เปิดข้อมูลใบมรณบัตร คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน1.5 หมื่นคนต่อปี
สสส.ผนึกภาคี รณรงค์ต้านพฤติกรรม“ดื่มแล้วขับ” เปิดข้อมูลใบมรณบัตร คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน 1.5 หมื่นคนต่อปี พบ 1 ใน 4 มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง อึ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับกว่า 49 ราย
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดเวทีถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ของผู้ก่อเหตุและผู้ได้รับผลกระทบ ในเวทีเสวนาหัวข้อ “โศกนาฏกรรมดื่มแล้วขับ ถอดบทเรียนสองฝ่าย(ผู้ก่อเหตุ–ผู้สูญเสีย)...ปัญหาและทางออก" ทั้งนี้ มีการเดินรณรงค์และแจกสื่อประชาสัมพันธ์ ต่อต้านพฤติกรรมดื่มแล้วขับบริเวณป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ฯ
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลใบมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือประมาณ15,000 รายต่อปี ในส่วนนี้มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้องสูงถึง 1 ใน 4 หรือ 20-25% ขณะที่ยอดการเสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ย 40 รายต่อวัน 1 ใน 4 มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อถูกคนเมาขับรถชน สะท้อนจากข่าวที่ได้เก็บรวบรวมในรอบ 3 ปี พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกลายเป็นเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 49 ราย
นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุเมาแล้วขับเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 34% เพิ่มเป็น 43% เสียชีวิต 32% จากเดิม 17% ที่น่าห่วงคือมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 1,674 ราย หรือวันละ 239 ราย ชี้ให้เห็นว่า แอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยร่วมทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี
"สิ่งที่เป็นปัญหาคือมาตรการตรวจจับยังมีข้อจำกัด รวมถึงการดำเนินคดียังมีช่องว่าง เช่น โทษจำคุกแล้วรอลงอาญา อีกทั้งทัศนคติของคนไทยยังมองว่าดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ ที่น่าห่วงที่สุดคือ ปัจจุบันมีการสร้างเครื่องมือเช็คจุดเพื่อหลีกเลี่ยงจุดตั้งด่าน หรือการต่อรอง การถ่วงเวลา เพื่อไม่ให้ถูกจับดำเนินคดี แนวทางคือ ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น เร่งปรับปรุงระบบความผิด มีมาตรการทางสังคมเพื่อจะได้ไม่กล้าทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก รวมถึงกำหนดการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งบนถนน และขณะเกิดอุบัติเหตุ ส่วนมาตรการระยะยาว เมื่อเมาแล้วขับต้องไม่ใช่เรื่องประมาท แต่ควรถือว่าอันตรายและมีบทลงโทษที่รุนแรง ต้องไม่รอลงอาญา เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีโทษจำคุก 20 ปี " นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นายวิชาญ นายสอง อายุ 59 ปี ชาวจังหวัดเพชรบุรี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง กล่าวถึงบทเรียนชีวิตที่เคยก่อเหตุดื่มแล้วขับว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คือ ตนเองดื่มสุราแล้วขับรถชน ด.ต.อนุศักดิ์ ขมิ้นทอง ผู้บังคับการหมู่ สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บขาซ้ายขาด กระทั่งถูกตำรวจดำเนินคดีขอหา เมาแล้วขับและขับรถโดยประมาท จำคุก 2 ปี รอลงอาญา ปรับหมื่นกว่าบาท และได้เสียค่ารักษาพยาบาลพร้อมชดเชยค่าเสียหายรวมแล้วกว่า 2 ล้านบาท ตอนนั้นไม่คิดหนี หรือคิดต่อสู้ในทางคดี ยอมรับสภาพทุกอย่างไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะผิดมาก
“จริงๆ คนที่ควรเจ็บต้องโดนตัดขาควรเป็นผม เพราะผมเป็นผู้กระทำ ผมเมาแล้วขับ ผมประมาทเอง ช่วงที่ไปเยี่ยมและเห็นสภาพพี่เขาที่โรงพยาบาล ผมรู้สึกผิดและเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่คิดว่าการดื่มแล้วขับจะส่งผลกระทบกับคนอื่นและครอบครัวรุนแรงขนาดนี้ ลูกเขาก็ยังเรียน ลูกผม 2 คน ก็ยังเรียน เงินทองที่มีต้องหมดไป หนี้สินภาระต้องเพิ่มขึ้น ต้องกู้เงินนอกระบบ เป็นช่วงที่ลำบากและขัดสนที่สุดในชีวิต หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ดื่มแล้วขับเด็ดขาด ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับชีวิต อยากฝากเพื่อเป็นบทเรียนเตือนสติไปยังผู้ที่ดื่มแล้วขับ ขอให้เลิกคิดว่าไม่เมายังขับไหว เพราะมันจะสร้างความความสูญเสียให้ผู้อื่นและตัวเอง คนในครอบครัว อีกทั้งขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเด็ดขาด ส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายต้องแรงกว่านี้และจับจริง ติดคุกจริงถึงจะเอาอยู่" นายวิชาญ กล่าว
ขณะที่ ด.ต.อนุศักดิ์ ขมิ้นทอง ผู้บังคับการหมู่ สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ1ในฐานะเหยื่อผู้สูญเสีย พิการขาซ้ายขาดจากคนดื่มแล้วขับ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องถูกตัดขาซ้ายใส่ขาเทียม ส่วนขาขวาใช้เหล็กดามไว้ ส่วนภรรยาต้องออกไปค้าขายเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ซึ่งตนยังโชคดีที่หน่วยงานในสังกัดให้โอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม แม้ไม่ได้ไปอยู่ฝ่ายจราจร แต่จะมีหน้าที่ดูแลงานด้านเอกสารต่างๆ แต่ก็มีอุปสรรคเพราะเคลื่อนไหวช้า แต่ยังดีที่เพื่อนร่วมงานคอยช่วยเหลือในทุกๆด้าน
“สภาพจิตใจค่อยๆดีขึ้นเพราะได้กำลังใจจากครอบครัว คอยปลอบคอยดูแลไม่ทิ้งไปไหน แต่ก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้นได้ ถ้าไม่พิการคงช่วยเหลืองานด้านจราจรได้มากกว่านี้ อยากฝากถึงผู้ขับขี่บนท้องถนน ให้ตรวจสอบสภาพตัวเอง สภาพรถยนต์ วางแผนการเดินทาง ที่สำคัญดื่มไม่ขับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเองและผู้อื่น ขอให้คิดถึงผลที่จะตามมาใจเขาใจเราด้วย” ด.ต.อนุศักดิ์ กล่าว