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที ในการประชุมวาระดังกล่าวเพียงวาระเดียวที่หารือกว่า 3 ชั่วโมง
โดยประธาน กสทช.ได้นำความเห็นเกี่ยวกับความห่วงใยถึงการทำงานในการกำกับดูแลโอทีทีทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ทำให้ที่ประชุม มีมติให้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโอทีที “ยกเลิก”การกำกับโอทีที ที่ทำมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งยกเลิกการลงทะเบียนโอทีทีของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ และยกเลิกเส้นตาย 22 ก.ค.ที่ให้เฟซบุ๊คและยูทูบ ต้องมาลงทะเบียนด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้ พ.อ.นที เร่งจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจการโอทีที มาเสนอบอร์ด กสทช.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำร่างฯหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ตามขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
จากนั้นนำเสนอกลับที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป คาดแล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ต.ค.2560 เพื่อให้เป็นผลงานส่งท้ายของบอร์ดชุดปัจจุบัน
ซึ่งที่ประชุม กสทช. มีความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป การดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศใดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น
ดังนั้นเมื่อกิจการโอทีทีเป็นการดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศไทยจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ดังนั้นไม่ว่ากิจการโอทีทีจะเป็นกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมก็ตาม ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลของกสทช. เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
“เมื่อกิจการโอทีทีเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของกสทช.แล้ว กสทช.จะต้องออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าวโดยหลักเกณฑ์ที่ออกนั้น จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของกสทช. เพื่อมิให้มีข้อโต้แย้งหรือข้อคัดค้านในภายหลังได้"
โดยจะต้องยกร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการโอทีที และนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับนั้นมาวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสีย ตลอดจนผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น และเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกภาคส่วนให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ
แม้ว่า พ.อ.นที ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 10 ครั้ง และประกาศฯ ที่ออกไปน่าจะครอบคลุมและครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เพื่อความรอบคอบ และเป็นการปิดจุดอ่อนทุกจุด ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นในการถูกฟ้องร้อง ในอนาคตได้ บอร์ด กสทช.จึงเห็นชอบให้จัดทำร่างหลักเกณฑ์กำกับโอทีทีใหม่มาบังคับใช้
นอกจากนี้หลังจากมีการยุบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำให้ กสทช.มีสิทธิ์นำเรื่องนี้มาพิจารณา จากแต่เดิมที่เป็นการพิจารณาของ กสท.
นางสาวสายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ บริษัทกูเกิล ( ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กูเกิลกำลังรอดูความชัดเจนด้านกฎเกณฑ์รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางกสทช. ขณะนี้ทางทีมกฎหมายที่ประเทศสิงคโปร์กำลังศึกษา คาดว่าแนวทางรวมถึงท่าทีของบริษัทจะออกมาได้ภายในระยะเวลาที่ทางกสทช.กำหนด
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้การพูดคุยติดต่อประสานงานต่างๆ จะทำผ่านเอไอซีในฐานะตัวแทน เพื่อว่าแนวทางการปฏิบัติที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอให้มองเอไอซีว่าเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการ ไม่ใช่ล็อบบี้ยิสต์
สำหรับประเด็นเรื่องการเสียภาษี ยืนยันว่ากูเกิลได้จ่ายทุกอย่างตามที่กฎหมายไทยกำหนด และหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องศึกษาว่าเปลี่ยนอย่างไร มีการเก็บส่วนไหนเพิ่มเติม หลังจากนี้คงต้องมีการพูดคุยกัน
ด้านนายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่าการใช้จ่ายโฆษณาบนแพลตฟอร์มยูทูบนั้นมาจากหลากหลายช่องทาง และส่วนใหญ่จะซื้อผ่านตัวแทน บทบาทของสำนักงานกูเกิลประเทศไทยคือการขายและการตลาด ไม่ได้รับผิดชอบด้านการเก็บรายได้