ไทยเตรียมลงนามยอมรับระบบการจัดการพลังงานและการแข่งขันในตลาดโลก
ประเทศไทย โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2017 APLAC/PAC Joint Annual Meeting ระหว่างวันที่ 16 - 24 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการรับรองระบบงาน ที่จะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและยอมรับร่วมในผลการรับรองระบบงานของประเทศสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมลงนามการยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองสาขาระบบการจัดการพลังงาน สร้างความแข็งแกร่งของระบบการตรวจสอบรับรองของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม 2017 APLAC/PAC Joint Annual Meeting ว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Pacific Accreditation Cooperation – PAC) และองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation – APLAC) ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษภายใต้กรอบเศรษฐกิจเอเปค (APEC Specialist Regional Bodies) มาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อบรรลุถึงการยอมรับร่วมซึ่งกันและกัน (Mutual Recognition Arrangement – MRA) อันเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประชุมสามัญประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2560 นี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ สมอ. ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในนามของหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (National Accreditation Council – NAC) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2017 APLAC/PAC Joint Annual Meeting ระหว่างวันที่ 16-24 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการทำงานร่วมของประเทศสมาชิก เพื่อกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการรับรองระบบงานให้สมาชิกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการยอมรับร่วมในผลการรับรองระบบงานของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ประเทศไทยจะรับการตรวจประเมินระบบจากองค์การดังกล่าว เพื่อยืนยันขีดความสามารถของประเทศ และแสดงความเป็นผู้นำด้านการตรวจสอบและรับรองด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Pacific Accreditation Cooperation – PAC) ในครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการลงนามข้อตกลงการยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรอง (Multilateral Recognition Arrangement – MLA) ในสาขาระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) โดยมีสมาชิกที่ได้ร่วมลงนามเป็นกลุ่มแรก จำนวน 4 ประเทศ ประกอบด้วย SAC (สิงค์โปร) TAF (ไต้หวัน) JAB (ญี่ปุ่น) และ NSC (ไทย) ทั้งนี้ มีกำหนดการลงนามการยอมรับร่วมดังกล่าวในวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่จะถึงนี้
การเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมครั้งนี้ จะส่งผลให้การรับรองระบบการจัดการพลังงาน ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยใช้หลักการของความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันทางวิชาการของระบบการตรวจสอบและรับรองของประเทศคู่ค้าว่ามีระบบเป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงไม่จำเป็นต้องทำการตรวจสอบหรือรับรองซ้ำ ซึ่งประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนสินค้าในการส่งออกและนำเข้าระหว่างประเทศคู่ภาคี อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ และผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการปรับปรุงสมรรถนะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างอีกด้วย นอกจากนี้ การลงนามข้อตกลงการยอมรับร่วมในเรื่องดังกล่าว จะช่วยให้เกิดระบบการบริหารจัดการพลังงานที่ดี ทำให้ตัวเลขการรายงานเกี่ยวกับสมรรถนะพลังงานและการใช้พลังงานของประเทศมีความถูกต้อง ส่งเสริมการดำเนินงานการบูรณาการความร่วมมือทางด้านการจัดการพลังงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมายร้อยละ 20-25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยจะสร้างความเชื่อมั่นในการรายงานผลการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ มีสมาชิก APLAC และ PAC จากประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ เข้าร่วมการประชุมประมาณ 250 คน โดยการประชุมตลอดระยะเวลา 9 วัน จะประกอบด้วย การประชุมย่อยสำหรับคณะกรรมการบริหาร การประชุมคณะกรรมการวิชาการต่างๆ การประชุมสามัญประจำปีของแต่ละองค์การ การประชุมร่วมระหว่างสององค์การ พิธีลงนามการยอมรับร่วม (MRA Signing Ceremony) รวมถึงการฉลองครบรอบ 25 ปี ของ APLAC และการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณารวมองค์การทั้งสองเป็นองค์การเดียวกันในนาม APAC นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ อาทิ การรับรองฮาลาล การนำการรับรองระบบงานมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายสาธารณะ เช่น การรับรองโรงแรม การรับรองผู้ฝึกสอนโยคะ เป็นต้น และสำหรับพิธีเปิดการประชุมในวันนี้ (19 มิถุนายน 2560) มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การรับรองระบบงาน : ความสำคัญและทิศทางในอนาคต” โดยมีประธานองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Mr. Xiao Jian Hua - สาธารณรัฐประชาชนจีน) ประธานองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (Mr. Wong Wang Wah - ฮ่องกง) ประธานองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Ms. Chang Kwei Fern - สิงคโปร์) และประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารและการตลาดขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Mr. Jon Murthy – สหราชอาณาจักร) ร่วมการเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินงานการรับรองระบบงานในประเทศของตน รวมถึงแนวโน้มในการนำการรับรองระบบงานมาใช้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในเวทีการค้าโลก
“การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะได้แสดงถึงศักยภาพการดำเนินงานด้านการรับรองระบบงานให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการรับรองระบบงานด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับงานด้านการรับรองระบบงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว