ปภ.วางระบบฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยยึดหลักพัฒนา-ปลอดภัยกว่าเดิม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวางระบบการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยตามหลักการพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Better and Safer) มุ่งสร้างประเทศไทยปลอดภัยยั่งยืน
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “การพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Bette and Safer)” โดยให้ผู้ประสบภัยมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟู คืนสภาพ และสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ด้วยการพัฒนาระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย เพื่อนำไปเป็นกรอบแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย พัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการด้านการฟื้นฟูสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยให้กลับมาประกอบอาชีพและดำรงชีพได้ตามปกติ เสริมสร้างแนวทางการฟื้นฟูที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม โดยประยุกต์ใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการวางแผนการฟื้นฟู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำในอนาคต ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้ “รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน”
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยถือเป็นกระบวนการสำคัญภายหลังจากที่ภัยพิบัติสิ้นสุด เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ใช้งานได้ตามเดิม และปรับสภาพแวดล้อมของชุมชนให้กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบและเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “การพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Better and Safer)” ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 โดยให้ผู้ประสบภัยมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟู คืนสภาพ และสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1.พัฒนาระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย โดยประเมินสภาพความเสียหายของพื้นที่ประสบภัยในมิติต่างๆ ทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สิน ระบบสาธารณูปโภค ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมในเชิงกายภาพ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมถึงการประเมินความต้องการในการฟื้นฟูของชุมชน เพื่อนำไป เป็นกรอบแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติหรือให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม
2.พัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการด้านการฟื้นฟู โดยวางแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย การเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประสบภัยกลับมาประกอบอาชีพและดำรงชีพได้ตามปกติ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัย การจัดตั้งกองทุนเงินกู้ยืม การลดหย่อนภาษี การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพและการลงทุน รวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย
3. เสริมสร้างแนวทางการฟื้นฟูที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม โดยมุ่งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมรับมือและฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว รวมถึงการประยุกต์ใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการวางแผนการฟื้นฟู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำในอนาคต เตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัย ครอบคลุมถึงการสาธารณสุข สุขภาพจิต และการบริการทางการแพทย์ ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย หรือพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยแบบถาวร สำหรับเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย เพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง และการสุขาภิบาลให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว และให้บริการประชาชนได้ตามปกติ บูรณะและปฏิสังขรณ์โบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวในช่วงที่ประสบภัย
ทั้งนี้ ปภ. มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยให้สามารถช่วยเหลือตนเองและดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่เกิดภัย รวมถึงพัฒนาระบบป้องกันภัยให้ดีขึ้นและปลอดภัยกว่าเดิม ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ประสบภัยในกระบวนการฟื้นฟู การคืนสภาพ และการสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเสียหายและความต้องการของผู้ประสบภัย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้ “รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.siamrath.co.th