โรเบิร์ต เลนซ์ : ช่างภาพหลวงคนสำคัญของราชสำนักสยาม
เปิดนิทรรศการพิเศษ 120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม ชมวิวัฒนาการประเทศในอดีต ผ่านมุมกล้องของช่างภาพชาวเยอรมัน ก่อนปิดกิจการ
โรเบิร์ต เลนซ์ เป็นช่างถ่ายรูปชาวเยอรมัน ได้ตั้งร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2435 และต่อมาได้เปิดสาขาที่เมืองสิงคโปร์
ในขณะที่สยามในเวลานั้น นับแต่พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้นำวิทยาการถ่ายรูปเข้ามาในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2388 ช่วงปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ถึงขนาดที่มีการถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ส่งไปถวายเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการ และพระราชทานเป็นเครื่องเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
จนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการถ่ายรูปมาก จนเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการ “เล่นกล้อง” ทรงฉายพระรูปทรงถ่ายไว้เป็นหลักฐานมากมาย อาทิ การเสด็จประพาสต้นและการเสด็จประพาสต่างประเทศ มีการประกวดประชันรูปถ่ายเป็นครั้งแรกในเมืองไทยในปี พ.ศ. 2447 ณ งานนมัสการพระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร จึงนับเป็นยุคแรกของภาพถ่ายในประเทศไทย มีการบันทึกภาพต่าง ๆ ของสยามไว้เป็นจำนวนมาก โดยฝีมือของช่างถ่ายรูปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ภาพเหล่านั้นล้วนแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมทั้งศิลปะอย่างหาที่เปรียบมิได้ และหนึ่งในช่างภาพที่ได้สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ โรเบิร์ต เลนซ์ นั่นเอง
เนื่องจากเมื่อการถ่ายรูปเริ่มเป็นที่นิยมในราชสำนักสยามอย่างมากในรัชกาลที่ 5 จนแพร่หลายไปถึงขุนนาง ข้าราชการคนสำคัญในแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2437 โรเบิร์ต เลนซ์จึงได้ตัดสินใจพาคณะเข้ามารับจ้างถ่ายรูปในเมืองไทยเป็นการชั่วคราวที่บริเวณถนนโรงแรมโอเรียนเต็ล และในปี พ.ศ. 2439 เลนซ์และบริษัทจึงได้เข้ามาตั้งร้านถ่ายรูปถาวรที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทอง ซึ่งถือเป็นสาขาของร้านที่เมืองสิงคโปร์
เป็นที่ฮืออาในสมัยนั้นมาก เพราะร้านของเลนซ์มีกล้องและอุปกรณ์การถ่ายรูปที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาและจัดห้องภาพอย่างหรูหราทันสมัย
ก่อนเปิดให้บริการห้องภาพ เลนซ์ได้ติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิดภายในห้องรับรองของร้าน จนเป็นที่สนใจของคนที่สัญจรไปมา นอกจากนั้นยังได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์นานนับเดือน
ร้านโรเบิร์ต เลนซ์ ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการมาก และเป็นห้างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนั้น มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ชาวต่างประเทศ และพ่อค้าคหบดี เลนซ์ถ่ายรูปบุคคลต่าง ๆ ด้วยฝีมืออันยอดเยี่ยม ใช้ฉากประกอบที่ประณีต สวยงาม เทียบระดับได้กับห้องภาพชั้นหนึ่งของยุโรป
นอกจากนั้น เลนซ์ยังถ่ายภาพทิวทัศน์ สภาพบ้านเมือง การดำเนินชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายแง่มุม รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์การถ่ายรูป เช่น กล้องถ่ายรูป อัลบั้ม กรอบรูป กระจก น้ำยาล้างรูป รวมทั้งบัตรอวยพร โปสการ์ด และรูปถ่ายต่างๆ ฯลฯ
เหตุการณ์สำคัญในชีวิตช่างถายภาพผู้นี้คือ ในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เป็นครั้งที่ 2 ในคราวนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปถ่ายรูปที่ร้านของโรเบิร์ต เลนซ์ ในสิงคโปร์ ดังปรากฏในบันทึกพระราชกิจรายวันของพระองค์ ในหนังสือ “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” ความตอนหนึ่งว่า
“...วันนี้เป็นวันอาทิตย์ อยากใคร่นอนเสียจริงๆ แต่ไม่สำเร็จ กลับต้องตื่นเช้ากว่าทุกวันอิก เพราะวันข้างน่าไม่มีพอ ต้องไปถ่ายรูปที่มิสเตอร์เลนส์ ร้อนจนเกือบคลั่ง ได้ไปถึงสามโมงเศษ หาวนอนเป็นกำลัง เที่ยงแล้วจึงได้ไปกินข้าวกลางวันที่คลับ...”
หลังจากนั้น เลนซ์จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินเป็นเกียรติยศ เช่นเดียวกับช่างถ่ายรูปหลวงหลายคนที่เคยได้รับ และได้ดำเนินกิจการในเมืองไทยเป็นเวลานาน จนร้านของเขาได้รับการยอมรับและเชื่อถือมากในฐานะที่ทำงานได้ประณีต สวยงาม
ในคราวมีงานประชันรูปในปี พ.ศ. 2448 เลนซ์เป็นผู้ได้รับงานเข้ากรอบรูป ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ความตอนหนึ่งว่า “...เวลานี้กำลังชุลมุนกันไปทุกหนทุกแห่ง แต่ค่าปิดรูปทำกรอบอ้ายเลนซ์เห็นจะรวยสักร้อยชั่ง...” นอกจากนั้น เลนซ์ยังรับสั่งสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศให้แก่ราชสำนักอีกหลายแห่งด้วย
เมื่อดำเนินกิจการในเมืองไทยได้ 10 ปี เลนซ์ได้ขายกิจการร้านถ่ายรูปให้นายอีมิล กรูต (Emil Groote) และนายซี ปรุส (C. Pruss) ในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งทั้งสองได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2460 ร้านถ่ายรูปโรเบิร์ต เลนซ์ จึงถูกรัฐบาลสยามเข้ายึดทรัพย์เพราะเป็นร้านของคนเยอรมัน จึงปิดกิจการลงโดยปริยาย
ต่อมาปี พ.ศ.2461 รัฐบาลสยามจึงเข้ามาบริหารงานเป็นร้านถ่ายรูปหลวง ในชื่อร้าน ห้องภาพฉายานรสิงห์ ที่เป็นที่รู้กจักกันในชาวสยามชั้นหลังมานี้นั่นเอง ร้านนี้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2476
ทั้งร้านถ่ายรูปโรเบิร์ต เลนซ์ และห้องฉายานรสิงห์ ได้ฉายพระรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนางของไทยเอาไว้เป็นจำนวนมาก ภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณภาพดีเยี่ยมเทียบเท่าระดับสากล นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าของไทย
นิทรรศการพิเศษ “120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) และห้องภาพในสยาม” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 - 12 กรกฎาคมนี้ ที่ Open House Art Tower, Level 6, Central Embassy. เวลา 10.00 – 22.00 น. (วันศุกร์ และเสาร์ จัดแสดงถึง 24.00 น.) .