สานต่อ “งาน” พ่อสอน ยึดแนวพระราชดำริเป็นเข็มทิศ “พัฒนา”
มูลนิธิปิดทองฯ จับมือ 4 หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชน เดินหน้าโครงการ "สานต่อ งานพ่อสอน" บูรณาการเเนวพระราชดำริ ในหลวง ร.9 พัฒนาประเทศ นำร่อง 10 จังหวัด 42 โครงการ งบฯ กว่า 20 ล้านบาท มุ่งพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำ-ต่อยอดอาชีพ
9 มิ.ย. 2489 เป็นวันทรงราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) แม้พระองค์จะสวรรคตไปแล้ว แต่ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ได้ทรงงานหนักอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง
เพื่อรำลึกถึงและสืบสานพระราชปณิธาน มูลนิธิปิดทองหลังพระ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดโครงการ “สานต่อ งานพ่อสอน” ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2560 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง 5 หน่วยงาน คือ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเน้นการพัฒนาที่ยึดหลักความต้องการของพื้นที่หรือภูมิสังคม
“การเป็นกษัตริย์นั้น ถ้าทำให้ประชาชนมีความสุขไม่ได้ ก็นับเป็นความล้มเหลว” นี่คือพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ หยิบยกขึ้นมาบอกเล่า
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า นับตั้งแต่พระองค์ทรงราชย์ ไม่ได้ทรงเกษมสำราญเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ทั่วไปที่ควรจะเป็น แต่พระองค์กลับต้องมาแก้ไขปัญหาของประเทศ ทำให้ทั่วโลกต่างศรัทธาและยกย่อง แม้แต่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ยังทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
ด้วยศาสตร์พระราชาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทฤษฎีป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เช่น โครงการแก้มลิง โครงการฝนหลวง ล้วนเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่พระองค์ทรงค้นคว้าและพระราชทานให้ชาวไทย เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ท้ายที่สุด เชื่อว่าการขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือของ 4 กระทรวง ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ จะประสบความสำเร็จ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนและมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ โดยยึดแนวพระราชดำริเป็นเข็มทิศในการพัฒนา
ด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น้อมนำแบบอย่างของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต เพราะพระองค์ทรงเป็นต้นแบบในด้านการใช้ชีวิตและการทำงานเพื่อส่วนรวม ภายใต้หลักการทรงงาน 3 ฐาน คือ
1.ฐานคิด ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษา วิทยาศาสตร์ และวิชาแขนงต่าง ๆ อีกทั้ง ทุกแนวพระราชดำริของพระองค์ยังผ่านการตกผลึก และมีขั้นตอนทางความคิดที่ชัดเจน
“สมัยต้นรัชกาล ทรงตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่มีความสามารถจนจบ ระยะแรกทรงให้ความสำคัญกับวิชาแพทย์ เนื่องจากทรงเห็นว่า ประเทศจะพัฒนาได้ คนต้องมีสุขภาพดี ฉะนั้นต้องให้ระบบแพทย์ของไทยก้าวหน้าเสียก่อน”
ที่สำคัญ แนวทางการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ยังยึดหลักแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงกับปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนรอบด้านในมิติต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนแต่ละพื้นที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้
2.ฐานทำ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานอย่างหนัก ซึ่งจะหาบุคคลใดในโลกทำงานหนักเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงงานตลอดรัชกาล เรียกว่าหาได้ยากมาก ที่สำคัญ พระองค์ทรงงานอย่างต่อเนื่องและหลายรูปแบบ
3.ฐานใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม รวมถึงวิธีการใช้ชีวิต ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานไว้กับประชาชนมากมาย โดยทรงมีพระเมตตาในการมุ่งพัฒนาชีวิตคนไทยทุกกลุ่ม
สำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเลือกจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมา 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบทำงานร่วมกัน โดยพิจารณาจากความพร้อมในพื้นที่ ประกอบด้วย จ.แพร่ ตาก ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และพัทลุง
โดยผลการบูรณาการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามหลักการที่กำหนด สามารถจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ ใน 10 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 42 โครงการ งบประมาณ 21.13 ล้านบาท จำแนกเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นที่ด้านน้ำ 38 โครงการ งบประมาณ 20.10 ล้านบาท และโครงการพัฒนาด้านอาชีพต่อยอดโดยเฉพาะด้านการเกษตร 4 โครงการ งบประมาณ 1.03 ล้านบาท
“พวกเรานำเอาหลักการทรงงานมาประยุกต์ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยราชการเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ส่วนงบประมาณที่จัดสรรนั้นเป็นเพียงบางส่วน และประชาชนต้องเข้ามาร่วมด้วย เช่น เอาแรงมาลง ไม่มีการจ้างเหมาะ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง”
ท้ายที่สุด มีข้อสรุปร่วมกันว่า ทุกหน่วยงานจะดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ที่จะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามเป้าหมายแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำหลักการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทาง .