คนท้องถิ่นเมินแผนน้ำท่วมรัฐ ผนึกกำลังรับมือวิกฤตใหม่
นับวันปัญหาภัยพิบัติยิ่งรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐยังคงนั่งประชุม ขีดเส้นบนแผนที่กำหนดพื้นที่รับน้ำฯ แต่คนท้องถิ่นมิอาจรั้งรอ สรุปบทเรียนจากบาดแผลปีที่ผ่านมา สร้างเครือข่ายทำแผนด้วยตัวเองพร้อมรับทุกสถานการณ์ร้ายแรง ติดตามจากรายงาน
27 จังหวัด 274 อำเภอ 2,256 ตำบล 916,628 ครัวเรือน 2,978,991 คน เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน พื้นที่การเกษตรกว่า 10,023,824 ไร่ได้รับความเสียหาย นั่นคือข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ปีที่ผ่านมาที่หลายคนคงได้รับรู้เพราะเป็นข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทุกแขนง แม้รัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น แต่ปัญหาหนี้สินที่โถมทับทวี สภาพจิตใจของผู้สูญเสีย ฝันร้ายต่อมหาอุทกภัยที่คอยหลอกหลอนที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ ยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขเยียวยาให้ทุเลาเบาบางลง
บทเรียนปีที่ผ่านมาแม้ภาครัฐอาจจะปฏิเสธถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการ แต่สายตาผู้ประสบภัยยังคงมองด้วยความคลางแคลงใจ อภิมหาโครงการในแผนแก้น้ำท่วมจะต้านทานรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ฤดูฝนกำลังจะเดินทางมาถึงในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ชาวบ้านในพื้นที่มิอาจงอมืองอเท้านั่งรอความวิบัติมาเยือนถึงกระไดบ้านอีกต่อไป
เหตุนี้ในเวทีฟื้นพลังชุมชนสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่2 ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงร่วมกันสรุปบทเรียน หาแนวทางแก้ไข ทำแผนการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังของชุมชน
ผอ.ภาคสนามแม่ฟ้าหลวงชี้พลังสังคมฟื้นฟูชุมชนยั่งยืน
ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดประเด็นด้วยการสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ทางรอดของชุมชนที่รัฐบาลไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วม นั่นคือชาวบ้านผู้ประสบภัยเขาแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และหลังจากก้าวข้ามวิกฤติมาได้การนำพลังสังคมที่หายไปกลับคืนมา เป็นเรื่องต้องเร่งทำ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหาร มีการพลิกฟื้นพันธุ์พืชที่เหมาะสมในการเพาะปลูกแต่ละพื้นที่ จัดการเรื่องดิน น้ำ ป่า ให้มั่นคง เมื่อมีความมั่นคงทางทรัพยากร ความเข้มแข็งทางสังคมชุมชนก็จะตามมา นับจากนี้ต้องมองย้อนหลัง ตั้งสติ ศึกษาอดีต เรียนรู้ภูมิปัญญาที่จะฟื้นฟูชีวิตก่อนวิกฤติลูกใหม่จะมาถึง
“กุญแจสำคัญชาวบ้านต้องรู้สาเหตุของปัญหา รู้ตนเองว่ามีความสามารถมีภูมิปัญญา รู้คิดในสิ่งใหม่เพื่อรับมือในสิ่งที่เกิดขึ้น มีการจัดการเรื่องที่ดินเรื่องน้ำอย่างจริงจัง ทำเป็นแผนออกมาให้ชัดเจนไม่ต้องรอแผนรัฐบาล สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดพลังชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคตก็จะสามารถรับมือได้” ผอ.ภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าว
อปท.-สภาฯชุมชนชี้ท้องถิ่นพร้อมรับมือภัยพิบัติระลอกใหม่
พฤกษ์ พัฒโน รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า เดิมทีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทำด้วยวิธีแข็งกระด้าง น้ำมาก็สร้างเขื่อนกั้น น้ำไม่มีที่ไปก็ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ต่ำทุกวันนี้ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ใช้ความคิดมากขึ้น ใช้เครือข่ายมากขึ้น ที่หาดใหญ่ก่อนน้ำมาเราใช้เครือข่ายลงพื้นที่ติดตั้งจุดวัดน้ำ มีกล้องวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงมีการขึ้นธงเขียว ธงเหลือง ธงแดงตามลำคลองบอกระดับอันตรายของน้ำและมีการส่งSMSแจ้งข่าวไปยังคนในชุมชนบอกผ่านตัววิ่งตู้ไฟ การเฝ้าระวังในชุมชนก็มีการทำข้อมูลเด็ก ผู้หญิง คนชรา จัดให้มีบ้านพี่เลี้ยงในพื้นที่ที่ปลอดภัยรองรับคนอพยพ ใช้ความร่วมมือกับภาครัฐ เอ็นจีโอ สร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น ถ้าน้ำมาอีกปีนี้พร้อมรับมือแน่นอน
ร.ท.บุญชอบ สมัครวงศ์ สภาองค์กรชุมชนบางกระบือ จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า สิงห์บุรีน้ำท่วมทุกปี ชาวบ้านสู้ทุกปี เราหนีภัยน้ำไม่ได้ จะทำอย่างไรจะอยู่กับน้ำด้วยความสุข สวัสดิภาพคนในชุมชนสำคัญจึงนำเด็กและเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ทางน้ำ ฝึกสร้างอุปกรณ์กู้ภัย ฝึกการทำเรือ ฝึกพายเรือ ฝึกประกอบแพ ฝึกดำน้ำ ทำให้เขาตื่นตัวในการรับมือภัยพิบัติ เมื่อปีที่ผ่านมาบางกระบือไม่มีคนจมน้ำตาย อีกทั้งเยาวชนที่ผ่านการฝึกยังเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชาวบ้านในยามเดือดร้อนได้อีกด้วย
โสภณ พรหมแก้ว นายกอบต.ขุนทะเล อ.ลานสกา จ. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การเตรียมรับมือในพื้นที่ขุนทะเลมีการทำที่วัดน้ำฝน ทำให้บอกกับชาวบ้านได้ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกเป็นยังไงคนทั้ง 12 หมู่บ้าน รับทราบข้อมูลข่าวสารพร้อมกัน ด้วยการแจ้งเตือนผ่านเสียงตามสาย มีอปพร. อสม. สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ชาวบ้าน อาสาสมัครเป็นกลไกขับเคลื่อน มีการสื่อสารกับอาสาสมัครที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านเป็นระยะ สิ่งที่มั่นใจคือเรามีข้อมูลในแต่ละพื้นที่ชัดเจน โดยมีหลักการคือให้ชุมชนจัดการกันเอง นำความคิดมาแชร์กันก็จะเกิดองค์ความรู้ ถึงแม้เราไม่ชนะแต่เราก็อยู่ได้โดยไม่สูญเสีย
บทเรียนและก้าวต่อไปรับมือภัยพิบัติอย่าหวังพึ่งรัฐบาล
รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า บทเรียนและก้าวต่อไปของพลังสังคมกับการรับมือภัยพิบัติ ปัญหาสอนให้รู้ว่าการแก้ปัญหาจะได้ผลต้องสร้างเครือข่ายชุมชนต้องทำงานกันเอง โดยให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่งอมืองอเท้ารอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว เราต้องช่วยเหลือตนเองจึงจะอยู่รอด สิ่งที่ต้องวางแผนเมื่อน้ำมา ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ ประชาชนต้องพึ่งตนเอง พึ่งชุมชน อย่าหวังพึ่งแต่รัฐบาลอย่างเดียว
วรรธนะ รุจิโรจน์สกุล กลุ่มรู้สู้Flood กล่าวถึงแนวทางการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยแก้ผู้ประสบภัยว่า ช่วงก่อนน้ำเข้ากรุงเทพฯการสื่อสารข้อมูลสับสน บางทีเราต้องข้อมูลร้ายแรงก่อนเพื่อให้คนเตรียมรับมือ ไม่ใช่บอกข้อมูลในระดับต่ำทำให้คนชะล่าใจ บอกว่าเอาอยู่แต่เอาไม่อยู่ ผมเข้ามาทำระบบข้อมูลข่าวสารบอกกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น ย่อยข้อมูลยากๆให้คนเข้าใจได้ง่าย แจ้งเตือนให้คนเข้าใจว่ากำลังเผชิญกับอะไรและจะเตรียมรับมืออย่างไร ถ้าน้ำมาจะอยู่กับมันอย่างไร ถ้าจะอพยพๆอย่างไรให้ปลอดภัย
อิทธิพล ฟ้าแลบ อาสาสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะคนรุ่นใหม่มองปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาว่า การเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัคร มองเห็นการเชื่อมร้อยเครือข่าวผู้ประสบภัยที่แข็งแกร่ง ในอนาคตการทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยให้การรับมือวิกฤติมีประสิทธิภาพ ปัญหาทุกอย่างเป็นองค์รวม อย่าทำงานแบบแยกส่วนเหมือนราชการ บทเรียนสอนให้เรารู้ว่า ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของคนในชุมชนจะทำให้เราฝ่าวิกฤติไปได้
..............................................
หลากหลายมุมมอง มากมายประสบการณ์ของผู้ที่เป็นเสมือนปราการด่านแรกที่ต้องประสบภัยเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง “เอาอยู่หรือไม่อยู่” ชาวบ้านในพื้นที่รู้ดีกว่าใครทั้งสิ้น แนวทางและข้อเสนอแนะแม้อาจดูเล็กน้อยตื้นเขินในสายตานักการเมือง แต่ประสบการณ์ ภูมิปัญญา พลังเครือข่ายที่แนบแน่นไปด้วยความเข้าใจในบริบทแห่งปัญหา ถึงแม้รัฐบาล “ไม่อยากเอา”แต่ไม่ควรมองข้ามเสียทีเดียว.
...................................................
ล้อมกรอบ
9 ข้อเสนอเชิงนโยบายหนุนชุมชนจัดการภัยพิบัติ
เชวง สมพังกาญจน์ นายกอบต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายสาธารณะประเด็นชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการภัยพิบัติ 9 ข้อได้แก่ 1.ให้รัฐสนับสนุนและสร้างอาสาสมัครการจัดการภัยพิบัติ 2.จัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติประจำตำบลจัดให้มีเครื่องมือในการจัดการภัยพิบัติ 3.จัดทำแผนที่จัดการภัยพิบัติประจำตำบลที่ประกอบด้วยแผนที่ด้านภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ให้เข้าใจง่ายนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง 4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อมีภัยเกิดขึ้น 5.จัดตั้งกองทุนจัดการประจำตำบลโดยให้ส่วนราชการเข้ามาสนับสนุน 6.จัดทำฐานข้อมูลชุมชนและข้อมูล ประชากรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 7.จัดทำคู่มือการจัดการภัยพิบัติ เผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือทันท่วงที 8.จัดตั้งสถานีเตือนภัยในพื้นที่ 9.จัดตั้งเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติระดับภาค