สมาคมนักข่าวฯ ปฏิเสธร่วมเสวนากรรมาธิการสื่อ สปท.ถก “มาตรฐานกลางทางจริยธรรม”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันเดินหน้าปฏิรูปสื่อ ยึดหลักการกำกับ ดูแลกันเองโดยมีกฎหมายรองรับ แต่ไม่มีตัวแทนรัฐ พร้อมสนับสนุนผู้บริโภคสื่อให้ตื่นตัวใช้สิทธิ์ตามกฎหมายจัดการกับสื่อที่ขาดความรับผิดชอบ
นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงปฏิเสธคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตามคำเชิญให้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนา “คู่มือมาตรฐานกลางทางจริยธรรมของสื่อมวลชน” ในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...” ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานเรื่องนี้ ต่อที่ประชุมสปท.และได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว
นายปรัชญาชัย กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ และ 30 องค์กรวิชาชีพ เห็นด้วยที่ควรจะมีการปฏิรูปสื่อ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรสื่อกำกับ ดูแลกันเองด้านจริยธรรม อีกทั้งเห็นด้วยในการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ หรือ แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้ แต่สมาคมนักข่าวฯปฏิเสธที่จะให้การรับรองคู่มือมาตรฐานกลางทางจริยธรรมของสื่อมวลชน ที่อยู่ภายใต้ร่างกฎหมายอันมีเจตนาจะควบคุม บังคับ แทรกแซงเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน
“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกำลังพิจารณาจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษายกร่างกฎหมาย ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน รวมทั้งการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการทำงานของสื่อโดยไม่มีตัวแทนรัฐ ร่างกฏหมายในการกำกับ ดูแลสื่อ ควรเป็นร่างที่มีหลักการในการคุ้มครองและส่งเสริมการกำกับกันเองในด้านจริยธรรม ที่ไม่ใช่ให้อำนาจตามกฎหมายมาบังคับ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อได้แสดงเจตนารมณ์นี้กับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ดูแลร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว”
โฆษกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวย้ำว่า ภายใต้หลักการกำกับ ดูแลกันเอง มาตรการทางสังคมจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนผู้บริโภคควรตื่นตัว ที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายจัดการกับสื่อที่ขาดความรับผิดชอบ หรือปฏิเสธสื่อที่เสนอภาพและข่าวอันเป็นการละเมิดบุคคลอื่น สมาคมนักข่าวฯพร้อมสนับสนุนแนวทางที่จะให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจเป็นการรวมตัวของภาคประชาชน หรือจัดตั้งโดยรัฐในการติดตาม เฝ้าระวัง และดำเนินการทางกฎหมายกับสื่อที่ละเมิดจริยธรรมและกฎหมายอย่างจริงจัง