“มลาบรี”กลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ กับปรากฎการณ์ช็อกทางวัฒนธรรม
“ลูกจ้างรายปี ค่าแรงแค่ 5-6 พันบาทต่อปี หมายถึงอาหาร ข้าวสาร เกลือ หมู ถูกหักจากค่าแรงหมดเลย รวมแล้วปีหนึ่งอาจได้ค่าแรงแค่ 1-2 พันบาทเท่านั้น นอกจากนั้นพี่น้องมลาบรียังมีการไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาลงทุนอย่างอื่นๆ อีก จึงไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้สินได้เลย”
“มลาบรี” กลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็ก หรืออาจเรียกได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบของสังคมไทย แต่เดิมอาศัยอยู่ในป่าแถบจังหวัดน่านและแพร่ แต่ด้วยนโยบายของรัฐที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ต้องอพยพย้ายพี่น้องมลาบรีมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอย่างมีหลักแหล่ง
มลาบรี ภูฟ้า : ส่งเสริมปลูกผักหลังบ้าน
อรัญวา ชาวพนาไพร หรือ “ติ๊ก” อายุ 30 ปี ชาวมลาบรีคนแรกที่ศึกษาจนจบระดับปริญญาตรีได้สำเร็จ ในสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เธอเตรียมเข้ารับพระราชทานปริญญาเดือนสิงหาคมนี้ ให้ข้อมูลถึงชนเผ่ามลาบรีชุมชนภูฟ้าโยกย้ายมาจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมื่อปี 2551 และได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตอุทยานดอยภูคา หมู่ 3 ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ปัจจุบันมี 19 ครัวเรือน ประชากร 78 คน
ชุมชนแห่งนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่ามลาบรี” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กับชาวมลาบรีในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เพื่อการปรับตัวในอนาคต โดยมอบหมายให้หน่วยจัดการต้นน้ำ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนบ่อเกลือดำเนินงานประจำในชุมชน
แม้มลาบรีภูฟ้า จะมีการประกอบอาชีพปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ตามที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริม แต่ด้วยชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานดอยภูคา ทำให้มีพื้นที่ในการเพาะปลูกจำกัด พืชผักไม่เพียงพอต่อการบริโภคชาวบ้านต้องซื้อจากข้างนอก กอรปกับสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าป่าหาอาหารนานขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหา และเห็นพ้องต้องกันที่จะทำ โครงการส่งเสริมเกษตรหลังบ้านความพอเพียงชุมชนภูฟ้า (มลาบรี) มีศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) เป็นพี่เลี้ยง และ สสส.ให้การสนับสนุน
“มลาบรีภูฟ้า เริ่มทำการเกษตร ซึ่งเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่มลาบรีเพิ่งเรียนรู้ นอกนั้นก็มีการทำหัตถกรรม ทำกระเป๋าจากเถาวัลย์ป่า รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่า ขณะที่งานรับจ้างส่วนใหญ่ทำกับอุทยานฯ เช่น การปลูกป่า 19 หลังคาเรือนเราพยายามเรียนรู้ปลูกพืชผักเพื่อกินกันเอง ทั้งปลูกผักบุ้ง กวางตุ้ง ถั่วฟักยาว ฟักทอง ในแปลงผักรวม รวมถึงปลูกผักพื้นบ้านที่มลาบรีชอบกินเอาไว้ด้วย ที่เหลือก็นำออกจำหน่ายตามตลาด เราพยายามให้รุ่นลูกได้เรียนรู้ไปด้วย ส่วนผู้ชายก็มีหน้าที่เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู”
“ติ๊ก” บอกว่า ชาวเผ่าของเธอเราเรียกตัวเอง มลาบรี คือคนป่า ส่วนตองเหลืองไม่รู้ความหมายคืออะไร มลาบรีเองพยายามเข้ากับสังคม
"มลาบรีทั้งหมด 435 คนทั้งที่อยู่อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอเวียงสา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน เราอยากให้พี่น้องเรามีชีวิตที่เหมือนเรา จึงพยายามสร้างที่นี่ให้เป็นครอบครัว เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ ซึ่งเราก็เข้าใจหลายแห่งมลาบรีไม่มีเวลา เพราะต้องรับจ้างเขาไปเรื่อยๆ”
เธอเล่าให้ฟังด้วยว่า สิ่งที่เธอกำลังทำกับพี่น้องมลาบรีภูฟ้านั้น คือ พยายามให้เขารู้ตัวตนเขาก่อน เดิมมลาบรีมีอะไรก็จะแบ่งปันให้หมดเลย มีอะไรก็จะกินวันนี้ให้หมด โดยไม่รู้ต้องวางแผนอย่างไร หากอาหารที่ใกล้ตัวยังไม่รู้จักวางแผนแล้วจะดำเนินชีวิตได้อย่างไร แม้จะมีหน่วยงานมากมายเข้ามาเขาก็ไม่เข้าใจ เช่น เข้าป่ามา กินมื้อต่อมื้อ วิถีเก่าแบบนี้ทำให้มลาบรีเหนื่อยมาก”
มลาบรี ห้วยหยวก : เพิ่มทักษะชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ไข่
อีกวิถีชีวิต ที่บ้านห้วยหยวก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีชนเผ่ามลาบรีลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ 32 หลังคาเรือน ประชากร 182 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และคนชรา แม้จะมีที่ดินทำกิน มีพื้นที่แบ่งเป็นสุสานรวมทั้งหมดน 7 ไร่ แต่ด้วยจำนวนคนในชุมชนที่มากทำให้พี่น้องมลาบรีหมุนเวียนกันให้แต่ละครอบครัวทำกินในแปลงดังกล่าว
ปีไหนยังไม่ถึงคิวก็ต้องไปเช่าที่ดินทำกิน หรือไม่ก็ต้องไปขายแรงงานเป็นแรงงานรายปี
“ศักดา แสนมี่” ผู้อำนวยการ IMPECT บอกว่า ชนเผ่ามลาบรีบ้านห้วยหยวกเกิดการช็อกทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ด้วยวิถีดั่งเดิมเคยอาศัยและหากินกับป่าอย่างพอเพียง ไม่มีการกักตุนอาหาร ต้องการแค่ไหนก็เสาะหาแค่นั้น และย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ด้วยนโยบายรัฐทำให้เขาต้องมาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง
“เด็กและวัยรุ่นอาจปรับตัวได้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเข้าสู่ระบบโรงเรียน เมื่อเรียนจบก็ทำงานข้างนอกถูกระบบการศึกษาและสังคมดูดกลืนจนมองไม่เห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ตนเอง ขณะที่วัยแรงงานออกไปทำงานรับจ้างนอกถิ่น เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ส่งผลให้ขาดศักยภาพในการหาอาหาร ไม่รู้จักการเพาะปลูก การถนอมอาหาร
จากการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ของชนเผ่าทำให้ทราบว่า พวกเขาคิดถึงป่ามาก เมื่ออาศัยอยู่ในป่าไม่เคยรู้สึกหิวโหย อยากกินอะไรในป่ามีหมด เจ็บป่วยก็มียารักษาจากป่า แต่เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในชุมชนเป็นหลักแหล่ง วิถีชีวิตความเป็นอยู่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่มีอาหารธรรมชาติให้เก็บกิน แม้วัยแรงงานจะออกไปรับจ้างได้เงิน แต่ก็ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ติดหนี้แบบชดใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด”
สอดคล้องกับ “นิตยา หรือหมี” เจ้าหน้าที่ IMPECT ที่รับรู้ความยากลำบากของพี่น้องต่างชนเผ่า เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนว่า มีหน่วยงานต่างๆ พากันเข้ามาสงเคราะห์พี่น้องมลาบรี ทั้งนำวัว ควาย หมู ปลา มาให้ชนเผ่ามลาบรีเลี้ยงหวังให้พึ่งพาตนเองได้ แต่ด้วยวิถีดั้งเดิมมลาบรีไม่เพาะปลูกจึงขาดความรู้ในเรื่องกสิกรรม ยิ่งต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ถาวรก็เลียนแบบวิถีเพาะปลูกจากชุมชนรอบข้างอย่างไม่มีการวิเคราะห์ มีการใช้สารเคมีโดยไม่รู้วิธีป้องกัน เกิดปัญหาสุขภาพ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ชนเผ่ามลาบรีบ้านห้วยหยวกเจอกับภาระหนี้สิน กลายเป็นแรงงานรายปีให้ชุมชนใกล้เคียง เธอบอกว่า การที่พี่น้องมลาบรีซึ่งในอยู่ในวัยแรงงาน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ กลายเป็นลูกจ้างรายปีนั้นถือเป็นการฆ่ามนุษย์มากๆ
“ลูกจ้างรายปี ค่าแรงแค่ 5-6 พันบาทต่อปี หมายถึงอาหาร ข้าวสาร เกลือ หมู ถูกหักจากค่าแรงหมดเลย รวมแล้วปีหนึ่งอาจได้ค่าแรงแค่ 1-2 พันบาทเท่านั้น นอกจากนั้นพี่น้องมลาบรียังมีการไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาลงทุนอย่างอื่นๆ อีก จึงไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้สินได้เลย”
นี่คือความเจ็บปวดที่นิตยา บอกเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ เป็นระยะๆ ว่า ตลอด 4-5 ปีที่ทำงานมาเห็นหลายหน่วยงานเข้ามาบ้านห้วยหยวกจำนวนมาก แต่วันนี้อาจไม่ต้องช่วยแบบสงเคราะห์พวกเขาก็ได้ แต่ทำอย่างไรให้พี่น้องมลาบรีรู้เท่าทันคนข้างนอก ไม่ให้คนข้างนอกมาเอาเปรียบ
“ขุนน้ำดี ดอยศักดิ์ หิรัญคีรี รักษ์ไพร สุชนคีรี เจริญคีรีพนา เมลืองไพร” นามสกุลใหม่ของพี่น้องชนเผ่ามลาบรี ที่อาศัยบ้านหลังคามุงสังกะสีตั้งเรียงราย ผนังขัดด้วยไม้ไผ่สานกัน บางหลังอาศัยรวมกันถึง 3 ครอบครัว
หนุ่มสาวชนเผ่าต่างพากันบอกเล่าถึงความเจ็บปวดที่พวกเขาต้องเผชิญไม่แตกต่างกัน “สุริตา หิรัญคีรี” อายุ 23 ปี หนึ่งในครอบครัวที่ไปขายแรงงานรายปี เล่าว่า เธอและครอบครัวเป็นลูกจ้างรายปี สามีและเธอ 2 คน มีรายได้รวมกันปีละ 1 หมื่นบาท หรือตกคนละ 5 พันบาทต่อปี ถ้าวันไหนขาดงานจะถูกหักวันละ 200 บาท “งานหลักๆ ของพี่น้องมลาบรีไปช่วยนายจ้างซึ่งเป็นชนเผ่าม้ง คืองานประเภทพ่นยาฆ่าหญ้า ปลูกข้าวโพด ทำงานโดยไม่มีวันหยุด บางคนไปนอนที่ไร่เลย และมีทำช่วงเวลากลางคืนด้วย”
ไม่ต่างจาก "เปิ้ล" แม่ลูก 2 ที่มีรายได้ต่อปีราว 6 พันบาท ก่อนจะชี้ไปที่มอเตอร์ไซต์ของเธอที่จอดนิ่งอยู่
“พี่น้องม้งซื้อให้ มลาบรีไม่มีที่ทำกิน ที่ทำไร่นั้นนะก็เป็นที่ของม้งหมด สิ่งที่เสี่ยงอันตรายเขาจะใช้พี่น้องมลาบรีของเราทำ”
ส่วนรายได้อีกทางของเปิ้ล เมื่อว่างจากการทำไร่ เธอบอกว่า คือการถักกระเป๋าจากเถาวัลย์ ปัจจุบันวัสดุเริ่มหายากขึ้น ส่วนใหญ่จึงผลิตได้น้อย “แทบทุกหลังเรือน แม่บ้านส่วนใหญ่ถักกระเป๋าจากเถาวัลย์เป็น ได้เดือนละใบ”
สำหรับกระเป๋าย่ามจากเถาวัลย์ของชาวมลาบรี จดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) แล้ว ถือเป็นสิ่งที่หญิงชาวมลาบรีทุกคนต้องเรียนรู้และทำเป็น ด้วยการใช้แกนกลางของใยไม้ ที่เรียกว่า "ทะแปด" มาทำเป็นเส้นใยย้อมสีด้วยเปลือกไม้และรากไม้เพื่อให้เกิดความงดงาม
ขณะที่ แกนนำคนรุ่นใหม่ “ฉลองชัย ดอยศักดิ์” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยหยวก เขาตั้งความหวัง พร้อมฝันถึงอนาคตไม่อยากให้พี่น้องมลาบรีไปขายแรงงาน หรือเป็นลูกจ้างรายปี ค่าแรงน้อยนิด อย่างน้อยรับจ้างเป็นรายวันก็ยังดี หรือไม่ก็ให้มีอาชีพ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หากินเองได้
“ผมมาอยู่ที่นี่ 8-9 ปี อยู่อย่างนี้ไม่ไหวเห็นสภาพแล้ว ไม่ไหว อนาคตข้างหน้าไปไม่รอด แต่ก็ดีใจที่มีหลายหน่วยงานมาช่วยพี่น้องมลาบรี มีคนมาบริจาคช่วย เช่น ซื้อรถให้ 3.5 แสนบาท ใช้กันในหมู่บ้าน เพราะบางครั้งพี่น้องมลาบรีเจ็บป่วยไม่มีรถไปแจ้งเกิด หรือไปหาหมอ ผมก็ไปส่ง น้ำมันก็ออกกันเอง”
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้นำชุมชนพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ริเริ่มให้บางครอบครัวเลี้ยงหมูดำ บางครอบครัวก็ขอเมล็ดพันธุ์จากหมู่บ้านม้งนำมาปลูกในสวนหลังบ้าน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ได้จัดฝึกอบรมการเลี้ยงไก่ไข่มาแล้ว 1 รุ่น แต่เมื่อหมดงบฯ ไม่ได้เลี้ยงไก่ต่อ ผู้นำชุมชนจึงได้ทำประชาคมและพัฒนาโครงการส่งเสริมทักษะชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ในชุมชนห้วยหยวก (มลาบรี) ภายใต้การดำเนินงานของ IMPECT โดยได้รับสนับสนุนจากสสส. เน้นทักษะและกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นอาหารให้ชุมชน
ไก่ไข่ 50 ตัว กับการฟักไข่ระยะแรกได้ไม่กี่ฟอง แทบไม่เพียงพอสำหรับชนเผ่ามลาบรีบ้านห้วยหยวก 185 ชีวิต
"ครูน้อย หรือครูจารุภา พรหมเสนา" ครูกศน. โรงเรียนหนึ่งเดียวที่อยู่ท่ามกลางชุมชนมลาบรี บอกว่า พื้นที่ว่างๆ ของเล้าไก่ สามารถเลี้ยงไก่เพิ่มได้อีก ไก่ไข่ตัวละ 220 บาท 1 ตัวสามารถเลี้ยงได้ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ใครสนใจช่วยมลาบรีบ้านห้วยหยวกให้ได้กินอาหารครบมื้อ ได้โปรตีนมาเติมเต็ม ติดต่อไปได้ที่เบอร์โทรศัพท์ครูน้อย 087-0912453...
ครูน้อย ครูกศน.บ้านห้วยหยวก
นพ.บัญชา พงษ์พานิช พูดคุยเป็นกันเองกับพ่อฉลองชัย ผู้นำชนเผ่ามลาบรี
มลาบรี บ้านห้วยหยวก
มลาบรี ภูฟ้า