เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเหนือ ถกปัญหาป่าไม้ที่ดิน หาคำตอบชาวบ้านโดนคดีรัฐ
เวทีเสวนา “เครือข่ายป่าไม้-ที่ดินภาคเหนือ” ชาวบ้านเล่าโดนรังแกจากกฏหมายและกลไกรัฐที่ไม่เป็นธรรม อยู่กับป่ามานานกลับโดนคดีอาญาข้อหาบุกรุก รักษาป่าแต่โดนคดีแพ่งทำให้โลกร้อน ภาคประชาชนยังไม่มั่นใจนโยบายตั้งธนาคารที่ดิน-เร่งรัฐแก้ปัญหาที่ดินให้เสร็จในรัฐบาลนี้
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ จัดเวทีเสวนา"เครือข่ายป่าไม้-ที่ดินภาคเหนือ" ณ สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ สันติธรรม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดแนวทางภาคประชาชนต่อประเด็นปัญหาที่ดิน-ป่าไม้และคดีโลกร้อน อีกทั้งติดตามสถานการณ์การดำเนินคดีชาวบ้านในเขตป่าและการกระจุกตัวของที่ดิน
มีการนำเสนอสถานการณ์การดำเนินคดีชาวบ้านในเขตป่า การจับกุมคดีอาญาตามกฎหมายป่าไม้และการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยนายสุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ กล่าวว่า ก่อนปี 2541 ชาวบ้านถูกดำเนินคดีเรื่องการบุกรุกป่าไม้มาเรื่อยๆ จนปี2542 ชาวบ้านมีการต่อสู้คดีที่ดินเกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกฟ้อง อย่างเช่น คดีชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังจากที่มีการจับกุมชาวบ้านและถูกดำเนินคดีกว่า 40 ราย ชาวบ้านได้ต่อสู้คดีเรื่อยมา กรณีเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวบ้านและชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดการดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและทำให้โลกร้อน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการคำนวนเรื่องโลกร้อนนั้นใช้เกณฑ์วัดอย่างไร ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนตามหลักเหตุผลและไม่มีความเป็นธรรม คาดว่าอนาคตจะเกิดการฟ้องร้องจับกุมเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านมากขึ้น ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว
นายสุมิตรชัย กล่าวอีกว่า กรณีชาวบ้านถูกฟ้องร้องเรียกค่าความเสียหายจากการทำให้โลกร้อน เช่นคดีทำไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านต่อสู้จนได้รับชัยชนะโดยศาลยกฟ้องนั้น ศาลได้พิจารณาคดีดังกล่าวด้วยหลักการที่แท้จริง จากข้อมูลงานวิจัย จากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ว่าไร่หมุนเวียนไม่ทำลายป่า ชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า และไร่หมุนเวียนสามารถสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติหรือสอดคล้องกับธรรมชาติได้ เป็นต้น
ด้านนางคำใส ปัญญามี ตัวแทนชาวบ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตัวเองได้เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่มานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อปี 2541 ชาวบ้านในพื้นที่ถูกดำเนินคดีทำให้โลกร้อน ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 40 คน ที่ได้รับผลกระทบและถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีแพ่งด้วยแปลงละ 300,000 บาท แต่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จึงต้องปลูกต้นไม้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อต้นไม้ครบตามกำหนดระยะเวลา ก็ถือว่าคดีแพ่งหมดไป แต่คดีการบุกรุกป่าทางอาญายังคงมีอยู่ ซึ่งพวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย เพราะพื้นที่นี้อาศัยอยู่มายาวนานและไม่ใช่ผู้ทำลายป่าแต่รักษาป่า
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการกระจุกตัวของที่ดินกับมาตรการทางภาษี(ที่ดิน) และการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินว่า เมื่อ พ.ศ.2549 มีการสำรวจพบว่าร้อยละ 40 ของครัวเรือนในภาคเกษตร ชาวบ้านยังไม่มีที่ดินในการถือครอง จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขในการกระจายที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรหรือคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน การจัดตั้งธนาคารที่ดินเป็นวิธีหนึ่งที่รัฐพยายามพลักดันให้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา ซึ่งทางด้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินพยายามดันร่างผ่านมติคณะรัฐมนตรี ที่สุดคือเข้าสู่กระบวนการเป็นพระราชกฤษฎีกาและจัดตั้งในรูปแบบองค์การมหาชน ภายใต้ความดูแลของรัฐบาล โดยทำการรวบรวมข้อมูลที่ดิน เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการใช้ที่ดิน อีกทั้งหากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ให้ดำเนินการจัดเป็นโฉนดชุมชน และนำภาษีที่ดินที่เก็บได้มากระจายให้กับประชาชนที่เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาคประชาชนยังมีความกังวลกับนโยบายจัดตั้งธนาคารที่ดินของรัฐบาล หากรัฐบาลเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างแท้จริง รัฐต้องกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการตัวเอง อีกทั้งการร่าง พ.ร.บ.ต่างๆชาวบ้านยังไม่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร ซึ่งแท้จริงแล้วชาวบ้านเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินโดยเร็วในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการเสวนาครั้งนี้ยังมีต่อเนื่องถึงวันที่ 19 ส.ค. 53 ณ วัดท่าหลุก ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์ วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนร่วม กับชาวบ้านในครั้งนี้ด้วย.
ที่มา : http://prachatham.com/detail.htm?code=n1_19082010_01