ชาวมาบตาพุดค้าน 11 โครงการสั่งรัฐทำใหม่ ดึง สช. - คกก.สิทธิร่วม
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยื่นข้อเสนอรัฐจัดทำประเภทโครงการรุนแรงใหม่ ยึด 18 ประเภทของคกก. 4 ฝ่ายเป็นหลัก พร้อมเพิ่มพื้นที่เปราะบาง-มลพิษด้วย ดึง สช.-คณะกรรมการสิทธิฯ-องค์การอิสระเฉพาะกาลร่วมทำภายใน 3 เดือน ด้านตัวแทนชาวบ้านชี้มาตรการเยียวยาไม่เป็นรูปธรรมยังเดือดร้อนสะสม
จากการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 ส.ค. เห็นชอบให้ประกาศประเภทโครงฯรุนแรง จำนวน 11 รายการ วันนี้ (31 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จ.ระยองกว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคัดค้านการออกประกาศ 11 ประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้แทนรับหนังสือ
นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายฯและองค์กรภาคีไม่เห็นด้วย เนื่องจากการพิจารณาดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีเหตุผลทางวิชาการและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่นำเอามติของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขมาบตาพุดที่เสนอไว้ 18 โครงการมาพิจารณาทั้งที่ประมวลจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ
“เราคิดว่า 18 โครงการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอค่อนข้างเหมาะสมและพอรับได้ แต่ 11 โครงการนี้มันเปิดช่องให้โครงการอีกจำนวนมากหลุดออกไป วันนี้เรามายื่นหนังสือก่อน แต่ถ้าไม่คืบหน้าอย่างไรคงต้องฟ้องศาลปกครองต่อไป”
ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนี้ 1.ให้ดำเนินการจัดทำประกาศโครงการรุนแรงฯ ใหม่ให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชน 2.เปิดกว้างให้สถาบันวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเหตุผลประกอบในการกำหนดประเภทโครงการรุนแรงฯ เพราะที่ผ่านมายังไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ตรงกัน ยึดถือหลักวิชาการและเหตุทางเทคนิคด้านวิศวกรรมมากกว่าสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย 3.กระบวนการรับฟังความเห็นยังขาดการให้ความรู้แก่ประชาชนและยังพบว่าภคอุตสาหกรรมได้จัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเข้าไปร่วมเวที ข้อมูลที่ได้จึงไม่ทั่วถึง ครบถ้วนรอบด้าน
4.ให้ระบุโครงการหรือกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เปราะบาง เช่น พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ เป็นโครงการฯรุนแรง ไม่ว่าโครงการนั้นจะเข้าข่ายหรือไม่ โดยจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 5.ให้มีการปรับเพิ่มรายชื่อโครงการรุนแรงฯทุก 2 ปี 6.จัดทำประเภทโครงการรุนแรงใหม่ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกับคณะกรรมการสิทธิชุมชนแห่งชาติและองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล) เป็นผู้จัดทำเสนอต่อรัฐบาลภายใน 3 เดือน และ 7.องค์กรที่จะมีอำนาจในการประกาศประเภทโครงการรุนแรงฯ ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจของหน่วยงานใด จึงสมควรจัดให้มีการตีความให้ชัดเจนเสียก่อนมีการประกาศ
นายสุทธิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่มาบตาพุดว่า ยังไม่ดีขึ้นเพราะรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาระยะยาว เช่น การสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ได้เพียงตัวอาคาร, ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพที่ยังไม่มีบุคลากร, การทำน้ำประปาให้ครอบคลุมเพื่อลดปัญหาน้ำบ่อตื้นที่ใช้ไม่ได้หรือการจัดการขยะเป็นพิษ โดยภาพรวมยังติดขัดและไม่ค่อยเดินหน้า
“คนในพื้นที่ยังประสบกับปัญหาก๊าซพิษรั่วซึมบ่อยครั้งเพราะรัฐพูดเฉพาะการแก้ระยะยาวไม่ได้พูดถึงการแก้ที่แหล่งกำเนิดหรือการจัดการมลพิษ เรายังไม่เห็นอะไรที่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ สิ่งที่เห็นในวันพิพากษา 2 ก.ย.นี้คือการยืนตามคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครองสูงสุด เชื่อว่าหากเป็นเช่นนั้นทุกอย่างจะคลี่คลายได้หมด แต่หากมีการยกฟ้องชาวบ้านมาบตาพุดคงต้องเหนื่อยต่อ”
นายน้อย ใจตั้ง ชาวมาบตาพุด กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงประสบความเดือดร้อนทุกด้าน ทั้งอากาศเสีย การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ล่าสุดสาธารณะสุขจังหวัดเพิ่งสั่งปิดบ่อเพิ่มอีก 3 บ่อ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ เห็นว่าการประกาศดังกล่าวจะทำให้โครงการใหญ่ๆ อีกมหาศาลหลุดลอดไปได้ ผลเสียสุดท้ายจะตกอยู่ที่ชาวบ้าน
“ใครๆ พูดถึงมาตรการเยียวยาก็รู้สึกดี แต่คนที่ได้รับการเยียวยาดูแลดีๆ มีแต่กลุ่มที่ถูกนายทุนซื้อให้ถอนฟ้อง คนส่วนมากไม่เคยได้รับการเหลียวแล ดูง่ายๆ เด็กที่มาต่อสู้กับลุงทุกครั้ง วันนี้มาไม่ได้แล้วป่วยเป็นมะเร็งนอนอยู่โรงพยาบาล เราคาดหวังว่าเขาจะประกาศใหม่และศาลตัดสินให้เราไม่ต้องจมทุกข์แบบนี้”
นายธงไชย พรมนาค เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบซ้ำซาก หนักที่สุดคือกลิ่นเหม็นจากโรงงานอุตสาหกรรมและการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากการปนเปื้อนสารหนู ปรอท และแคดเมียม โดยเฉพาะในน้ำบ่อตื้น นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กที่คลอดใหม่ มักมีปัญหาระบบสุขภาพ ส่วนมาตรการเยียวยาช่วยเหลือยังคงเลื่อนลอยไม่เห็นเป็นรูปธรรมสู่การปฏิบัติ
“สำหรับการประกาศ 11 โครงการรุนแรงฯ เห็นควรว่าต้องกลับมาทบทวนใหม่ เพราะตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าขึ้นมาแก้ไขปัญหาแล้ว แต่รัฐกลับไม่ได้นำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาปฏิบัติเลย ตรงนี้อาจต้องมาพิจารณาว่าตกลงแล้วสาระสำคัญที่รัฐดำเนินการเช่นนี้คืออะไรและเพื่อชาวบ้านมาบตาพุดหรือใคร”
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศฯของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการรุนแรงฯ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ส่วนที่เสนอให้กำกับตัวพื้นที่ด้วยนั้น เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปดูว่าควรทำในรูปแบบใดจึงเหมาะสมที่สุด สำหรับความคืบหน้าการออกประกาศ 11 ประเภทของกิจการต้องห้ามในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะนี้อยู่ในขั้นของการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อตรวจถ้อยคำและรูปแบบเรียบร้อยก็ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้
ส่วนประเด็นที่มีกลุ่มเอ็นจีโอคัดค้าน เพราะไม่ตรงกับการเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่สามารถทำให้ตรงกับความคิดของทุกฝ่ายได้ แต่ยืนยันในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ว่าได้นำเอาสิ่งที่เป็นความตั้งใจของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาดูอย่างครบถ้วน
“บางเรื่องรัฐบาลได้ออกประกาศโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ว่าถ้าโครงไหนที่ไม่อยู่ในกิจการที่ประกาศแต่เห็นว่ามีผลกระทบรุนแรงก็สามารถอุทธรณ์ได้ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ประกาศไปก็น่าจะอยู่บนความพอดี บางเรื่องเข้มมาน้อย รูปแบบต่างกัน แต่อย่างไรก็ไม่ได้ละเลยในความห่วงใยของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับกิจการที่มีเหตุผลสมควรถอดออกจากร่างรายชื่อจำนวน 2 กิจการ ได้แก่ กิจการชลประทานตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป โดยคณะกรรมการเห็นว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับภาคเกษตรมากกว่าสร้างผลกระทบรุนแรง กับกิจการสูบเกลือใต้ดินทุกขนาด เนื่องจากเป็นกิจการที่รัฐบาลจะมีการยกเลิกไม่ให้มีการดำเนินการแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นกิจการรุนแรงซ้ำซ้อนอีก
กิจการที่ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เป็นผู้พิจารณาว่า เป็นกิจการรุนแรงหรือไม่ 2 กิจการ ได้แก่ กิจการที่ต้องทำรายงานอีไอเอ ที่อยู่ในพื้นที่อ่อนไหว เช่น แหล่งมรดกโลก-อุทยานประวัติศาสตร์-ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น กับกิจการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างถาวรนอกชายฝั่งทะเลเดิม เพื่อกันคลื่นหรือกระแสน้ำในทะเลทุกขนาดในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม-แหล่ง ธรรมชาติอนุรักษ์-แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาชีพ
และกิจการที่สร้างผลกระทบ แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงจนต้องดำเนินการตามเงื่อนไขมาตรา 67 (2) จำนวน 3 กิจการ ให้ดำเนินการแค่จัดทำรายงานอีไอเอ เท่านั้น ได้แก่ เตาเผาขยะติดเชื้อ ทุกขนาด, กิจการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักทุกขนาด และกิจการสิ่งก่อสร้างกั้นขวาง การไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกขนาดหรือประตูระบายน้ำ ส่วน 11 กิจการรุนแรงที่เหลือ ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดบางส่วน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผล กระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ฉบับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย |
ฉบับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ |
1.โครงการหรือกิจการที่ต้องทำรายงานผลสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อยู่ในพื้นที่อ่อนไหว |
1.กิจการถมทะลหรือทะเลสาบนอกเขตชายฝั่งเดิม ไม่รวมการฟื้นฟูสภาพชายหาด ทุกขนาด ถ้าอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม-แหล่งธรรมชาติอนุรักษ์-แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาชีพ นอกเหนือพื้นที่ดังกล่าว กำหนดไว้ที่ 300 ไร่ขึ้นไป |
2. กิจการถมทะลหรือทะเลสาบนอกเขตชายฝั่งเดิม |
2.เหมืองต่าง ๆ ได้แก่ เหมืองใต้ดิน ทุกขนาด-เหมืองแร่ตะกั่ว/สังกะสี/ทองคำทุกขนาด, เหมืองถ่านหินขนาด 2.5 ล้าน ตัน/ปี และเหมืองแร่ในทะเล |
3. การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างถาวรนอกชายฝั่งทะเลเดิม |
3.นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงแร่เหล็ก เดิมทุกขนาดปรับปรุงเป็นส่วนขยายเพียง อย่างเดียว |
4. เหมืองใต้ดิน, เหมืองแร่ตะกั่วสังกะสี ทองคำ, เหมืองถ่านหิน ขนาด 2.5 ล้านตัน/ปี และเหมืองแร่ในทะเล |
4.โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นทุกขนาด หรือการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป โรงงานปิโตรเคมีขั้นกลางขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 และขนาดกำลังผลิต 700 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่ม 2A |
5. นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงแร่เหล็ก |
5.โรงงานถลุงแร่หรือ หลอมโลหะ โดยโรงถลุงแร่เหล็กขนาด 5,000 ตัน/วันขึ้นไป ปรับปรุงเป็น 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านโค้กทุกขนาด, โรงถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี กำลังการผลิต 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่ตะกั่วทุกขนาด, โรงหลอมโลหะขนาด 50 ตัน/วัน และโรงหลอมตะกั่วขนาด 10 ตัน/วันขึ้นไป |
6.ปิโตรเคมีขั้นต้นทุกขนาด หรือการขยายการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป ปิโตรเคมีขั้นกลางขนาด 100 ตัน/วัน หรือขยายการผลิต 35% ขึ้นไปในส่วนที่ใช้สารเคมีก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 และขนาด 700 ตัน/วัน หรือขยายการผลิต 35%ขึ้นไปในส่วนที่ใช้สารเคมีก่อมะเร็งกลุ่ม 2 A |
6.กิจการผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี เดิมทุกขนาด ยกเว้นโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ปรับปรุง ทุกสถานที่ ไม่ยกเว้น
|
7. โรงงานถลุงแร่เหล็กขนาด 5,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านโค้ก, โรงถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี 1,000 ตัน/วันขึ้นไปเป็นต้น |
7.โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด |
8. กิจการผลิตหรือกำจัดปรับแต่งสารกัมมันตรังสี |
8.กิจการสนามบินที่มีการขยายทางวิ่งตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป |
9. โรงฝังกลบหรือเผาของเสียอันตราย |
9.ท่าเทียบเรือยกเว้นท่าเทียบเรือที่ชาวบ้านใช้อยู่ |
10. เตาเผาขยะติดเชื้อ |
10.เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ตั้งแต่ 100 ลบ.ม.ขึ้นไป |
11. สนามบินและสนามที่มีการขยายทางวิ่งตั้งแต่ 1,100 เมตรขึ้นไป |
11.โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป, โรงไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ก๊าซธรรมชาติ 700 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ความร้อนร่วม 1,000 เมกะวัตต์ขึ้นไปและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาดปรับปรุงโดยตัดโรงไฟฟ้าก๊าซ ธรรมชาติออก และ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมเพิ่ม 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป |
12. ท่าเทียบเรือ |
|
13. เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตั้งแต่100 ลบ.ม.ขึ้นไป |
|
14. กิจการชลประทานตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป |
|
15. โรงไฟฟ้าต่างๆอาทิ ที่ใช้ถ่านหินขนาด 100 MVขึ้นไป,โรงไฟฟ้าชีวมวล 150 MV ขึ้นไป เป็นต้น |
|
17. สิ่งก่อสร้างกั้นขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกขนาด |
|
18. การสูบน้ำเกลือใต้ดินทุกขนาด |
|