คลิปพลทหารอนาจารสาวมุสลิม กับความจริงของสังคมชายแดนใต้
"เรื่องที่เกิดขึ้นทุกเรื่องในภาคใต้กองทัพบกไม่เคยนิ่งนอนใจ และได้นำบทเรียนต่างๆ มาแก้ไข ไม่ว่าจะเกิดคดีความเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ ซึ่งผมจะลงโทษผู้บังคับหน่วยว่าไม่ได้กวดขันเข้มงวดกำลังพลเท่าที่ควร ก็อยากจะขอโทษแทนในส่วนของกองทัพบกและ กอ.รมน.ด้วย"
เป็นคำขอโทษประวัติศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อกรณีอื้อฉาวพลทหารประจำการสังกัดหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 กระทำอนาจารสาวมุสลิมปัตตานีวัยแค่ 16 ปี และถ่ายคลิปวิดีโอเอาไว้
เรื่องฉาวคาวโลกีย์ระหว่างกำลังพลของกองทัพกับหญิงสาวมุสลิมที่ชายแดนใต้รายนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเรื่องราวทำท่าจะจบลงเงียบๆ ด้วยการเจรจาตกลงกันทั้งสองฝ่ายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของเด็กสาว ทว่าหลังจากนั้นคลิปกลับถูกเผยแพร่ออกมา จนครอบครัวฝ่ายหญิงต้องแจ้งความดำเนินคดี
ปัจจุบันพลทหารที่เกี่ยวข้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานีเพื่อรอผลการสอบสวนทางวินัย และการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาของครอบครัวฝ่ายหญิงซึ่งแจ้งข้อหาหนัก 3 ข้อหา
อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่เรื่องราว "รักระหว่างรบ" ของทหารหนุ่มกับเด็กสาวมุสลิมในพื้นที่เป็นประเด็นโจษขานกันมานาน หลายคู่แต่งงานอยู่กินกันถูกต้องตามประเพณี ขณะที่อีกหลายๆ คู่ต้องเลิกร้างและจบลงด้วยน้ำตา...
ยิ่งไปกว่านั้น นิยายรักกลางไฟสงครามที่ชายแดนใต้ซึ่งฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงเกือบร้อยทั้งร้อยมีความแตกต่างทั้งทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวตอกย้ำความขัดแย้งและเคียดแค้นชิงชังที่คนจำนวนหนึ่งมีต่อทหารหาญ ส่งผลให้ภารกิจสร้างสันติสุขแปรเปลี่ยนไปเป็นดั่งพายุที่โหมไฟใต้ให้ยิ่งคุโชน
จากการสำรวจปัญหาชู้สาวระหว่างทหารหนุ่มกับสาวมุสลิม พบรูปแบบความสัมพันธ์อย่างน้อย 4 แบบ กล่าวคือ
1.คบกันและมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวเป็นครั้งคราวตามประสาหนุ่มสาว เมื่อฝ่ายชายเสร็จสิ้นภารกิจในพื้นที่ก็เลิกรากันไป
2.คบกันและอยู่กินกันอย่างจริงจังโดยที่ครอบครัวฝ่ายหญิงรับรู้ มีทั้งที่อยู่สร้างครอบครัวกับหญิงคนรักในพื้นที่ และหอบผ้าหนีตามไปยังภูมิลำเนาของฝ่ายชาย
3.ทหารไปมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงมุสลิมที่มีสามีอยู่แล้ว หากเป็นรูปแบบนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงจะยอมหนีตามฝ่ายชายไป แม้ฝ่ายชายจะมีครอบครัวอยู่แล้ว ก็ยอมไปเป็น "ภรรยาน้อย" เพราะทนรับแรงกดดันของสังคมชายแดนใต้ไม่ไหว
4.ทหารหนุ่มกับหญิงสาวมีสัมพันธ์กันแล้วเกิดตั้งครรภ์นอกสมรส และจบลงด้วยการทำแท้ง
ทหารรับห้ามยากแม้มี "กฎเหล็ก"
พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ นายทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ทหารหนุ่มกับสาวมุสลิมที่มีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันหรือคบหากันแบบคนรักมีมากนับพันคู่ เพราะทหารลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ 7-8 ปีแล้ว ส่วนตัวเคยถูกถามเรื่องนี้บนเวทีสัมมนาแห่งหนึ่ง และมีการนำไปเขียนข่าวทำนองว่าแค่ปีเดียวมีหญิงมุสลิมหนีตามทหารไปนับพันคน ซึ่งไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่พูดจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องของการคบหากัน และทหารก็สลับกันลงไปปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องหลายปี ก็ย่อมต้องมีหลายคนที่รักชอบพอกัน รวมๆ แล้วอาจจะเป็นพันคู่ แต่ไม่ใช่หนีตามกันเป็นพัน
ที่ผ่านมาแม้ผู้บังคับบัญชาจะมีกฎเหล็กห้ามในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงห้ามยาก เพราะเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวที่มีใจผูกพันกัน บทบาทของกองทัพในขณะนี้จึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการให้ผู้ที่คบหากันไปแล้วต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามประเพณี ทั้งเปลี่ยนศาสนาและจัดงานวิวาห์ให้ครอบครัวฝ่ายหญิงสบายใจ แต่ยืนยันว่ากฎเหล็กยังคงอยู่ และได้กำชับให้ผู้บังคับหน่วยทุกนายเข้มงวดกวดขันกำลังพลในสังกัดให้ดีที่สุด
ชี้เป็นชนวนโหมไฟความรุนแรง
ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารระดับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ผบ.ฉก.) ยอมรับว่า ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างทหารกับหญิงมุสลิมสร้างปัญหาตามมามาก และส่งผลกับสถานการณ์ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไปมีอะไรกับหญิงที่มีสามีแล้ว จะเป็นการสร้างความเคียดแค้นชิงชังให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง เหตุรุนแรงหลายๆ ครั้งที่กระทำต่อทหาร และมีการตัดอวัยวะเพศ หรือกระทำทารุณกับศพ บางส่วนจะเป็นกำลังพลที่ไปกระทำผิดในรูปแบบนี้
ส่วนกำลังพลที่ยอมแต่งงานอยู่กินกันอย่างถูกต้องก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะอยู่กันไม่ยืด เนื่องจากวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก สุดท้ายจึงมักเลิกรากันไป หรือไม่ฝ่ายชายก็ถูกลอบยิงลอบทำร้าย เพราะฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบก็นำไปสร้างเงื่อนไขว่าทหารไทยพุทธล่วงละเมิดหญิงสาวมุสลิม กลายเป็นประเด็นก่อความรุนแรง ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสมยอม มีจำนวนน้อยมากที่เป็นการขืนใจ และก็มักจะถูกแจ้งความดำเนินคดีแทบทุกกรณี
ปมศาสนาสุดอ่อนไหว-บางรายเข้าข่ายล่อลวง
ประเด็นอ่อนไหวทางศาสนาและวัฒนธรรม ได้รับการยืนยันจาก นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาว่า สิ่งที่คนในพื้นที่รู้สึกไม่สบายใจ คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายชายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครอง ยอมรับอิสลามเพียงเพื่อต้องการไปแต่งงานกับลูกสาวชาวบ้านที่เป็นมุสลิม เพราะไม่ใช่การยอมรับด้วยศรัทธาจริงๆ เมื่อแต่งงานกันไปแล้ว อยู่กินได้สักระยะหนึ่งก็เลิกรากันไป ลักษณะอย่างนี้เข้าข่ายเป็นการหลอกลวง ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
แต่กระนั้น ผู้นำศาสนารายนี้ก็ยอมรับว่า เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวจะโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ แต่เป็นเพราะสภาพสังคมที่ชายแดนใต้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
คนเปลี่ยน-สังคมเปลี่ยน
สอดรับกับ นายอับดุลเลาะ มะ ปราชญ์ชาวบ้านจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่บอกว่า ปัญหามีอยู่ว่ามีกี่คนที่มานั่งคิดเรื่องแบบนี้ เพราะไม่ใช่เฉพาะเด็กสาวๆ ที่มีพฤติกรรมไม่ดี แต่แม้แต่ผู้หญิงที่มีสามีแล้วก็ยังทำ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไป ทุกคนมองว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ลูกเธอ ไม่ใช่ลูกฉัน ทั้งๆ ที่สังคมอิสลามทุกคนเป็นพี่น้องกัน ต้องช่วยกันดูแล
"ปัญหานี้ต้องแก้ที่ผู้นำในท้องถิ่น ทั้งผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. ที่สำคัญต้องแก้เรื่องยาเสพติด เมื่อผู้นำไม่เข้มแข็ง ยาเสพติดก็มาก พอยาเสพติดมาก เยาวชนก็ถูกมอมเมา" ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าว
ยาเสพติดกับสังคมฟอนเฟะ
นายก อบต.รายหนึ่ง ให้ข้อมูลเสริมว่า กรณีคลิปฉาวแม้จะเป็นปัญหา แต่ก็เป็นปลายเหตุแล้ว เพราะต้นตอของปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องชายหญิงมีอะไรกันโดยไม่ได้แต่งงาน แต่ต้นตอคือสภาพสังคมในพื้นที่ที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มียาเสพติดระบาดอย่างหนัก ซึ่งยาเสพติดนี้ก็โยงไปทุกฝ่าย ทั้งผู้มีอิทธิพล ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทุกฝ่ายก็เอื้อกันอยู่
"ปัญหาทั้งหมดมันเกี่ยวโยงกัน เริ่มจากผู้นำในพื้นที่ไม่ลงรอยกัน ต่างคนต่างมองประโยชน์ที่จะเข้าหาตัวเอง จากนั้นยาเสพติดก็เข้ามา กลุ่มเด็กชายวัยรุ่นติดยาอย่างหนัก เนื้อตัวผมเผ้าดูไม่ได้ เด็กสาวที่ไหนจะไปมอง ขณะที่ทหารที่เข้ามาประจำการในพื้นที่ เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน หน้าตาใช้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะทหาร แต่มีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจด้วย"
"แรกๆ ก็คุยกัน นานๆ เข้าก็นัดกินข้าว แล้วก็เกินเลยมีอะไรกันโดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่จะตามมา เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะกับเด็กสาวๆ เท่านั้น แต่คนที่มีอายุเยอะๆ ก็มี สามีตัวเองนั่งร้านน้ำชา ไม่ทำงานอะไร มีข้าราชการระดับปลัดหรือระดับผู้บังคับบัญชาของทหารมาชอบ ใครบ้างจะไม่คิดอะไร"
ต้องเริ่มแก้ที่ "ผู้นำ" อย่าโทษทหารฝ่ายเดียว
นายก อบต.คนเดิม ชี้ว่า การแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่ผู้นำในพื้นที่ แก้เรื่องการศึกษา และการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชน คนที่จะเข้าไปเป็นผู้นำในท้องถิ่นต้องเข้าอบรมก่อน เพื่อให้รู้จักการบริหารโดยใช้ธรรมาภิบาล ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยฝ่ายปกครองต้องเข้ามามีบทบาทด้วย
"ถ้าผู้นำสี่เสาหลักในพื้นที่มีจุดร่วมเดียวกันได้ ทั้งยาเสพติดและปัญหาก่อความไม่สงบก็จะหายไป ไม่ต้องทำอะไรมากกับกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะกลุ่มนี้ที่อ้างว่าทำเพื่ออุดมการณ์ แต่จริงๆ แล้วจุดร่วมของเขาคือผลประโยชน์ จะเห็นได้ว่ายาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ กลุ่มขบวนการก็เห็น รับรู้ และใช้คนชุดเดียวกันไปทำงานก่อเหตุ มันก็เข้าทาง เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านยังคิดเองไม่เป็น เขาก็ยังได้เปรียบอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ชาวบ้านมีความรู้ มีการศึกษา คนพวกนี้จะอยู่ในสังคมไม่ได้" นายก อบต.ในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าว และย้ำว่า ทั้งหมดเป็นปัญหาของคนในพื้นที่ ฉะนั้นคนในพื้นที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หากไม่คิดแก้ ก็ไม่มีทางที่ปัญหาจะจบ
ขณะที่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งใน จ.ยะลา เห็นตรงกันว่า ต้นเหตุของปัญหาจริงๆ คือชุมชนไม่เข้มแข็งพอ อ่อนไปทุกเรื่อง ผู้นำทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. อิหม่าม ต่างคนต่างมองว่าไม่ใช่เรื่องของตนเอง ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องของทุกคน ปัญหาที่นี่หลายเรื่องเกิดขึ้นเพราะผู้นำไปเล่นการเมือง ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนถึงจะเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าไม่เกิดเรื่องก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ปล่อยให้ลูกบ้านใช้ชีวิตไปวันๆ ผิดบ้างถูกบ้าง ปัญหานี้ต้องโทษผู้นำ ไม่ใช่ไปโทษทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว
ครูยึดมือถือนักเรียนเจอภาพอนาจารเพียบ
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ให้ข้อมูลอีกด้านว่า เคยคุยกับครูในพื้นที่ ครูเล่าให้ฟังว่าเคยยึดโทรศัพท์มือถือของนักเรียน เมื่อนำมาดูปรากฏว่าเจอภาพอนาจารเก็บไว้เยอะเลย จริงๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่บางส่วนของสังคมไม่ยอมรับความจริง
"เคยคุยกับเด็กผู้หญิงวัยรุ่นในพื้นที่ เด็กมีความรู้สึกว่าเด็กผู้ชายในชุมชนในท้องถิ่นไม่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่จะพูดเลยว่าไม่ขยัน ติดยา อะไรเหล่านี้ เด็กจึงมองไปที่ทหาร เพราะเห็นมีเครื่องแบบ มีการมีงานทำดี มีงานประจำทำ เด็กจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่มั่นคงกว่า ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดูอีกว่าผู้หญิงมีทางเลือกแค่ไหน บางทีเราไปมองว่าผู้หญิงมีทางเลือก คือต้องแต่งงานกับคนมุสลิมอย่างเดียว แต่วันนี้สิ่งที่พบคือวิธีคิดของเด็กผู้หญิงเปลี่ยนไป เด็กไม่ได้คิดว่าต้องมีสามีที่เป็นอิสลาม เด็กจะมองไปที่คนที่เขารู้สึกว่าเขาพึ่งพาได้ มีงานทำที่ดี ยิ่งรับราชการยิ่งดี ฉะนั้นถ้าต้องการให้เด็กมีคู่ครองที่เป็นมุสลิม เด็กผู้ชายมุสลิมก็ต้องทำตัวให้มีคุณภาพด้วย"
เมื่อ "ครอบครัว" ไม่พร้อมสร้าง "ภูมิคุ้มกัน"
นางอังคณา กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องถูกต้องที่อิสลามไม่เห็นด้วยกับการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส แต่ก็ต้องมีวิธีคุ้มครองคุ้มกันให้กับเด็กด้วย เพราะเท่าที่สังเกตเห็นจากการลงไปทำงานในพื้นที่ ยังไม่มีกลไกอะไรที่จะคุ้มครองดูแลเด็กในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อได้ โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งน่าจะเป็นที่พึ่งสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กที่สุด
"เวลาลงพื้นที่ตามบ้านจะพบว่าเด็กมีปัญหาทางบ้านสูง เช่น พ่อมีภรรยาหลายคน ลูกก็หลายคน คนเป็นแม่เองก็รับภาระหนัก ต้องดูแลลูกเอง ทำมาหาเลี้ยงชีพเอง ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียว มันต้องย้อนกลับไปดูว่าตามหลักการอิสลาม แม้อนุญาตให้มีภรรยาได้ 4 คน แต่สามีต้องรับผิดชอบ ต้องเลี้ยงดู ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่ว่านึกอยากจะมีก็มี ปัญหาเรื่องคลิปเป็นแค่ปัญหาปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกๆ ของเราเอง ทำอย่างไรถึงจะสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ทำอย่างไรลูกจะรู้จักรักษาเนื้อรักษาตัว รู้จักศักดิ์ศรีของตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองหรือจากครูที่สอนตามโรงเรียน แต่ต้องได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว เพราะพื้นฐานของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกก็น่าเป็นห่วง"
"เด็กหลายคนเคยสะท้อนให้ฟังว่า พ่อมีหลายบ้าน บางทีพ่อไม่กลับบ้าน บางทีเด็กต้องการใครสักคนหรือเปล่า บางทีโตมากับแม่ เด็กหลายคนอยากมีครอบครัว แต่ไม่อยากให้เหมือนพ่อ เพราะพ่อมีหลายบ้าน ไม่มีเวลาดูแลแม่ เด็กก็เลยอยากมีครอบครัวที่ไม่อยากให้เป็นเหมือนแม่ เพราะบางทีสิ่งที่แม่ทำได้คือเอาเงินตั้งไว้บนโต๊ะให้ลูกเท่านั้น" นางอังคณา กล่าวในที่สุด
แม้กรณีคลิปฉาวจะเป็นเรื่องเลวร้ายอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เรื่องร้ายเรื่องนี้ก็ได้สะท้อนความจริงในอีกหลากหลายแง่มุมที่เป็นปัญหาสังคม ณ ดินแดนปลายด้ามขวานเช่นกัน...
และเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป!