3 ปี 179 ล้าน...โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล "พัง-ร้าง" อื้อ!
ปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอมาตลอดนั้น ยังคงมีประเด็นใหม่ๆ ถูกตรวจพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มตั้งแต่โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส งบประมาณกว่า 149 ล้านบาทที่มีการไปจ้างบริษัทล้มละลายมารับงาน ตามด้วยโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์กว่า 14,000 จุดทั่วสามจังหวัด ใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท แต่มีปัญหาติดๆ ดับๆ และชำรุดเสียหายจำนวนมากจนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งสอบ
นอกจากนั้นยังมีโครงการจัดซื้อและปรับปรุงโรงแรมร้างเป็นสำนักงานของ ศอ.บต. ใช้งบกว่า 263 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีสำนักงานอยู่แล้ว รวมถึงโครงการพาคนกลับบ้าน ที่บางปีใช้งบกว่า 100 ล้านบาท รับผิดชอบร่วมกันหลายหน่วยงาน แต่ชาวบ้านบางกลุ่มขอให้ยกเลิกโครงการ ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างปัญหาที่ถูกนำมาตีแผ่
ล่าสุดยังมีอีกโครงการหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนกันมาก นั่นก็คือโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งเมื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับไป 3 ปี ใช้งบประมาณสูงเกือบ 200 ล้านบาทเลยทีเดียว
โครงการนี้ใช้ชื่อว่า “โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม” เป็นงบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว หากตีกรอบย้อนหลังเฉพาะ 3 ปีล่าสุด จะพบว่า ศอ.บต.ใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้ไปแล้ว 179.3 ล้านบาท
แยกเป็นปีงบประมาณปัจจุบัน คือปี 2560 มีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล จำนวน 51 สนาม ใช้งบประมาณ 63.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 2558 และ 2559 ใช้งบประมาณเท่ากัน คือปีละ 58 ล้านบาท ก่อสร้างปีละ 50 สนาม เฉลี่ยราคาค่าก่อสร้างแต่ละสนามอยู่ที่ 1,160,000 บาท เท่ากันเกือบทั้งหมด ยกเว้นโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ที่ใช้งบประมาณ 5.3 ล้านบาท โครงการนี้กระจายไปทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งอำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา
สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการ ทาง ศอ.บต.จะจัดสรรงบประมาณลงไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อจัดหาผู้รับเหมาและก่อสร้างกันเอง แต่การเลือกพื้นที่ก่อสร้าง มอบหมายให้สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาของ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานพิจารณาคัดเลือก โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากนายอำเภอและ อปท.ของแต่ละพื้นที่
ที่ผ่านมา "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนมากว่า สนามฟุตซอลที่มีการก่อสร้างนั้น จำนวนไม่น้อยที่พังเสียหายและถูกทิ้งร้าง พื้นยางหลุดร่อน จนไม่สามารถใช้งานได้ บางแห่งไปสร้างไว้ในทุ่ง ไม่มีทางเข้า-ออก และไม่มีใครเข้าไปเล่นฟุตซอล จนกลายเป็นสถานที่เลี้ยงวัว มีวัวและแพะของชาวบ้านเข้าไปนอน เช่น ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จนมีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังตรวจสอบและเก็บรวบรวมข้อมูลความไม่โปร่งใสอยู่
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า การสร้างสนามฟุตซอลให้มีมาตรฐาน ต้องมีความละเอียดและพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่, อุปกรณ์ที่นำมาใช้ โดยเฉพาะแผ่นยางพื้นสนาม ต้องเป็นแผ่นยางที่เกาะยึดได้ดี มีความยืดหยุ่น สีที่ใช้ทาพื้นสนามต้องทนแดด กันเชื้อรา และกันตะไคร่น้ำได้ ในกรณีที่ก่อสร้างกลางแจ้ง
เมื่อตรวจสอบดูโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม ปรากฏว่า ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้กำหนดสเปคงานก่อสร้างไว้ค่อนข้างละเอียดทุกขั้นตอน มีข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้ก่อสร้างอย่างชัดเจน เช่น ปูนซีเมนต์ ต้องใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (สำหรับงานก่อสร้างเท่านั้น) และได้รับจากการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.), ทราย ต้องใช้ทรายน้ำจืด มีกำหนดค่าความละเอียดเอาไว้ด้วย, หินและน้ำ ต้องเป็นหินและน้ำสะอาด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดสเปคคอนกรีต เหล็กเสริม วิธีการแต่งผิวหน้าคอนกรีตและดินลูกรังด้วย
อย่างไรก็ดี จากสภาพจริงของสนามฟุตซอลหลายๆ แห่งที่พบ จะมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือ พื้นยางหลุดร่อน, การปูพื้นยางมีรอยต่อ ทำให้การเล่นฟุตซอลอาจเกิดอันตรายได้ง่าย, สีลอก กระดำกระด่าง และไปเลือกก่อสร้างนอกชุมชน หรือในบริเวณที่ไม่มีใครสัญจรผ่านไปมา ทำให้สนามฟุตซอลถูกทิ้งร้าง
มีรายงานว่าขณะนี้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสนามฟุตซอลที่มีปัญหาในหลายพื้นที่ ถูกส่งไปถึงสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จ.ยะลา และได้มีการจัดคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบทุกจุดที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ปรากฏว่าพบปัญหาจริง แม้จะยังไม่มีมูลการทุจริต แต่ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพการก่อสร้างและการดูแลรักษาสนามฟุตซอลหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ, ปัญหาการทำความเข้าใจกับหน่วยงานผู้รับงบประมาณไปบริหารจัดการต่อ และยังสะท้อนปัญหาการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณด้วย
ขณะนี้จึงมีการเตรียมทำรายงานเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหา โดยเน้นไปที่โครงการที่เพิ่งได้รับงบประมาณในปี 2560 เพราะเพิ่งก่อสร้างเสร็จ แต่เริ่มมีปัญหาแล้วหลายๆ สนาม เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการของปีงบประมาณก่อนหน้าที่พบปัญหาเยอะมากแทบทุกพื้นที่
----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2 และ 4 สนามฟุตซอลที่มีปัญหาพื้นยางหลุดร่อน และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
3 กราฟฟิกแสดงสเปคของวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ก่อสร้าง
ขอบคุณ : สถานีโทรทัศน์ NOW26 เอื้อเฟื้อกราฟฟิก