กกร.ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง พร้อมเสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับ
เมื่อเร็วๆ นี้นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง ข้อคิดเห็นต่อปัญหาในภาคปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานขอคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ดังนี้
ตามที่ พระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 โดยพระราชกำหนดดังกล่าว เป็นการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานไว้ในฉบับเดียวกันกัน และครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทั้งนี้หลังจากบังคับใช้ จะยกเลิกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 นั้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์การดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การแก้ไขปัญหาสถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน จึงทำให้ต้องจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และออกกฎหมายพระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ซึ่งมีสมาชิกผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้วประเทศ ได้รับข้อเรียกร้องเรียนจาก สมาชิกสมาคมการค้า หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และสมาชิกผู้ประกอบการ ถึงปัญหาในการปฏิบัติตามพระราชกำหนด เนื่องจากพระราชกำหนดมีผลบังคบใช้ทันที และมีบทลงโทษที่สูงเกินไป จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่มวิถีชุมชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว เช่น แม่บ้านตามบ้านชุมชน ตลาดสด ลูกจ้างร้านค้าแผงลอยต่างๆ
ในการนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. พิจารณาเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว จึงขอนำเสนอข้อคิดเห็นต่อพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อประกอบการพิจารณาให้นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติได้ในทุกมิติและเป็นประโยชน์ของชาติ ดังนี้
1. ควรเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ ณ ศูนย์เบ็ดเสร็จด้านแรงงาน อีกครั้ง ตามระยะเวลาที่กระทรวงแรงงานเห็นสมควร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวปิดกฎหมาย ได้เข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
2. ควรพิจารณาให้มีผู้แทนภาคเอกชน (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.) เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับ เพื่อให้พระราชกำหนดสามารถปฏิบัติได้อย่างเห็นผล และไม่กระทบต่อสังคมการจ้างแรงงานต่างด้าวจนมากเกินไป
3. ควรให้มีการกำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
4. ควรมีการประชาสัมพันธ์พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อย่างเร่งด่วนในการให้ความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ประกอบการ ตลอดจนให้มีการตั้งศูนย์ในการให้คำปรึกษาของกระทรวงแรงงาน ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแรงงาน
ขอบคุณภาพจาก:http://www.thaipr.net และ http://lampang.mol.go.th