ฟุตซอลโคกโพธิ์ ปัตตานี...สนาม (ร้าง) 1 ล้าน หลังคา 3 ล้าน!
สนามฟุตซอลของเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นสนามฟุตซอลอีกแห่งหนึ่งที่มีปัญหาพื้นสนามหลุดร่อน และมีสภาพเหมือนสนามร้าง
สนามฟุตซอลแห่งนี้เป็น 1 ใน 151 สนาม ที่ก่อสร้างในห้วง 3 ปีงบประมาณล่าสุดที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดงบอุดหนุนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเมื่อตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณของ ศอ.บต.เองพบว่า เทศบาลตำบลโคกโพธิ์ได้รับงบประมาณในปี 2559 จำนวน 1,160,000 บาท เท่าๆ กันกับสนามฟุตซอลในพื้นที่อื่นๆ และเริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2558
ช่วงที่มีการก่อสร้าง ผู้บริหาร ศอ.บต.ได้เชิญผู้แทน อปท.จากทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาดูงาน เพราะรูปแบบการสร้างสนามฟุตซอลของเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ ถือเป็นสนามนำร่องที่นำเมล็ดยางมาผสม และใช้เครื่องบดอัดยาง ก่อนราดยางเป็นพื้นสนามแบบไม่มีรอยต่อ ผิดกับสนามฟุตซอลแห่งอื่นๆ ที่สร้างก่อนหน้านั้น ที่ใช้แผ่นยางหรือแผ่นพลาสติกสี่เหลี่ยมมาปูต่อๆ กัน จึงเกิดร่องช่วงที่เป็นรอยต่อ ส่งผลกระทบต่อการเล่นฟุตซอล
อย่างไรก็ดี เมื่อสร้างเสร็จประมาณปีเศษ พื้นสนามกลับหลุดร่อน และทุกครั้งที่มีฝนตก ก็มีน้ำเข้าไปท่วมขัง ประกอบกับไม่ค่อยมีใครเข้าไปเล่นฟุตซอลที่สนามแห่งนี้ ทำให้สนามถูกทิ้งร้าง แทบไม่ได้ใช้งาน
จากการลงพื้นที่สำรวจสนามฟุตซอลที่เทศบาลตำบลโคกโพธิ์ของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า สนามแห่งนี้สร้างอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (สงขลา-ปัตตานี สายเก่า) ซึ่งเป็นถนนใหญ่ที่ตัดผ่านตัวอำเภอโคกโพธิ์ประมาณ 150 เมตร ทางเข้าอยู่บริเวณโรงฆ่าสัตว์เก่า จุดที่ตั้งสนามอยู่ด้านหลังสนามกีฬากลาง ซึ่งเป็นสนามฟุตบอล แต่บริเวณที่เป็นสนามฟุตซอลนั้น กลับไม่มีเส้นทางเข้าออก ต้องปีนลงจากด้านหลังอัฒจันทร์ของสนามกีฬากลาง และที่สำคัญคือสนามฟุตซอลแห่งนี้สร้างอยู่ในที่ลุ่ม พื้นสนามอยู่ต่ำกว่าขอบสนามฟุตบอลเกือบๆ 2 เมตร เมื่อถึงฤดูฝนหรือมีฝนตกลงมา น้ำก็จะไหลเข้าท่วมสนามจนพื้นยางหลุดร่อน ไม่สามารถใช้เล่นกีฬาได้
ต่อมาทางเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ได้สร้างหลังคาคลุมสนามฟุตซอล ใช้ชื่อโครงการว่า "ก่อสร้างอาคารสนามฟุตซอล" โดยใช้งบประมาณของเทศบาลเองจำนวน 3,085,000 บาท แพงกว่าค่าก่อสร้างสนามกว่าเท่าตัว แต่หลังคาสนามก็ยังเป็นหลังคาสูง ไม่สามารถกันฝนและแดดที่สาดเข้าสนามได้อยู่ดี
นายมูฮัมหมัด (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ เล่าว่า บ้านของตนอยู่ไม่ห่างจากสนามฟุตซอลมากนัก จึงทราบดีกว่าการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเลย เหมือนกับนำงบประมาณของรัฐมาทิ้งฟรีๆ
"ตั้งแต่สร้างสนามฟุตซอล ผมจำได้ว่าใช้งานได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น เพราะว่าสนามแห่งนี้ไม่มีคูน้ำ เวลาฝนตก น้ำก็ไหลเข้าไปในสนาม ทำให้สนามพังเร็วขึ้น ทุกวันนี้ไม่มีใครเข้าไปใช้สนามเลย เพราะมันใช้การไม่ได้แล้ว จะเห็นก็มีแต่ชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมายังสร้างหลังคาอีก ไม่รู้สร้างทำไมในเมื่อสนามพังหมดแล้ว ทุกวันนี้ไม่เหลือสภาพเป็นสนามแล้ว พื้นยางปนกับดินจนแยกไม่ออก" นายมูฮัมหมัด กล่าว
นายอิบรอเหม (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ บอกกลั้วหัวเราะว่า ตนยังไม่รู้เลยว่าในเขตเทศบาลมีสนามฟุตซอลด้วย ไม่เห็นมีใครพูดถึง
จากการสอบถามชาวบ้านในเขตเทศบาลอีกหลายคน ได้รับคำตอบตรงกันว่า รอบๆ สนามไม่มีระบบระบายน้ำ และไม่มีป้ายบอกว่ามีสนามฟุตซอลตั้งอยู่บริเวณนั้น จึงแทบไม่เคยมีใครเข้าไปใช้ และที่ผ่านมาก็ไม่เห็นองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าไปบำรุงรักษาเลย
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตอนแรกบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างสนามฟุตซอลจะไม่ยอมรับงาน เนื่องจากไม่สามารถสร้างได้ด้วยงบประมาณเพียง 1,160,000 บาท แต่ทางเทศบาลขอให้ช่วยทำไปก่อน เพราะได้งบมาแล้ว เมื่อสร้างเสร็จเทศบาลจะหางบให้สร้างหลังคาคลุม ทำให้ทางบริษัทผู้รับเหมายอมรับงาน
ด้าน นายชาลี ชีวะสาธน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ยืนยันว่า สนามฟุตซอลของเทศบาลไม่มีปัญหาพื้นหลุดร่อน และสามารถเดินเข้าไปเล่นได้ทางสนามกีฬากลางซึ่งเป็นสนามฟุตบอล ล่าสุดทางเทศบาลยังได้ใช้งบของเทศบาลสร้างหลังคาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันสนามจากแดดและฝน
"สนามฟุตซอลของเราไม่มีปัญหา สนามนี้ทุกเทศบาลและทุก อบต.ยกย่องให้เป็นสนามตัวอย่าง ยืนยันว่าสนามแห่งนี้ดีกว่าทุกที่ การที่มีคนโจมตีน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองที่ต้องการใส่ร้ายมากกว่า ฉะนั้นผู้สื่อข่าวต้องอย่าไปฟังคนอื่นพูด ให้มาดูด้วยตาตัวเองจะดีที่สุด" นายชาลี ระบุ
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สภาพสนามฟุตซอลโดยรวม มีน้ำขังทุกครั้งที่มีฝนตก
2 พื้นสนามหลุดร่อนอย่างชัดเจน
3 สนามฟุตซอลอยู่ต่ำกว่าขอบสนามฟุตบอลถึง 2 เมตร
4-5 สนามฟุตซอลที่สร้างหลังคาคลุมแล้ว แต่เหมือนงานก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย
6 ป้ายโครงการก่อสร้างอาคารสนามฟุตซอล (หลังคา)
อ่านประกอบ : 3 ปี 179 ล้าน...โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล "พัง-ร้าง" อื้อ!