เอกชน24ราย แห่ยื่นซองข้าว รู้ผล15มิ.ย.
เอกชน 24 ราย แห่ยื่นประมูลข้าวสต๊อกรัฐ 2.2 ล้านตัน ด้านผู้ผลิตเอทานอลร้อง นายกฯ เหตุเสนอราคาสูงแต่ผ่าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลกลุ่มที่ 2 หรือข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภค 2.2 ล้านตัน ใน 167 คลัง 31 จังหวัด เมื่อ วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชน 24 ราย ยื่นซองตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งในวันที่ 15 มิ.ย.จะประกาศผล ผู้ผ่านคุณสมบัติก่อนให้ยื่นซองเสนอราคาและเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน โดยเงื่อนไขการเปิดประมูลยังเข้มงวดให้นำข้าวไปเข้าอุตสาหกรรมตามแผนที่แจ้งมา
รายงานข่าวจากกระทรวง พาณิชย์ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัท ที พี เค เอทานอล เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยื่นประมูลข้าวกลุ่มที่ 3 หรือข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลไม่อนุมัติขายข้าวให้กับบริษัท ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสนอซื้อข้าวในสต๊อกครบทุกคลังสินค้า จำนวน 157 คลัง และเป็นผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด จำนวน 74 คลัง ปริมาณ 5.25 แสนตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 2,332 บาท อีกทั้งยังไม่ได้รับการแจ้งกลับเป็นลายลักษณ์อักษรถึงสาเหตุของการไม่อนุมัติครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังพบว่าคณะทำงาน ได้อนุมัติขายข้าวให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมปุ๋ยอินทรีย์และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานที่เสนอซื้อ ข้าวราคาสูงสุด เป็นบริษัทที่ไม่มี เหตุผลทางการตลาดการค้า เช่นกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อพิจารณาแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนการนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ย โดยอนุมัติขายไป 2 ราย จำนวน 29 คลัง ปริมาณ 2.02 แสนตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 3,319.41 บาท และอนุมัติให้กับกลุ่มที่นำไปเป็นพลังงานชีวมวล 8 ราย 30 คลัง ปริมาณ 1.44 แสนตัน รวมปริมาณที่อนุมัติขายประมาณ 5 แสนตัน มูลค่า 1,522.79 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าหาก ปริมาณข้าวสารที่อนุมัติขายครั้งนี้หมุนเวียนกลับมาในระบบตลาดข้าวปกติ จะมีรายได้ส่วนต่างจากราคาประมูลและราคาตลาดสูงถึง 2,500-3,000 ล้านบาท หากมีการนำข้าวสต๊อกรัฐออกมาขายในตลาดและส่งผลกระทบต่อระบบการค้าข้าวในตลาดได้
อย่างไรก็ดี ทางบริษัท ที พี เค เอทานอล จึงส่งหนังสือขอความ เป็นธรรมให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบผลการพิจารณาว่าบริษัทที่ได้รับ การอนุมัติขายนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการค้าข้าวหรือไม่ โดยตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการประกอบการธุรกิจการค้าร่วมกัน และต้องตรวจสอบว่าแต่ละบริษัทที่ได้รับการอนุมัติขายมีขีดความสามารถเพื่อนำข้าวสารไปผลิตตามแผนที่แจ้งไว้หรือไม่ โดยขอให้ตรวจสอบทุก ขั้นตอนในการนำข้าวสารไปผลิตด้านพลังงานชีวมวล รวมถึงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์