โฆษกกระทรวงฯ ชี้แจงกรณีการถ่ายทอดเทคโนโลยี รถไฟความเร็วสูงไทย - จีน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า กรณีสื่อมวลชนได้เสนอข่าว ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการไปสัมมนาที่ประเทศจีน เรียนรู้เรื่องระบบราง พร้อมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งบุคคลากรฝ่ายปฏิบัติการจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมจำนวน 25 คน และมีข่าวว่าทางกระทรวงคมนาคมได้นำผลส่วนหนึ่งจากการสัมมนานี้เป็นแผนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากจีนสู่ไทย ซึ่ง ผศ.ดร.ประมวลฯ ได้ตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 1. เป็นการสัมมนาที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ บางครั้งเป็นการบรรยายแบบฆ่าเวลา และพาท่องเที่ยว 2. หากรัฐบาลนับกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และสะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่แบบนี้
กระทรวงคมนาคมได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แล้ว และชี้แจงประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับบุคลากรด้านระบบราง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ดังนี้
กระทรวงคมนาคม ได้เตรียมการรองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างประเทศไทย และรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง สาระสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ คือ เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน ดังนี้
1. การดำเนินการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสาระสำคัญประการหนึ่งของบันทึกความเข้าใจ (MOU) กำหนดให้ฝ่ายจีนจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและพัฒนาด้านระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ส่งบุคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปฝึกอบรมที่ประเทศจีน จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 40 วัน รวมจำนวน 80 คน เพื่อให้บุคลากรของ รฟท. มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน การบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง และการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั่วไป
2. ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงให้แก่บุคลากรไทยแบบให้เปล่า เพื่อให้บุคลากรไทยได้มีองค์ความรู้ด้านระบบรถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่ปี 2558 ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 170 คน และล่าสุดได้จัดให้มีการฝึกอบรมในหัวข้อ 2017 Seminar on Railway for Thai Lecture โดยกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาคัดเลือกผู้แทนไทยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านระบบราง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการฝึกอบรมและสัมมนาดังกล่าว จำนวน 25 คน ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้นำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม โดยกำหนดให้มีบุคลากรไทยปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการออกแบบรายละเอียด สัญญาการความควบคุมงานก่อสร้าง และสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องเตรียมงานอย่างเป็นระบบร่วมกันต่อไป