ปภ.นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดการสาธารณภัย รองรับไทยแลนด์ 4.0
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ โดยจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการบริหารจัดการสาธารณภัย สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการอำนวยการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ การจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (E – Volunteer) ซึ่งจะทำให้การสั่งการ สั่งใช้ และสนธิกำลังในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยสอดคล้องกับศักยภาพของอาสาสมัครฯ การจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการสิ่งของสำรองจ่าย (E - Stock)
ส่งผลให้การสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “DPM Reporter” และการนำโปรแกรม Line มาใช้ เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบการประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ณ จุดเดียว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถือเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ดังนี้ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการบริหารจัดการสาธารณภัย เป็นการนำข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) มาบูรณาการอย่างเป็นระบบ พร้อมวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย เพื่อจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย (Risk Map) และแผนที่สาธารณภัย (Multi-Hazard Map) ที่สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ประสบภัยได้อย่างแม่นยำ รวมถึงเป็นข้อมูล ในการเตรียมพร้อม รับมือ และสนับสนุนให้ผู้บริหารใช้ประกอบการอำนวยการ สั่งการ แก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (E – Volunteer)
โดยจัดทำฐานข้อมูลอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ที่สามารถระบุจำนวน ความเชี่ยวชาญ และพื้นที่ปฏิบัติงานของ อปพร. เพื่อใช้ในการสั่งการ สั่งใช้ และสนธิกำลังในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้สอดคล้องกับศักยภาพของ อปพร. ในพื้นที่ อีกทั้งใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถของ อปพร. ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ อปพร. ในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความคล่องตัว ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการสิ่งของสำรองจ่าย (E - Stock) เป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิ่งของสำรองจ่ายกับคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบ จัดหา เก็บสำรอง และแจกจ่ายสิ่งของสำรองจ่ายเป็นระบบ พร้อมแสดงข้อมูลการประกาศเขตพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินและการประกาศสิ้นสุดภัย และวิเคราะห์เปรียบเทียบช่วงเวลาการเกิดภัย ส่งผลให้สามารถสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วคลอบคลุมทุกพื้นที่ สอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อน และความจำเป็นในการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานของผู้ประสบภัย การพัฒนาแอปพลิเคชั่น “DPM Reporter” ในการให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน ในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชั่น
โดยแสดงข้อมูลด้านสาธารณภัยที่ครอบคลุมทุกด้านแบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมีช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยที่ทันต่อเหตุการณ์ ส่งผลให้สามารถนำไปใช้ในการวางแผน เตรียมพร้อมรับมือ และแก้ไขปัญหาด้านสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้โปรแกรม Line เพิ่มช่องทางสื่อสารข้อมูลด้านสาธารณภัย โดยเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณภัยระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการรายงานสถานการณ์ภัย รวมถึงแจ้งเตือนภัยแก่หน่วยงานในระดับพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยได้อย่างทันท่วงที สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงระบบการประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ณ จุดเดียว (National Single Window : NSW) โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้สามารถติดตาม (Tracking) การจัดเก็บสิ่งของสำรองจ่ายในคลังสำรองทรัพยากร (Stockpiling)
รวมถึงการจัดสรร การแจกจ่ายสิ่งของ พร้อมปรับปรุงและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงครอบคลุมการจัดการการให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัย เพื่อให้การอำนวยการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัยของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกลไกการบริหารจัดการสาธารณภัยที่เป็นระบบตามมาตรฐานสากล สอดรับกับนโยบาย “Thailand 4.0” ของรัฐบาล