ชาวบ้านโวย กรมชลฯ แหกตาจัดเวทีรับฟังโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูน
ชาวบ้าน-นักสิทธิมนุษยชนโวย กรมชลฯสร้างภาพแหกตาจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูน ตั้งคำถามมีน้ำ แต่ระบบนิเวศน์และชุมชนโดนทำร้าย แล้วคนอีสานหายจนจริงหรือ ยกบทเรียนความทุกข์ยากจากโครงการพัฒนาลำน้ำพะเนียง ผวจ.บอกไม่เคยเห็นกรมชลฯลงพื้นที่ศึกษาตามอ้าง
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทื่าราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี กรมชลประทานจัดการประชุมโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชุมกลุ่มจังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู(ยุทธศาสตร์)ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบขั้นตอนการทำงาน แนวทางการศึกษา ทางเลือกของการพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยราชการต่างๆ นักวิชาการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวเข้าร่วมรับฟังน้อยมาก และผู้เข้าร่วมเวทียังตั้งข้อสังเกตว่าในการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอ และซักถามข้อสงสัยต่างๆ กรมชลประทานยังให้คำตอบได้ไม่กระจ่างชัดในหลายประเด็น
และขณะที่ผู้จัดการโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและสอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ต่างๆที่จะเกิดโครงการดังกล่าว เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์โครงการ นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ลุกขึ้นถามว่า “ไม่ทราบว่าทางกรมชลฯได้ลงไปในพื้นที่ตอนไหน เพราะหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่มีใครทราบมาก่อน ผมเองเป็นผู้ว่าฯก็ยังไม่ทราบ”
นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่า ลำน้ำลำพะเนียงเป็นบทเรียนความทุกข์ยากของประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำ ทุกวันนี้กรมชลประทานยังตอบไม่ได้ว่าขุดลอกพัฒนาลำพะเนียงแล้วชาวบ้านหายยากจนหรือไม่ แต่ระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายและการละเมิดสิทธิชุมชนยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ตอนนี้กรมชลฯยังจะมาจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการผันน้ำอีก โดยไม่เคยสรุปบทเรียนความเสียหายที่ผ่านมา ตนในฐานะที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกลำพะเนียงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูน และเสนอให้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในชุมชนหมู่บ้านหลายแห่งยังพอมีอยู่
นายปัญญา โคตรเพชร ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตั้งข้อสังเกตการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ว่า เป็นการผลาญงบศึกษา เพราะองค์ประกอบของการจัดงาน ขาดการมีส่วนร่วม และคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับงบศึกษา ทั้งๆที่รู้มาโดยตลอดว่าโครงการแบบนี้ไม่มีวันที่จะทำได้สำเร็จและต้องมีคนคัดค้าน ยกตัวอย่างโครงการโขง-ชี-มูน ทุกวันนี้ก็ล้มไม่เป็นท่า ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณหลายพันล้านไม่มีใครออกมารับผิดชอบ สิ่งต่างๆเหล่านี้ภาครัฐควรจะกลับไปทบทวนรอบด้านก่อนที่จะผลักดันต่อไป และที่กล่าวอ้างว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้เป็นการพูดเท็จทั้งสิ้น
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.)อีสาน กล่าวว่าเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่กรมชลประทานจัดขึ้นครั้งนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมแหกตาคนทั่วไปในสังคมว่าได้จัดรับฟังความคิดเห็น ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น ทั้งนี้การใช้เวลาแค่ 3-4 ชั่วโมงเป็นการรวบรัดตัดตอน และ SEA ที่กรมชลทานและบริษัทที่ปรึกษานำเสนอนั้นเป็นเส้นทางผันน้ำที่เลือกไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้น คือกรมชลได้ตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการจัดเวทีวันนี้จึงไม่มีความเป็นธรรม ยอมรับไม่ได้ และไม่สามารถกล่าวว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
“คำถามคือการที่อีสานมีน้ำแล้วจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่ ปัญหาดินเค็ม ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน หรือความไม่เป็นธรรมทางสังคมจะหมดไปหรือไม่ ไม่ใช่มีน้ำแล้วจะทำให้ปัญหาทุกอย่างหมดไปอย่างที่รัฐบาลและกรมชลประทานตั้งธงไว้ โดยไม่คิดจะศึกษาหรือสร้างความเข้าใจในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายสุวิทย์ กล่าว.