ระวัง! ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการ เมื่อ อนุก.ต.ไม่เห็นชอบเสนอชื่อ'ศิริชัย วัฒนโยธิน' ปธ.ศาลฎีกา
"...หากนับตามลำดับอาวุโส ถัดจากนายศิริชัย ก็คือ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา และนายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ซึ่งหากนายศิริชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาแล้ว บุคคลทั้งสองอาจได้รับการพิจารณาขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า นายศิริชัยได้ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อขอเข้าชี้แจงกรณีที่ อนุ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการ ในวันที่ 3 ก.ค. บุคคลทั้งสองอาจได้รับการพิจารณาจาก ก.ต ดังนั้น ในวันดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่..."
กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงตุลาการศาลยุติธรรม!
เมื่อปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) รวม 3 ชั้นศาล (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา)จำนวน 21 คน เพื่อกลั่นกรองบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการ(บัญชี 1)เพื่อพิจารณาเลื่อนข้าราชการตุลาการเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 44 แทน นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2560 นั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นชอบในบัญชีรายชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)พิจารณาอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. 2560
ในการเสนอเลื่อนข้าราชการตุลาการเป็นประธานศาลฎีกา ตามที่ปฏิบัติกันมาในศาลยุติธรรมโดยตลอดนั้น จะเสนอชื่อราชการตุลาการที่มีอาวุโสสูงสุดซึ่งปัจจุบันคือ นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์
แต่ปรากฏว่า อนุ ก.ต.พิจารณาเรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง จึงได้ข้อยุติว่า ไม่เห็นชอบกับบัญชีรายชื่อดังกล่าว
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวภายหลัง การประชุม อนุก.ต. ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า อนุ ก.ต.ได้พิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติและความเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อย โดยประชุมเสร็จ 16.00 น. พร้อมเสนอให้ ก.ต.ชุดใหญ่พิจารณา ส่วนรายละเอียดและผลเป็นอย่างไรนั้นต้องรอการประชุมของ ก.ต.ชุดใหญ่ 15 คนที่จะลงมติเห็นชอบในวันที่ 3 ก.ค.นี้
การที่ประชุมอนุ ก.ต.ไม่เห็นชอบกับบัญชีรายชื่อการเลื่อนข้าราชการตุลาการดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะซ้ำรอยกับวิกฤตตุลาการในปี 2534 หรือไม่ ที่มีการแย่งชิงตำแหน่งประธานศาลฎีการะหว่าง นายสวัสดิ์ โชติพานิช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดกับนายประวิทย์ ขัมภรัตน์
จนเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในแวดวงตุลาการ ทำให้มีการปฏิรูปวงการตุลาการ
และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในเวลาต่อมาจึงยึดถือลำดับอาวุโส โดยปัจจุบันกำหนดให้ตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ เป็นเบอร์ 2 รองจากประธานศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม หากนับตามลำดับอาวุโส ถัดจากนายศิริชัย ก็คือ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา และนายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ซึ่งหากนายศิริชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาแล้ว บุคคลทั้งสองอาจได้รับการพิจารณา
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า นายศิริชัยได้ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อขอเข้าชี้แจงกรณีที่ อนุ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการ ในวันที่ 3 ก.ค. บุคคลทั้งสองอาจได้รับการพิจารณาจาก ก.ต ดังนั้น ในวันดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่
สำหรับ นายศิริชัย สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตไทย นิติศาสตรมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558
ผลงานด้านคดีสำคัญที่ผ่านมาเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยของแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองศาลฎีกา และเป็นเจ้าของสำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรัชกาลที่ 4 เป็นต้น
ปัจจุบันศาลอุทธรณ์ถูกกำหนดให้เป็นศาลเดียวที่รับผิดชอบพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์สำหรับคดีสำคัญที่ส่งผลกระทบถึงประโยชน์ของประเทศโดยให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด เช่น คดียาเสพติด คดีค้ามนุษย์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ผลงานด้านการบริหารงานคดีของนายศิริชัย คือ การผลักดันคดีที่คั่งค้างสะสมของศาลอุทธรณ์จนศาลอุทธรณ์สามารถพิจารณาคดีเสร็จภายในปีรับเรื่อง ทำให้ประชาชนทราบผลคดีทุกประเภทได้รวดเร็วขึ้น
จากสถิติคดีที่ศาลอุทธรณ์เผยแพร่ในเว็บไซด์ของศาลอุทธรณ์ พบว่าไม่มีคดีของปี 2559 ค้างพิจารณาอีก
ความสำเร็จสูงสุดด้านการบริหาร คือ การทำให้ศาลอุทธรณ์ได้รับรางวัลศาลยุติธรรมดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2559
ส่วนปัญหาการเสนอชื่อบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ครั้งนี้ จะกลายเป็นชนวนเหตุ ทำเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการ ในอดีตอีกหรือไม่
โปรดติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!