ติดอาวุธสายอาชีพให้เด็กไทย
พื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีความต้องการแรงงานภาคการเกษตรจำนวนมาก ทว่าหลักสูตรการศึกษาในพื้นที่กลับไม่สามารถตอบสนองตลาด ทั้งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งหลักสูตรการศึกษายังไม่เปิดทางเลือกสำหรับเด็กที่มีความสนใจและต้องการมีทักษะด้านการเกษตรอย่างจริงจัง
ถ้าคุณมีลูก คุณจะอนุญาตให้บุตรหลานเล่าเรียนใน ‘สายอาชีวะ’ ไหม?...
ไม่อาจตัดสินใจ สรุป หรือชี้แนะว่าคำตอบในใจคุณเป็นสิ่งผิดหรือชอบได้ หากโมเดลจัดการศึกษาเชิง ‘พื้นที่’ ในจังหวัดสุรินทร์ ‘เลือก’ การฝึกอาชีพระยะสั้น และร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพในตำบลต่างๆ กว่า 172 แห่ง เป็นแหล่งพึ่งพิงและเป็น ‘ทางเลือก’ ให้กับเด็กที่เดินออกจากห้องเรียนกลางคัน
เฉพาะฐานข้อมูลด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ ปีการศึกษา 2559 รายงานว่า ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 3-17 ปี มีผู้อยู่ในสถานศึกษาจำนวน 268,396 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กราว 29,537 คน หรือกว่าร้อยละ 11 หายออกไปจากระบบ
เหตุผลในการเดินออกจากห้องเรียนของเด็กอาจเป็นได้หลายทาง จากคำบอกเล่าของกลุ่มคนทำงานตั้งแต่ระดับท้องที่กระทั่งคนทำงานระดับนโยบายชี้คล้ายกันว่า ‘ความยากจน’ ส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องอพยพเข้าไปทำงานในเมืองหลวง แรงงานซึ่งมีอีกหนึ่งบทบาทคือเป็นพ่อและแม่ต้องทิ้งลูกหลานให้ปู่ย่าตายายดูแล สำทับด้วยหลักสูตรการศึกษาในระบบที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของบริบทและอาชีพของคนในพื้นที่
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องเดินหายออกจากห้องเรียน
ปัญหาเด็กออกกลางคันไม่เพียงเกิดจากวัยว้าวุ่นของตัวเด็กเอง แต่ผูกร้อยตั้งแต่ความยากจน เมืองโตเดี่ยว และหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ผูกอิงกับความอยากรู้ของชุมชน เป็นโจทย์หนึ่งที่คณะทำงานด้านการศึกษาของจังหวัดสุรินทร์พยายามจะขับเคลื่อน
เป้าแรกคือ ติดอาวุธทางอาชีพให้กับเด็กที่ออกจากระบบ เป้าหมายที่ไกลกว่าคือการเปลี่ยนค่านิยม เสนอทางเลือกทางการศึกษาที่หลากหลายยิ่งขึ้น
ฟังเสียงของเยาวชนให้พวกเขาอธิบาย...
เสียงที่ 1: จักรฤทธิ์ ทองเกิด
สถานะ: เรียนจบ ม.3 แต่ไม่ได้ศึกษาต่อ จากนั้นได้รับการสนับสนุนให้เข้าฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น สาขาช่างยนต์ วิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ ปัจจุบันเป็นนักศึกษา ปวช. ปี 2 แผนกช่างกล
“ผมจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ไม่ได้เรียนต่อ เพราะฐานะทางบ้านไม่สู้ดี เลยหยุดเรียนไป 2 ปี เพื่อช่วยทางบ้าน หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านมาชวนให้ผมเข้าอบรมวิชาชีพระยะสั้น สาขาช่างยนต์ แล้วเกิดความสนใจ เลยอยากเรียนต่ออย่างจริงจัง คิดนานมากตอนจะกลับไปเรียน กลัวที่บ้านไม่พร้อม แต่อาจเพราะได้ทุนการศึกษา ทางบ้านเลยสนับสนุนให้กลับไปเรียนต่อ”
ขณะนี้ จักรฤทธิ์ เรียนและฝึกงานที่สถานประกอบการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แห่งหนึ่ง หลังจากเรียนเฉพาะทฤษฎีตลอดหนึ่งปีในห้องเรียน ปีที่สองในสถานะนักเรียนอีกครั้ง เขาต้องฝึกงานและรับงานซ่อมเป็นครั้งคราวอยู่บ้าง
และที่จักรฤทธิ์เล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านเดินไปหาและชักชวนให้เขาอบรมระยะสั้นนั้น
"ปิติพงษ์ พงศธรวิวัฒน์" ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ อธิบายว่า เริ่มต้นจาก อบจ.สุรินทร์ ได้ติดต่อให้ทางวิทยาลัยจัดหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น กลุ่มเป้าหมายคือเด็กที่ออกจากโรงเรียนแต่ละพื้นที่ จึงประสานต่อไปยังผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ในการคัดกรองเด็กๆ และชักชวนให้เข้ามาเรียน หลักสูตรระยะสั้นที่ว่าคือ คอร์ส 75 ชั่วโมง มีตั้งแต่วิชาทำขนม เรื่อยไปยังวิชาเครื่องยนต์ และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว เด็กๆ จะได้ใบประกาศนียบัตรประกอบอาชีพชั้นต้นให้
เสียงที่ 2: เกมส์-วีรพล หมื่นราม
สถานะ: ลาออกกลางคันขณะเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนหนองอียอวิทยา จากนั้นเข้าค่ายยุวโพธิชน จนได้รับการสนับสนุนให้ฝึกอาชีพ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นช่างตัดผม และได้รับอุปกรณ์ตัดผมชุดหนึ่งเพื่อประกอบอาชีพต่อไป
“ตอนที่เรียนผมไม่ได้วางแผนอะไร ไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร” ขณะนั้นเกมส์-วีรพล กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากตัดสินใจลาออกก่อนจะเรียนจบ เหตุเพราะติดเพื่อน ไม่มีจุดหมาย และใช้ชีวิตตามสูตรวัยรุ่นทั่วไปที่หันเข้าหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกไปทำกิจกรรมแข่งขันความเร็วบนท้องถนนกับเพื่อนร่วมแก๊ง
“จากนั้นพี่สมเกียรติมาชวนให้ผมเข้าค่ายยุวโพธิชน ค่าย 15 วัน แต่ค่าย 15 วัน เหมือน 15 เดือน ผมได้แรงบันดาลใจ มีแรงกระตุ้น แรงผลักดัน มีคนให้กำลังใจ เลยอยากจะทำให้มันสำเร็จ”
"สมเกียรติ สาระ" หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เล่าวิธีการทำงานในพื้นที่ให้ฟังว่า เขาเริ่มการทำงานจากทีม ‘คณะทำงานโรงเรียน’ ดึงกลุ่มผู้ปกครองและเด็กๆ ในพื้นที่มาประชุมและดูว่า ปัญหาในพื้นที่คืออะไร เมื่อได้โจทย์ ‘การศึกษาเชิงพื้นที่’ มา เขาจึงออกแบบการทำงานด้วยการจัดตั้งค่าย เพื่อชวนเด็กๆ มารวมตัวกันและถามไถ่ว่า ความฝันของพวกเขาจริงๆ คืออะไร และหาทางสนับสนุนให้ไปถึงฝั่งฝัน
“หลักสูตรวิชาชีพที่มีอยู่ตอนนี้คือ วิชาซ่อมเครื่องยนต์พื้นฐาน การทำเกษตร และหลักสูตรตัดผม ทั้งหมดนี้คิดขึ้นจากความต้องการของเยาวชน เพราะถ้าเราเลือกให้ บางทีไม่ใช่ตัวเขา”
หลังจากเข้าค่าย เกมส์เข้าห้องเรียนวิชาตัดผม และขณะนี้เขากำลังปรับปรุงลานหน้าบ้าน สร้างเพิงเล็กๆ และเตรียมลงเสาก่อปูน เขากำลังสร้างห้องตัดผมเล็กๆ หน้าบ้าน
“ผมอยากเป็นช่างตัดผม” เกมส์ยืนยันคำเดิมอีกครั้ง
เสียงที่ 3: อี้-สุรชัย ด้วงโท
สถานะ: จบชั้น ม.6 โรงเรียนหนองอียอวิทยา เป็นแกนนำเยาวชนด้านเกษตรกรรมให้กับเด็กๆ ทั้งในและนอกระบบได้เข้ามาเรียนรู้ ทั้งเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์และการทำตลาด ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์
‘วิมานดิน’ คือแปลงเกษตรที่ อี้-สุรชัย อธิบายว่าคือพื้นที่ที่ให้เด็กทั้งในและนอกระบบเข้ามาเรียนรู้และทดลองร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์ไปจนถึงวิธีการวางขาย การทำตลาด
วุฒิการศึกษาของอี้คือ มัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาตัดสินใจไม่แอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยตั้งใจทำงานบนผืนนาของตัวเอง
“เริ่มทำวิมานดินตอน ม.5 ตอนแรกแค่อยากจะถางที่ดินตรงนี้เพราะรกมาก จากนั้นก็ค่อยๆ เพาะปลูกไปเรื่อย และเพราะพ่อแม่ผมทำนาอยู่แล้วเลยสนใจด้านนี้ ค่อยๆ ปลูกจากต้นอ่อนทานตะวันแล้วก็ค่อยพัฒนามาเรื่อยๆ กลายเป็นข้าวโพดหรือพืชผักพันธุ์อื่นๆ”
อี้เล่าว่า เขาโตมากับการทำเกษตร มีสวนยางอยู่หน้าบ้าน จึงอยากเป็นเกษตรกรอาชีพ หากจำนวนชั่วโมงในวิชาเกษตรหรือการงานอาชีพอาจไม่เพียงพอต่อเสียงเรียกร้องจากต้นอ่อนของต้นพืชในแปลงวิมานดิน
วิมานดินไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กที่ออกนอกระบบ หากมาจากเด็กในระบบที่อยากฝึกวิชาในอาชีพที่ตัวเองอยากเป็น แผ้วถางทางและขอความสนับสนุนจากโรงเรียนหนองอียอวิทยาลัย และ อบต. เพื่อเป็นแปลงโมเดลให้เด็กที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพื้นที่
มาฟังเสียงของผู้ใหญ่ วิธีการที่เขาจะสนับสนุน
"อรรถพร สิงหวิชัย" ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ยกระดับภารกิจเรื่องการศึกษาให้เป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดแล้ว ทุกส่วนราชการจะต้องประสานงานร่วมกัน เพื่อชักชวนให้เด็กกลับเข้ามาในสถานศึกษา โดยจะเน้นหนักด้านการฝึกฝนอาชีพ เนื่องจากสุรินทร์มีวิทยาลัยการอาชีพจำนวนมาก รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัว สามารถหาเลี้ยงชีพได้ นอกเหนือจากมีความรู้ด้านวิชาการ
“ในเรื่องนโยบายการสนับสนุน เราพยายามประชุมร่วมกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอาชีพให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่เราจะผลิตให้เด็กได้มีงานทำได้” ผู้ว่าฯสุรินทร์ กล่าว
และเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรทุกคนต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเป็นที่มาของแผนโครงการ ในชั้นแรกคือคัดกรองเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคันก่อนจบชั้น ม.3 ขั้นต่อมาคือการจัดหลักสูตรอบรมให้เด็กที่จบการศึกษาชั้น ม.3 แต่ไม่ได้เรียนต่อ ให้มีทักษะวิชาชีพเป็นอาวุธติดตัว
เครื่องมือแรกที่จังหวัดสุรินทร์นำมาใช้คือ ‘ระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน’ ที่สะท้อนข้อเท็จจริงและสามารถนำมาใช้ร่วมกันทั้งจังหวัด หลังจากนั้นคือตั้งทีมขับเคลื่อนการทำงานไว้ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการระดับพื้นที่ โดยมีการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคส่วน เรียกว่า ‘เครือข่ายความร่วมมือปัญจภาคี’
เครือข่ายความร่วมมือปัญจภาคี ประกอบด้วย
1. เด็กและผู้ปกครอง
2. ท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)
3. หน่วยจัดการศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัยการอาชีพ กศน.)
4. หน่วยสนับสนุนการศึกษา (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
5. ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน มูลนิธิ สภาเด็กและเยาวชน สถานประกอบการ
ส่วน "ไกรศักดิ์ วรทัต" ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ขยายความคำว่า ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ไว้ว่า คือการจัดหลักสูตรการศึกษาที่ตั้งต้นมาจากสภาพบริบทสังคม ธรรมชาติการทำงานของชุมชน และสภาพแวดล้อมเฉพาะทางของจังหวัด
ปลัดไกรศักดิ์ชี้เหตุผลด้านความต้องการในตลาดแรงงานว่า พื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีความต้องการแรงงานภาคการเกษตรจำนวนมาก ทว่าหลักสูตรการศึกษาในพื้นที่กลับไม่สามารถตอบสนองตลาด ทั้งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งชี้ว่าหลักสูตรการศึกษายังไม่เปิดทางเลือกสำหรับเด็กที่มีความสนใจและต้องการมีทักษะด้านการเกษตรอย่างจริงจัง
ถ้าวิเคราะห์ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสุรินทร์กับตลาดแรงงาน จะพบว่ าโครงสร้างเศรษฐกิจสุรินทร์ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรถึงร้อยละ 18 ขณะที่แรงงานในสุรินทร์ร้อยละ 85 มีระดับการศึกษาไม่เกินชั้น ม.3 ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของแรงงานว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้งการจัดหลักสูตรในปัจจุบันตั้งแต่แรกเริ่มจนถึง ม.3 ก็ไม่มีวิชาด้านทักษะอาชีพอะไรมากนัก
การแก้ปัญหาด้วยการเปิดหลักสูตรอบรมวิชาชีพระยะสั้นให้กับเยาวชนที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อ อาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาชั้นต้น อย่างน้อยก็ติดอาวุธด้านอาชีพให้กับเยาวชน และอาจเป็นประตูแง้มให้ทางเลือกด้านการศึกษาที่มากไปกว่า ‘การต้องเรียนสายสามัญ’ และกลับไปทำความเข้าใจกันใหม่ว่า
ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการและชอบเรียนสายวิชาการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อาชีวะอาจเป็นคำตอบหนึ่งในใจของเด็กหลายๆ คน