20 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ กับผลศึกษา “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ”
เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่ต้องช่วยกันสอดส่องการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงสร้างความภูมิคุ้มกันให้กับผู้รับสื่อให้เท่าทันกับเนื้อหาข่าวที่ละเมิดจรรยาบรรณ โดยการไม่กดถูกใจ (Like) หรือ ส่งต่อ (Share) ข่าวที่ผิดจริยธรรม เพื่อยับยั้งไม่ให้การนำเสนอข่าวเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของวงการสื่อสารมวลชนไทย
ในวาระครบรอบการดำเนินงาน 20 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ประกอบกับวาระที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ยกร่างข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ขึ้นมาใหม่จึงจัดตั้งโครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ”ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชนได้ออกแบบโครงการสอดส่องจับจ้องการทำงานของหนังสือพิมพ์อย่างเป็นระบบ รวมถึงให้เป็นกระจกสะท้อนการทำงานให้แก่สื่อมวลชน โดยใช้หลักวิชาการนิเทศศาสตร์และหลักการปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมจรรยาบรรณ ที่ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้กำหนดไว้ในธรรมนูญและข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2559 มาเป็นกรอบในการพิจารณาการทำงานของสื่อหนังสือพิมพ์
โครงการนี้มีผู้ส่งโครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ” เข้าประกวดทั้งสิ้น 11 โครงการ โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเหลือ 3 โครงการสุดท้าย คือ โครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์” ของทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์” ของทีมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” ของทีมมหาวิทยาลัยรังสิต
จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์: ทีมจุฬาฯ
ทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คัดเลือกข้อบังคับฯ ในประเด็นที่สามารถวัดผลได้ชัดเจน มาใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินโครงการจำนวน 7 ข้อ ได้แก่ การนำเสนอข่าวโดยไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระจนคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง (ข้อ 5), การนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ (ข้อ 6), การไม่นำเสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรืองมงาย (ข้อ 9), การนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ข้อ 13), การไม่นำเสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว (ข้อ 14), การหลีกเลี่ยงคำไม่สุภาพและประทุษวาจา (ข้อ 18), และการแสดงให้เห็นชัดว่าส่วนใดคือพื้นที่โฆษณา (ข้อ 28)
การจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อของทีมจุฬาฯ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะ Top-down คือการสอดส่องจริยธรรมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2559 ภายในเดือนมีนาคม 2560 และลักษณะ Bottom-up คือการนำข่าวที่ถูกคัดเลือกว่าผิดจริยธรรมข้างต้น มาตรวจสอบกระแสของสื่อสังคมออนไลน์ผ่านเครื่องมือ “Zocial Eye” เพื่อศึกษาบรรทัดฐานทางทัศนคติของผู้คนในสังคมออนไลน์ที่มีต่อข่าวดังกล่าว
ในการดำเนินการลักษณะ Top-down ทีมจุฬาฯ ได้จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อของสำนักข่าวบนช่องทางออนไลน์ 9 แห่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ ผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์, ไทยรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยโพสต์, สยามรัฐ, คมชัดลึก และโลกวันนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยเลือกเฉพาะข่าวที่อยู่ในหมวด “ข่าวเด่น” บนหน้าแรกของแต่ละเว็บไซต์ และสุ่มเก็บข้อมูล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ คือวันจันทร์และวันศุกร์ ในช่วงเวลา 22.00 ถึง 24.00 น. พบว่า มีข่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมจำนวน 149 ข่าว จากตัวอย่างทั้งหมด 1,494 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 9.97
เมื่อแจกแจงสัดส่วนของประเด็นที่เข้าข่ายผิดจริยธรรม ร้อยละ 9.97 ข้างต้น จะพบว่า จากข่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมทั้งหมด 149 ข่าว ประเด็นที่มีการทำผิดมากที่สุดคือ นำเสนอข่าวโดยอคติ พบจำนวน 25 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 16.78
รองลงมาคือ
- โฆษณาแฝง พบจำนวน 20 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 13.42
- ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พบจำนวน 16 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.74
- อุจาดหวาดเสียว พบจำนวน 13 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.72
- งมงายพบจำนวน 12 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.05
- ใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง พบจำนวน 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 6.71
- ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 6 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 4.01
- และลามกอนาจาร พบจำนวน 2 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 1.34
นอกจากนี้ยังพบข่าวที่เข้าข่ายการทำผิดจริยธรรมในประเด็นอื่นๆ เช่น พิมพ์ตกหล่นจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด, แหล่งที่มาของข่าวไม่น่าเชื่อถือ, ใช้คำกำกวมหรือตัวย่อจนอาจเกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น ซึ่งพบถึง 45 ข่าว จากจำนวนทั้งหมด 149 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 30.20
ในการดำเนินการลักษณะ Bottom-up ทีมจุฬาฯ ใช้เครื่องมือ Zocial Eye (โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัท Thoth Zocial ) ตรวจสอบความเคลื่อนไหวบนสื่อสังคมออนไลน์ของสำนักข่าวทั้ง 9 สำนัก พบว่า ตลอดการจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อเป็นเวลา 1 เดือน (มีนาคม 2560) มีความเคลื่อนไหวบนสื่อสังคมออนไลน์ของสำนักข่าวต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 1,122,521 ข้อความ เฉลี่ยวันละ 36,210 ข้อความ และมียอดการปฏิสัมพันธ์กับข้อความต่างๆ (Engagement) จำนวนทั้งสิ้น 48,386,009 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 1,560,839 ครั้ง
ไม่กด Like หรือ Share ข่าวผิดจริยธรรม
หากสำรวจในแง่ทัศนคติของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบว่า จากความเคลื่อนไหวจำนวน 1,122,521 ข้อความ มีข้อความที่ผู้รับสื่อให้ความรู้สึกเป็นกลาง (Neutral) ต่อการนำเสนอข่าวของสื่อออนไลน์สำนักต่างๆมากที่สุด โดยมีจำนวน 911,165 ข้อความ คิดเป็น ร้อยละ 81.17 รองลงมาคือให้ความรู้สึกเป็นลบ (Negative) จำนวน 159,295 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 14.19 และให้ความรู้สึกในแง่บวก (Positive) จำนวน 52,061 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 4.64
ทั้งนี้ เมื่อคัดเลือกข่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมมาประเด็นละ 1 ข่าว โดยสุ่มเลือกจากสำนักข่าวที่ผิดจริยธรรมในประเด็นนั้นๆ มากที่สุด พบว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้รับสื่อส่วนใหญ่มักเป็นการพูดถึง เรื่องราวในข่าว หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับข่าวนั้นๆ มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยตรง อาจเป็นเพราะผู้รับสื่อส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในรูปแบบนี้มาเป็นเวลายาวนาน จนไม่สังเกตว่ามีรายละเอียดส่วนใดที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่
อีกทั้งผู้รับสื่อส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จึงเป็นประเด็นที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรดำเนินการในเชิงรุก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคมต่อไป
นอกจากนั้น จากตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่า ประเด็นการนำเสนอข่าวที่งมงายและอุจาดหวาดเสียวสร้างยอดปฏิสัมพันธ์ (Engagement) จากผู้อ่านได้สูงกว่าประเด็นอื่นๆ อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ในส่วนของเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้รับสื่อแล้วไม่พบเห็นถึงการที่ผู้บริโภครู้เท่าทันการผิดจรรยาบรรณของสื่อมากนัก หากแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงอารมณ์คล้อยตาม เสียดสี สะใจ หรือด่าทอไปตามเนื้อข่าวที่สำนักข่าวนำเสนอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณต่อการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการล้ำเส้นมาตรฐานจรรยาบรรณของเนื้อข่าวออนไลน์ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาแล้ว อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการนำเสนอข่าวที่ละเมิดจรรยาบรรณในประเภทดังกล่าวมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่ต้องช่วยกันสอดส่องการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงสร้างความภูมิคุ้มกันให้กับผู้รับสื่อให้เท่าทันกับเนื้อหาข่าวที่ละเมิดจรรยาบรรณ โดยการไม่กดถูกใจ (Like) หรือ ส่งต่อ (Share) ข่าวที่ผิดจริยธรรม เพื่อยับยั้งไม่ให้การนำเสนอข่าวเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของวงการสื่อสารมวลชนไทย
จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์: ทีมม.มหาสารคาม
ทีมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตรวจสอบหนังสือพิมพ์รายวัน 9 ฉบับ ที่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ 1.ไทยรัฐ 2.เดลินิวส์ 3.คมชัดลึก 4.กรุงเทพธุรกิจ 5.โพสต์ทูเดย์ 6.ผู้จัดการรายวัน 7.โลกวันนี้ 8.ไทยโพสต์ 9.สยามรัฐ โดยมีระยะเวลาการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 มีนาคม 2560 โดยใช้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 เป็นกรอบในการดำเนินการตรวจสอบจริยธรรม
ผลการตรวจสอบหนังสือพิมพ์ทั้ง 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวหน้าหนึ่งจำนวนทั้งสิ้น 1,426 ข่าว และเป็นข่าวที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 91 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 6.31 ส่วนภาพข่าวหน้าหนึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 586 ภาพ และเป็นภาพข่าวที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 42 ภาพ คิดเป็นร้อยละ7.17 และมีประกาศ/โฆษณาจำนวนทั้งสิ้น 3,028 ชิ้น และเป็นประกาศ/โฆษณาที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 45 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ1.49 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแล้วพบว่าจำนวนข่าว ภาพข่าว และประกาศ/โฆษณา มีความเสี่ยงในการละเมิดจริยธรรมในระดับน้อย
ทั้งนี้ ข้อที่พบว่าหนังสือพิมพ์มักจะทำการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 มากที่สุด 5 ข้อแรก ได้แก่
อันดับ 1 ข้อ 18 หนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่สุภาพหรือภาษาที่สื่อความหมายเชิงเหยียดหยาม หรืออยู่ในข่ายประทุษวาจาหรือแสดงนัยเชิงลบ พบว่า หนังสือพิมพ์มีการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งข่าว ภาพข่าว และประกาศโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 64 ชิ้น
ยกตัวอย่างพาดหัวข่าว เช่น “สั่งนายทุนหน้าเลือดขึ้นทะเบียน นายกฯ ล้างบางกู้นอกระบบ” “มีดปาดคอเมียสยอง! ผัวโหดระแวงมีกิ๊ก แทงตัวตายหนีผิด” หรือ “ไขควงแทงขี้ยาดับ” ซึ่งพบว่ามีการพาดหัวข่าวที่ใช้ความหมายเชิงเหยียดหยามหรืออยู่ในข่ายประทุษวาจา โดยการแสดงนัยเชิงลบ เช่น คำว่านายทุนหน้าเลือด ขี้ยา ผัวโหด หรือคำว่า เหี้ยม เป็นการตัดสินผู้ที่ตกเป็นข่าว นับว่าเป็นการใส่ความคิดเห็นลงในเนื้อข่าว เพราะข่าวควรปราศจากความคิดเห็นหรือไม่ควรกล่าวว่าร้ายผู้ตกเป็นข่าว อันเป็นแสดงนัยเชิงลบ
อันดับ 2 ข้อ 28 หนังสือพิมพ์ต้องแสดงให้เห็นชัดว่า ข้อความที่เป็นบทความซื้อพื้นที่คือประกาศโฆษณาจะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นมิได้ พบว่า หนังสือพิมพ์มีการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งข่าว ภาพข่าว และประกาศโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 48 ชิ้น
ยกตัวอย่าง เช่น บทสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่งกับการก้าวสู่แบรนด์ชั้นนำอันดับหนึ่ง เนื่องจากเนื้อหานี้มีลักษณะเป็นบทความเพื่อการโฆษณา (Advertorial) แต่หนังสือพิมพ์ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการโฆษณาแต่แอบแฝงให้เป็นบทความสัมภาษณ์ เพราะพื้นที่ในการนำเสนอไม่มีการระบุว่าเป็นพื้นที่โฆษณาจึงอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดหรือคล้อยตามได้
อันดับ 3 ข้อ 16 หนังสือพิมพ์พึงระมัดระวังการเสนอข่าว ภาพข่าว ความเห็นหรือเนื้อหาทั่วไป ต่อสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือมีความรุนแรงอันจะเป็นการสร้างหรือเพิ่มความหวาดระแวงที่มีอยู่แล้วในชุมชนหรือสังคม พบว่า หนังสือพิมพ์มีการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพทั้งข่าว ภาพข่าว และประกาศโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 23 ชิ้น
อันดับ 4 พบว่ามีการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งข่าว ภาพข่าว และประกาศโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 12 ชิ้นเท่ากันในข้อ 13 และข้อ 14 โดยข้อ 13 หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างในสังคม
ยกตัวอย่าง เช่น การนำเสนอพาดหัวข่าว “ลูกทุ่ง ‘ฉัตรชัย’ ประเดิมแสดงเชิดหนังตะลุง ช็อกดับคาเวที” รวมถึงได้มีการนำเสนอภาพของ “ฉัตรชัย มงคลทอง” นักร้องลูกทุ่งของภาคใต้ในขณะที่หน่วยกู้ชีพกำลังยื้อชีวิต ซึ่งไม่ใช่สภาพปกติของเขาแต่เป็นภาพที่กำลังช็อก ก่อนที่จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และการนำเสนอพาดหัวข่าว “ฝูงร็อตไวเลอร์ขย้ำโหดหนุ่มใหญ่คาที่” รวมถึงมีการนำเสนอภาพของผู้เสียชีวิตจากการถูกสุนัข 3 ตัวรุมขย้ำ ซึ่งเป็นภาพผู้เสียชีวิตที่มีแผลเต็มร่างกาย นับว่าหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของที่ตกเป็นข่าว อีกทั้งการนำเสนอภาพข่าวเช่นนี้อาจเป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือความเศร้าโศกแก่ญาติผู้เสียชีวิตและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตายอีกด้วย
อันดับ 5 ข้อ 17หนังสือพิมพ์พึงระมัดระวังการเสนอข่าวภาพข่าว ความเห็น หรือเนื้อหาทั่วไป อันเป็นการไม่เคารพต่อเชื้อชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์พบว่า หนังสือพิมพ์มีการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งข่าว ภาพข่าว และประกาศโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 9 ชิ้น
ยกตัวอย่าง เช่น การนำเสนอพาดหัวข่าว “พบศพสองผัว-เมีย โจรใต้สังหารโหด ชิงรถคาร์บอมบ์” และพาดหัวข่าว “แห่ประณามโจรใต้ ฆ่าผช.ผญบ.-ลูกเมีย” นับว่าเป็นการนำเสนอข่าวพาดหัวข่าวไม่เคารพต่อเชื้อชาติและชาติพันธุ์เช่น มีคำว่า“โจรใต้” ซึ่งเป็นการเหมารวมว่าคนที่อาศัยอยู่ภาคใต้เป็นโจร ซึ่งสามารถใช้คำเลี่ยงได้เพื่อไม่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจผิดและไม่ก่อให้เกิดการดูถูกเชื้อชาติพันธุ์ อย่างเช่น เปลี่ยนจากคำว่า “โจรใต้” เป็น “โจรป่วนใต้” เป็นต้น
จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น: ทีมม.รังสิต
ทีมมหาวิทยาลัยรังสิตได้ใช้ระเบียบวิธีวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแต่ละฉบับ โดยสร้างเครื่องมือเป็นตารางเพื่อแจกแจงหมวดหมู่สำหรับการตรวจสอบ จำนวน 6 ฉบับที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน หนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ตรังไทม์ รายสัปดาห์
จากนั้นร่วมกันวิเคราะห์ ตรวจสอบหนังสือพิมพ์ของแต่ละฉบับ โดยยึดถือข้อบังคับว่าจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เป็นหลักในการตรวจสอบ ทีมงานจะบันทึก และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบหนังสือพิมพ์เป็นสองส่วน คือ การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และ หลักการปฏิบัติตัวของหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ดี จากนั้นก็จะทำการบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบลงตารางที่แจกแจงหมวดหมู่สำหรับการตรวจสอบ โดยจะไม่ระบุชื่อหัวของหนังสือพิมพ์ แต่จะใช้ ชื่อแทนหนังสือพิมพ์แต่ละหัว
นอกจากการบันทึกข้อมูลที่ตรวจสอบลงในตารางแล้ว ทีมได้ทำเอกสารหมวดอ้างอิง โดยมีเนื้อหาสาระที่เป็น ลักษณะการทำผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของแต่ละข่าว พร้อมรูปภาพประกอบ ในแต่ละหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้ศึกษา เห็นลักษณะการทำผิดจริยธรรมของแต่ละหนังสือพิมพ์ ในแต่ละหมวดอย่างชัดเจน
ผลที่ได้รับจากดำเนินโครงการจับจ้องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น พบว่า ส่วนใหญ่มีการกระทำผิดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพในหมวดจริยธรรมทั่วไปมากที่สุดอันดับแรก ได้แก่ หมวดความถูกต้องและข้อเท็จจริง โดยหนังสือพิมพ์มีการพาดหัวข่าวและความนำเกินไปจริง เช่น พาดหัวข้อโดยใช้ประโยค “ไฟไหม้ห้างบิ๊กซีแตกตื่นหนีอลหม่าน” “มงกุฎตุ๋นมโหฬาร เหยื่อสูญ 20 ล้าน” และ “ฝรั่งสุดทน”
หมวดประโยชน์สาธารณะ หนังสือพิมพ์มีการเสนอข่าว ภาพข่าว ความเห็นและเนื้อหาทั่วไป โดยไม่ตระหนักถึงความสำคัญและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีการเสนอข่าวชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ข่าวแจ้งข้อมูลวันเกิดของคนที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดข่าวฉลองวันเกิดให้ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของโรงแรมโลตัสบางสวนแก้ว และการเก็งเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
หมวดการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
1) หนังสือพิมพ์มีการเสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามก อนาจาร หรือ น่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน เช่น ใช้คำว่า “ชนดับ”ในเนื้อหารวมทั้งมีการลงภาพประกอบข่าวผู้เสียชีวิต ที่ทำให้เกิดความน่าหวาดเสียวและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณชน ใช้คำว่า “พลีชีพ”และมีการลงภาพร่างผู้เสียชีวิตที่เห็นสภาพชัดเจนโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ภาพ และภาพข่าวอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนเสาไฟฟ้าที่เห็นผู้บาดเจ็บชัดเจน เป็นต้น
2) หนังสือพิมพ์เสนอข่าว ภาพข่าว ความเห็น หรือเนื้อหาทั่วไป ต่อสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือมีความรุนแรง อันจะเป็นการสร้างหรือเพิ่มความหวาดระแวงที่มีอยู่แล้วในชุมชนหรือสังคม เช่น “มีดปาดคอฆ่าโหด” ลักษณะและเนื้อหาของข่าวมีการบรรยายและใช้ถ้อยคำภาษาเชิงนวนิยาย ที่ทำให้เห็นภาพของความรุนแรง อันจะสร้างความหวาดกลัวต่อสาธารณชน“โชว์ผลงาน”ภาพข่าวที่เปิดเห็นภาพยาเสพติดและ “ค้นบ้าน” ผู้มีอิทธิพล ข่มขู่ชาวบ้าน”ลักษณะของเนื้อหาข่าว มีการใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ผู้อ่านและอาจจะเป็นหนทางที่สร้างความหวาดระแวงในสังคมที่ถูกอ้างอิงในเนื้อหาข่าวได้ เป็นต้น
3) หนังสือพิมพ์มีการใช้คำที่ไม่สุภาพหรือภาษาที่สื่อความหมายเชิงเหยียดหยาม หรืออยู่ในข่ายประทุษวาจา หรือแสดงนัยเชิงลบ เช่น ข่าว “จับโจรใจบาป”ใช้ประโยคพาดหัวและถ้อยคำเชิงลบที่อาจเป็นการตัดสิน ผู้กระทำความผิดในเชิงลบและทำให้ผู้คนในสังคมตัดสินว่าผู้ต้องหาคนดังกล่าวเป็นคนไม่ดี “จับมาเฟียฮอลแลนด์”มีการใช้พาดหัวและถ้อยคำเชิงลบที่เป็นการตัดสินผู้กระทำความผิดในเชิงลบและทำให้ผู้คนในสังคมตัดสินว่า ผู้ต้องหาคนดังกล่าวเป็นคนไม่ดี และ “พม่ามารหัวใจ”เป็นการใช้คำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความรู้สึกในเชิงลบ รวมไปถึงการมองแบบเหมารวมถึงชาวเมียนมาร์ในทางที่ไม่ดีและเข้าใจผิด
การกระทำผิดหลักจริยธรรมในระดับรองลงมาพบว่า หนังสือพิมพ์กระทำความผิดทั้งในหมวดจริยธรรมทั่วไป และหมวดหลักกระบวนการทำงาน...
นอกจากนี้ยังพบว่า มีข้อดีในการปฏิบัติงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวอย่างชัดเจน หรือมีการอ้างถึงถ้อยคำโดยตรง และโดยอ้อมของแหล่งข่าวที่ชัดเจน ไม่ใช่การยกอ้างเขียนขึ้นมาโดยไม่มีที่มาของเนื้อหาสาระข่าว เช่น ข่าวเกี่ยวกับเยาวชนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศของหนังสือพิมพ์ที่มีการปกปิดหรือปิดบังทั้งภาพหรือเนื้อหาข่าวของเยาวชนที่ตกเป็นข่าว รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาของบทความที่มีการยกอ้างแหล่งข้อมูลมาระบุไว้ตอนท้ายของเนื้อหาว่า นำมาจากที่ไหนอย่างชัดเจน
ข้อดีในการปฏิบัติงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของนักวิชาชีพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ยังคงให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว อันนำไปสู่ความน่าเชื่อในวิชาชีพสื่อสารมวลชน
และในระหว่างการดำเนินงาน ทางทีมได้พบข้อเสนอแนะที่สามารถนำมาปฏิบัติในการดำเนินโครงการ คือ ควรจะสร้างเครื่องมือในการจับจ้องจริยธรรมสื่อโดยให้ประชาชนทั่วไปในแต่ละท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหนังสือพิมพ์ เช่น การเพิ่มพื้นที่ทางแฟนเพจในเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตามเนื้อหาข่าวสารต่างๆได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลวิจัย นศ.นิเทศฯ3สถาบันชี้สื่อละเมิดจริยธรรมสนองคนหมู่มาก-ปัจจัยตลาดมาเกี่ยวข้อง
อ่านฉบับเต็ม:จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ หนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น