เหตุรุนแรง ก.พ.พุ่ง 64 ครั้ง ตาย-เจ็บ 118 ราย สูงสุดรอบ 4 เดือน หนองจิกระอุ
สถิติเหตุรุนแรงในรอบเดือน ก.พ.2555 ที่บันทึกโดยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พุ่งสูงถึง 64 ครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นเดือนที่มีเพียง 29 วัน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 9 ครั้ง
ยอดรวมเหตุรุนแรง 64 ครั้ง แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 52 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 9 เหตุการณ์ และวางเพลิง 3 เหตุการณ์ อย่างไรก็ดี ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่า เมื่อสอบสวนเบื้องต้นแล้วพบเป็นเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัว 17 ครั้ง คงเหลือเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ 47 ครั้ง
แม้จะแยกแยะเหตุส่วนตัวออกไปแล้ว ทว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่กระทบต่อความมั่นคงก็ยังสูงกว่าเดือน ม.ค.2555 อยู่ดี โดยเดือน ม.ค.มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 55 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 23 ครั้ง คงเหลือ 32 ครั้งที่เป็นเหตุความมั่นคง ซึ่งต่ำกว่าสถิติของเดือน ก.พ.ถึง 15 ครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด เหตุรุนแรงทั้งสิ้น 64 ครั้งตลอดเดือน ก.พ.นั้น เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี มากถึง 32 ครั้ง รองลงมาคือนราธิวาส 19 ครั้ง ยะลา 9 ครั้ง และพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 4 ครั้ง
ส่วนข้อมูลในระดับอำเภอ ปรากฏว่าอำเภอที่มีสถิติการเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.ปะนาเระ อ.เมือง อ.หนองจิก อ.มายอ และ อ.สายบุรี อำเภอละ 4 ครั้ง ส่วน จ.นราธิวาส มีเพียง อ.บาเจาะ ที่เกิดเหตุรุนแรงรวม 4 ครั้ง ขณะที่อำเภอเมือง จ.ยะลา ซึ่งเคยครองแชมป์เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดนั้น ในเดือน ก.พ.2555 เกิดเหตุเพียง 3 ครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุร้ายที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือกรณีทหารพรานยิงรถกระบะต้องสงสัยจนชาวบ้านสังเวยชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2555 นั้น ติดกลุ่มอำเภอที่มีเหตุรุนแรงถี่มากที่สุดด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีอำเภอที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดทั้งเดือน ได้แก่ อ.กรงปินัง อ.กาบัง อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา อ.ยี่งอ อ.แว้ง อ.เมือง และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่วน จ.สงขลา คือที่ อ.จะนะ
สำหรับสถิติความสูญเสียในรอบเดือน ก.พ.ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันมากถึง 118 ราย สูงที่สุดในรอบ 4 เดือน (นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 เป็นต้นมา) แยกเป็นบาดเจ็บ 72 ราย เสียชีวิต 46 ราย แบ่งตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
- ทหาร บาดเจ็บ 13 นาย เสียชีวิต 1 นาย
- ตำรวจ บาดเจ็บ 6 นาย เสียชีวิต 2 นาย
- อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) บาดเจ็บ 19 นาย เสียชีวิต 3 นาย
- อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
- ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 7 ราย
- ประชาชนผู้บริสุทธิ์ บาดเจ็บ 34 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ยอดรวมผู้สูญเสียนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ.2555 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,645 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,576 ราย นับถือศาสนาพุทธ 1,942 ราย ไม่ระบุศาสนา 127 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 8,264 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,605 ราย นับถือศาสนาพุทธ 5,158 ราย และไม่ระบุศาสนา 501 ราย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารคุมเข้มพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ภายหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดภายในโรงเรียนสามัคคี ต.ปะแต อ.ยะหา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)