ชำแหละคดีบ้านเอื้ออาทร‘วัฒนา’ ไฉนเพิ่งโต้ทั้งที่ถูกชี้มูลต้นปี’60-ป.ป.ช. เร่งรัดจริงหรือ?
“…ตามระเบียบการไต่สวน ป.ป.ช. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ใด จะต้องส่งสำนวน และความเห็นให้กับผู้ถูกชี้มูลผิดรับทราบอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตั้งแต่ต้นปี 2560 นายวัฒนา น่าจะทราบ หรือควรจะทราบเรื่องตั้งแต่ต้นปี 2560 แล้ว เหตุใดจึงเพิ่งมาโวยวาย หรือโต้แย้ง ภายหลังที่ปรากฏเป็นข่าวจากสื่อมวลชน ทำไมถึงไม่โต้แย้ง หรือทำหนังสือชี้แจงแก่ ป.ป.ช. หรือฝ่ายอัยการตั้งแต่ตอนนั้น ?....”
“เป็นเรื่องการเมือง เป็นความพยายามของผู้มีอำนาจโดยนำเรื่องคดีมาบีบไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องคดีก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม ผู้มีอำนาจมักนำเรื่องคดีมาขู่ เวลาวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เคยระบุ นักการเมืองบางคนไม่กลัวหรือ ยังมีคดีอยู่ใน ป.ป.ช.”
“คดีนี้เกิดมาตั้งแต่รัฐประหารปี2549 ข้อที่น่าสังเกต มีระยะเวลาเนิ่นนาน แต่กลับถูกเร่ง ในช่วงที่รัฐบาลถูกวิจารณ์หนัก ๆ”
เป็นคำโต้แย้งจากนายวัฒนา เมืองสุข หรือที่หลายคนเรียกติดปากกันว่า ‘เสี่ยไก่’ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ภายหลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอย่าง ‘เงียบเชียบ’ ตั้งแต่ต้นปี 2560 กรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทร 1 เอื้อประโยชน์ให้บริษัท พาสทีญ่า ไทย จำกัด ที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟันเงียบ‘วัฒนา’คดีบ้านเอื้ออาทร-อัยการยังไม่ฟ้องสำนวนไม่สมบูรณ์ตั้ง กก.ร่วม, "วัฒนา" เชื่อ มีใบสั่ง เร่งรัดคดี บ้านเอื้ออาทร)
เงื่อนปมสำคัญคือ คดีดังกล่าวถูกเร่งรัดในสมัยรัฐบาลชุดนี้จริงหรือ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาของคดีนี้ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คดีนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาภายหลังการรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อปี 2549 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาไต่สวน ทำหน้าที่คล้ายกับ ป.ป.ช.
กระทั่งเดือน มี.ค. 2550 คตส. ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้น สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรที่ก่อสร้างโดยบริษัท พาสทีญ่า ไทย จำกัด พบว่า มีการจัดซื้อราคาที่ดินแพงเกินจริง นอกจากนี้ยังมีการเรียกค่าหัวคิว 82 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับนักการเมือง และบริษัทดังกล่าวยังเข้าข่ายการฟอกเงิน โดยจำนวนนี้มีการโอนเข้าบัญชีของคนขับรถ แม่บ้าน และพนักงานพิมพ์ดีด
พฤติการณ์ในคดีนี้ สรุปได้ว่า แม้พยานหลักฐานในคดีจะมิใช่พยานโดยตรงระบุบ่งบอกถึงการกระทำทุจริตเป็นรายละเอียดชัดแจ้งก็ตาม แต่ยืนยันเห็นเป็นความต่อเนื่องปรากฏเป็นพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะพิสูจน์มูลคดีได้เป็นลำดับ ดังนี้
หนึ่ง กระบวนการจัดสรรโควตาที่บ่งชี้ได้ว่า รัฐมนตรีเป็นผู้ผลักดันทั้งโครงสร้างของระบบ และแต่งตั้งบุคคลที่ไว้วางใจเข้ายึดกุม ใช้อำนาจในกระบวนการจัดสรรโควตาตามระบบดังกล่าว
สอง พยานบุคคลยืนยันว่า รัฐมนตรีสั่งให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง นำข้อเสนอของบริษัท พาสทีญ่าฯ เข้าสู่การรับรอง ทั้งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน
สาม หลักฐานทางบัญชียืนยันว่า เงินล่วงหน้าที่ได้จากสัญญานี้ มิได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการทั้งหมด และได้นำมาเข้าบัญชีและแยกประเภทไว้ เป็นรายการค่าตอบแทนข้าราชการ
สี่ พยานกรรมการ พนักงาน และฝ่ายบัญชีบริษัท พาสทีญ่าฯ ให้การสอดคล้องต้องกันว่า ได้รับคำอธิบายว่าเงินก้อนนี้จะนำไปจ่ายให้แก่รัฐมนตรี
ห้า เส้นทางการเงิน พบว่า มีความพยายามฟอกเงิน ในที่สุดไปรวมอยู่ในบัญชีบริษัท เพรซิเดนท์ อะกรี เทรดดิ้ง จำกัด (มีนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดังยุครัฐบาลนายทักษิณ เป็นผู้ก่อตั้ง) จำนวน 82.5 ล้านบาท ตรงตามจำนวนที่พยานยืนยันว่า มีการเรียกรับเงินหน่วยละ 11,000 บาท จำนวน 7,500 หน่วย และได้ตรวจสอบยืนยันต่อไปว่า บริษัท และกรรมการผู้จัดการบริษัท เพรซิเดนท์ฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมนตรี ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่รัฐมนตรีรายนี้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และถือได้ว่ามีบทบาทรับผิดชอบจัดสรรโควตาข้าวให้แก่บริษัท เพรซิเดนท์ฯ อย่างมีเงื่อนงำ และค้างคาไร้การตรวจสอบมาจนทุกวันนี้
ด้วยรูปคดีที่สอดคล้องต้องกันเช่นที่กล่าวมา คณะอนุกรรมการฯเห็นว่า คดีมีมูลเพียงพอให้กล่าวหา และไต่สวนผู้เกี่ยวข้องต่อไปในประเด็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายมานะ วงศ์พิวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการ ผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นอกจากนี้นายวัฒนา ยังมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมที่จะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และ 149
บริษัท พาสทิญ่าฯ และกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์ หรือเดชวรชิต อลังการกุล นายชาฮ์น บิน ยาขอบ นายฮาฮ์มัด บิน ฮารอณ และนายโมฮ์ด ฮาณาเปียร์ บิน อับดุล อาซิส ผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และผิดฐานรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
ส่วนบริษัท เพรซิเดนท์ฯ โดยนายอภิชาติ ในฐานะกรรมการบริษัท และในฐานะส่วนตัว ผิดฐานฟอกเงินโดยการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ตาม พ.ร.บ.ปปง. มาตรา 3 และมาตรา 5 (1)
นอกจากนี้นายสุจิตร สวนโสกเชือก น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ และนางกิ่งแก้ว ลิมปิสุข กรรมการบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ผิดฐานฟอกเงิน โดยการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ปปง. มาตรา 3 และมาตรา 5 ด้วย
หลังจากนั้น คตส. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องต่อศาล อย่างไรก็ดี อสส. เห็นว่า สำนวนดังกล่าวยังมีข้อไม่สมบูรณ์ ควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณาไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย คตส. จึงส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ก่อนที่ คตส. จะถูกยุบในเวลาต่อมา
ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และฝ่ายอัยการ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ตามที่ อสส. แจ้งให้ทราบ กระทั่ง อสส. ได้ชี้ขาดพิจารณาสั่งคดีเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2552 อย่างไรก็ดีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ประกอบการรายอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในข่ายเป็นผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมหลายราย อสส. จึงเห็นควรให้ ป.ป.ช. ไต่สวนให้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเสียก่อน
ป.ป.ช. จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงอีกครั้ง โดยมีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน โดยใช้ระยะเวลาไต่สวนยาวนานกว่า 8 ปี (จนนายประสาท เกษียณอายุ และนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. อีกรายรับไม้ต่อเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯแทน)
กระทั่งเมื่อต้นปี 2560 จึงนำเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา และลงมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา กับพวกดังกล่าว (แต่ทาง ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุว่า นอกเหนือจากนายวัฒนา มีใครเป็นผู้ถูกชี้มูลความผิดอีกบ้าง)
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การไต่สวนคดีนี้ในชั้น ป.ป.ช. ใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี นั่นคือ ปัญหาข้อกฎหมาย ?
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เล่าว่า ฝ่าย ป.ป.ช. ต้องการเพิ่มความผิดให้กับผู้ถูกกล่าวหาในมาตรา 148 ตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย แต่ฝ่ายอัยการยังไม่ยอม ยื้อกันไปมาหลายตลบ กระทั่งยอมในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงดำเนินการชี้มูลความผิดเพิ่มเติม เพื่อส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลได้
มาตรา 148 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
นอกเหนือจากคดีบ้านเอื้ออาทรในส่วนที่มีการกล่าวหานายวัฒนาแล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงไต่สวนคดีบ้านเอื้ออาทรอยู่อย่างน้อยอีก 6 สำนวน ได้แก่
หนึ่ง กรณีกล่าวหานางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กรณีอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทรหาดใหญ่ (การนิคมอุตสาหกรรมฉลุง) จ.สงขลา ในราคาสูงเกินจริง (ไม่ระบุสถานะล่าสุดว่าคืบหน้าถึงไหนแล้ว)
สอง กรณีกล่าวหาผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ (ไม่ระบุชื่อ) กับพวกรวม 3 ราย กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ในการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร จ.กำแพงเพชร (พรานกระต่าย) ตามสัญญาร่วมดำเนิจกิจการที่ กคช.(บค.4) 73/2549 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2549 กับบริษัท เอเชียมหาชัยบ้านและที่ดิน จำกัด โครงการบ้านเอื้ออาทร จ.อุทัยธานี (สะแกกรัง) ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการที่ กคช.(บค.3) 59/2549 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2549 กับ หจก.สระขุขันธ์ และโครงการบ้านเอื้ออาทร จ.บุรีรัมย์ (ลำปลายมาศ) ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการที่ กคช.(บค.3) 60/2549 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2549 กับ หจก.ป.ขุขันธ์ก่อสร้าง
โดยมีเจตนาที่จะละเลยการตรวจสอบ กรณี หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา ผู้ร่วมดำเนินกิจการไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ การรับซื้อที่ดินราคาสูงกว่าความเป็นจริงมาก การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทที่ผู้ร่วมดำเนินกิจการจัดจ้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการควบคุมงานก่อสร้างโดยที่ปรึกษา ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในสัญญา รวมถึงผู้ร่วมดำเนินกิจการมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการโครงการบ้านเอื้ออาทรอย่างแท้จริง เป็นการดำเนินการเพียงเพื่อรับประโยชน์จากกำไรที่เกิดจากการขายที่ดินให้กับการเคหะแห่งชาติเป็นสำคัญ ทั้งที่พบว่า ทั้ง 3 โรงการได้ถูกบอกเลิกสัญญาโดยการเคหะแห่งชาติ ทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับความเสียหาย แต่การเคหะแห่งชาติมิได้มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาแต่อย่างใด
สถานะล่าสุด เสนอปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวน
สาม กรณีกล่าวหานายอิทธิพล อุทัยพัฒนาชีพ คณะกรรมการตรวจการจ้างของการเคหะแห่งชาติ กับพวกรวม 6 ราย กรณีกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร จ.ชลบุรี (วัดรังสีสุทธาวาส) ครั้งที่ 6-17 ให้กับบริษัท ณ. บุรี จำกัด ผู้รับจ้างช่วงจากผู้กล่าวหา ที่เป็นผู้เสนอขายโครงการดังกล่าวให้กับการเคหะแห่งชาติ ตามสัญญาเลขที่ กคช. (บค.1) 77/2548 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2548 วงเงิน 522.5 ล้านบาท ทั้งที่การก่อสร้างดังกล่าวไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนด เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงได้รับความเสียหาย
สถานะล่าสุด ประชุมพิจารณร่างบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา
สี่ กรณีกล่าวหานายชนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ ผอ.กองตลาดและบริหารงานขาย 1 การเคหะแห่งชาติ กับพวกรวม 4 ราย กรณีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรระยะที่ 4 (โครงการรังสิต-คลอง 9) ซึ่งได้รับอนุมัติโควตาก่อสร้างบ้านทำการจัดซื้อที่ดิน แล้วนำโครงการมาเสนอขายให้กับการเคหะแห่งชาติโดยมีราคาที่ดินสูงเกินจริง
สถานะล่าสุด พิจารณาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ห้า กรณีกล่าวหานายพิทยา เจริญวรรณ เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ กรณีกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเอกชน โดยการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 (โครงการอรัญประเทศ)
สถานะล่าสุด รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
หก กรณีกล่าวหานายเจตวัฒน์ วิชิต เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ กรณีกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเอกชน โดยการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 (โครงการกบินทร์บุรี 2)
สถานะล่าสุด แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
(ดูรายละเอียด ที่นี่)
หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ป.ป.ช. ยังมีคดีเกี่ยวกับบ้านเอื้ออาทรที่ยังค้างคาในชั้นไต่สวนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 6 คดี ดังนั้นจึงไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำมากนักว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เร่งรัดเฉพาะคดีของนายวัฒนา เนื่องจากยังมีอีกหลายคดีที่ต้องเร่งทำไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ตามระเบียบการไต่สวน ป.ป.ช. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ใด จะต้องส่งสำนวน และความเห็นให้กับผู้ถูกชี้มูลผิดรับทราบอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตั้งแต่ต้นปี 2560
นายวัฒนา น่าจะทราบ หรือควรจะทราบเรื่องตั้งแต่ต้นปี 2560 แล้ว เหตุใดจึงเพิ่งมาโวยวาย หรือโต้แย้ง ภายหลังที่ปรากฏเป็นข่าวจากสื่อมวลชน ทำไมถึงไม่โต้แย้ง หรือทำหนังสือชี้แจงแก่ ป.ป.ช. หรือฝ่ายอัยการตั้งแต่ตอนนั้น ?
หรือเรื่องนี้จะเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ อย่างที่นายวัฒนาพูดไว้จริง ๆ !