สปสช.ยันบอร์ดจัดสรรงบกองทุนบัตรทองให้ความสำคัญทั้งป้องกันโรค-รักษา
นพ.ศักดิ์ชัย ชี้ปีงบประมาณ 2560 บอรด์ สปสช.ยังคงเดินหน้าจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง 301.88 บาท ต่อประชากรไทยทุกคน จำนวน 65.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 175 บาทต่อประชากร
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น ช่วยลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงอนุมัติการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนับตั้งแต่เริ่มแรกของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการการควบคู่กับการจัดบริการรักษาพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2560 บอรด์ สปสช.ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ยังคงเดินหน้าจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้โดยตรงแก่บุคคลสำหรับประชาชนไทยทุกคนอย่างต่อเนื่อง 301.88 บาท ต่อประชากรไทยทุกคน จำนวน 65.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 175 บาทต่อประชากร โดยดำเนินการภายใต้ประกาศประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 10 ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2559
“นอกจากนั้นยังมีงบที่แยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เป็นงบสำหรับการบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดย โดยเน้นการควบคุมป้องกันระดับทุติยภูมิ จำนวน 910 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการทุกปีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะนำไปสู่โรคค่าใช้จ่ายสูงอื่นๆ ตามมา”
ทั้งนี้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 2560 บอร์ด สปสช.ได้กระจายงบประมาณตามการดำเนินงาน คือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ, ระดับชุมชน, ระดับเขต/จังหวัด บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน และบริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ โดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นตัวตั้ง
“งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สสส. อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการดำเนินงาน กำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมป้องกันที่เป็นมาตรฐานมีประสิทธิผลตรงกลุ่มเป้าหมายจริงตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดอัตราการเจ็บป่วยและยกระดับสุขภาพของคนไทยตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมป้องกันโรคเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล และการรักษาโรคเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน จึงเป็นภารกิจเฉพาะหน้า ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมีมากขึ้น งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลจึงมากกว่า” เลขาธิการ สปสช. กล่าว