"กม.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" : ฝันค้างท้องถิ่นหรือแสงสว่างปลายอุโมงค์
กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากผลลัพธ์ไม่ลงเอยเงียบหายไปตามกาลเวลาเหมือนที่เคยผ่านมา รัฐบาลมีความมุ่งมั่นยืนหยัดเดินหน้ายกระดับให้เป็นนโยบายวาระแห่งชาติ และสามารถผ่านกระแสการถูกล็อบบี้ ถูกกดดัน ถูกต่อต้านจนคลอดออกมามีผลบังคับใช้ได้ จะถือว่าเซอร์ไพรส์จริง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ กฎหมายดังกล่าวปรับปรุงจาก พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และ พ.ร.บ.กำหนดราคากลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2529 มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน เป็นการผลักดันให้มีการพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีการยกเว้นให้กับเกษตรกรที่ถือครองที่ดินและมีการทำการเกษตรในที่ดินของตนเองและผู้มีที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะนำเงินรายได้จากภาษีนี้ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ไปจัดตั้งเป็นเงินทุนธนาคารที่ดิน จะนำที่ดินมาจัดสรรเป็นที่ทำกินให้ประชาชนในราคาถูก ขณะเดียวกันที่มติคณะรัฐมนตรีออกมามีกระแสต่อต้านอยู่บ้างเป็นธรรมดาจากบางคนที่ยังมีความคิดแบบเก่า ผู้ที่อยากเก็บที่ดินที่ได้รับมรดกจากปู่ตาย่ายาย หรือผู้ที่กว๊านซื้อมาไว้เพื่อเก็งกำไร แต่กลับได้รับเสียงขานรับจากองค์กรสมาคมท้องถิ่นทุกระดับ โดยไม่หวั่นเกรงว่าผลจากการเก็บภาษีนี้จะกระทบฐานเสียงของตนในพื้นที่
ปี 2553 ท้องถิ่นมีรายได้ 337,800 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ขณะนี้ท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,853 แห่ง สามารถจัดเก็บรายได้ส่วนนี้เพียง 29,110.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.62 ของรายได้ท้องถิ่นในแต่ละปี 2.รายได้จากภาษีที่รัฐจัดเก็บให้และแบ่งให้ 126,589.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.47 และ 3.รายได้จากเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล 136,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.47 และ 4. ราย ได้อื่นๆจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเป็นเงินที่ใช้อุดช่องว่างทางการคลังของท้องถิ่น 45,400 คิดเป็นร้อยละ 13.44
หากมองภาพรวมรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักหากเทียบกับรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด แต่หากมองเฉพาะยอดจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ทั้งสองตัวนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท กล่าวคือภาษีสองตัวนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 65.26 ของรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง
ปัจจุบันการถือครองอสังหาริมทรัพย์มีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่ร่ำรวย ขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่มีที่ดินหรือบ้านเป็นของตนเอง นั่นแสดงว่าภาษีที่ใช้อยู่ขณะนี้ไม่อาจทำหน้าที่ในการเป็นภาษีการถือครอง และการโอนเปลี่ยนมือได้อย่างดีพอ และไม่อาจทำหน้าที่อำนวยรายได้แก่ท้องถิ่นอย่างเพียงพอด้วย
ปัจจุบันภาษีบำรุงท้องที่ยังใช้โครงสร้างแบบถดถอย คำนวณภาษีบนฐานราคาปานกลางปี พ.ศ. 2521 -2524 อาจกล่าวได้ว่าเสียภาษีเท่าเดิมมากว่า 30 ปี แล้ว และมีการลดหย่อนเนื้อที่ดินที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยและทำการเกษตรที่ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี ถ้าเป็นเขตเทศบาลเมืองลดหย่อนเนื้อที่ดินได้ 50 - 100 ตารางวา เขตเทศบาลตำบลลดหย่อนได้ตั้งแต่ 200 ตารางวาถึง 1 ไร่ หรือเขต อบต.ลดหย่อนได้ 3 - 5 ไร่
สำหรับภาษีโรงเรือนและที่ดิน ใช้ฐานค่ารายปีหรือค่าเช่าต่อปีในการประเมิน อัตราเสียภาษีประเมินจากค่าเช่าปีต่อปีในอัตรสูงมากถึงร้อยละ 12.5 ของค่าเช่าต่อปี ซึ่งท้องถิ่นมีอำนาจประเมินค่ารายปีใหม่ได้ทุกปี แต่เจ้าของทรัพย์สินจะผลักภาระภาษีไปยังผู้เช่าโดยสัญญาเช่าหรือผลักภาระไป ในราคาสินค้าและบริการ
หากดูข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองสภารวม 630 คน ในจำนวนนี้แจ้งว่าเป็นเจ้าของที่ดิน 580 คน ถือครองที่ดินรวมกัน 69,942-2-67 ไร่ รวมมูลค่า 24,760 ล้านบาท (มูลค่าตามราคาประเมินของกรมที่ดินขณะนั้น)
พรรคที่ถือครองที่ดินมากสุดคือพรรคเพื่อไทย ส.ส. 187 คน แจ้งเป็นเจ้าของที่ดิน 173 คน รวม 21,079-3-34 ไร่ มูลค่า 4,795.5 ล้านบาท จำนวนนี้ผู้ถือครอง 1,000 ไร่ขึ้นไปมี 5 คน ถือเกิน 100 ไร่ 34 คน
ประชาธิปัตย์ 171 คนแจ้งเป็นเจ้าของที่ดิน 160 คน 15,181-0-25 ไร่ มูลค่า 5,829,647,6 ล้านบาท ถือเกิน 1,000 ไร่ 2 ราย เกิน 100 ไร่ 37 ราย
พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 32 คนแจ้งเป็นเจ้าของที่ดิน 31 คน 3,835-2-35 ไร่ มูลค่า 733.8 ล้านบาท
พรรคเพื่อแผ่นดิน มี ส.ส.จำนวน 32 คน แจ้งว่ามีที่ดิน 29 คน รวมเนื้อที่ 5,323 ไร่ มูลค่า 1,299.4 ล้านบาท ถือครองเกิน 1,000 ไร่ 1 คน
พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 25 คน มีที่ดิน 21 คน รวมที่ดิน 2,541-0-89 ไร่ มูลค่า 483.6 ล้านบาท
พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ส.ส. 9 คน จำนวนนี้ 8 คน ถือครองรวม 819-3-33 ไร่ 681.1 ล้านบาท
พรรคประชาราช มี ส.ส. 8 คน มีที่ดินรวม 3,088-3-81 ไร่ มูลค่า 449.2 ล้านบาท เกิน 1,000 ไร่ 1 คน
พรรคกิจสังคม ส.ส. 5 คน จาก มีที่ดิน 4 คน รวม 858-2-80 ไร่ มูลค่า 70.9 ล้านบาท
พรรคมาตุภูมิ(พรรคราษฎรเดิม)ของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ส.ส. 3 คน ถือครองที่ดินรวม 216-2-07 ไร่ มูลค่า 28 ล้านบาท
สมาชิกวุฒิสภา 145 คน ถือครองที่ดินรวม 19,311-2-42 ไร่ มูลค่า 10,429.4 ล้านบาท พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับการเมืองไทยหลายยุคสมัย ขณะเดียวกันก็แฝงความล่อแหลมจากบทเรียนในอดีต ทุกครั้งที่มีการหยิบยกผลักดันเรื่องนี้ รัฐบาลมักจะล้มหรือรัฐสภามีอันเป็นไปทุกที
นับว่าเป็นความกล้าหาญและความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ที่ผลักดันกฎหมายนี้จนถึงขั้นผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรีออกมาได้ แต่จากข้อมูลการถือครองที่ดิน กลุ่มนายทุนและตระกูลผู้ดีเก่าล้วนเป็นพลพรรคนักการเมืองแทบทั้งสิ้น
กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากผลลัพธ์ไม่ลงเอยเงียบหายไปตามกาลเวลาเหมือนที่เคยผ่านมา รัฐบาลมีความมุ่งมั่นยืนหยัดเดินหน้ายกระดับให้เป็นนโยบายวาระแห่งชาติ และสามารถผ่านกระแสการถูกล็อบบี้ ถูกกดดัน ถูกต่อต้าน จนคลอดออกมามีผลบังคับใช้ได้ จะถือว่าเซอร์ไพรส์จริงๆ.
ที่มา : ประชาธรรม สถานีข่าวประชาชน http://www.prachatham.com/detail.htm?code=a1_29072010_01