ปฏิกิริยาโต้กลับ The (Double)Standard กรณีคอลัมนิสต์ชื่อ ‘อภิสิทธิ์’
มาสำรวจปฏิกิริยา ‘มาร์ค อภิสิทธิ์’ กับการเกิดขึ้นของ The Standard ที่ดูเหมือนไม่ใช่โจทย์ง่ายในพื้นที่เล่นใหม่ ท่ามกลางกระแสโต้กลับรุนแรงจนเกิดเพจล้อ ที่ประกาศตัวเป็นชาวท่าแซะชัดเจน
หากจะต้องพูดถึงปฏิกิริยาหนึ่งในสังคมไทยเกี่ยวกับสื่อช่วง2-3 สัปดาห์ที่ผ่าน จะไม่พูดถึงประเด็นการเปิดตัวของ The Standard ที่นำทีมโดย วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์คงไม่ได้ แน่นอนการเปิดตัวครั้งนี้คือการรีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ ที่ยกทีมย้ายจาก A Day ที่เคยก่อตั้งหลังจากมีปัญหาเรื่องหุ้นในบริษัท
อ่านประกอบ: "วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ประกาศลาออกจากบริษัทเดย์ โพเอทส์แล้ว,
พลิกปูม POLAR ตัวละครเอกซื้อหุ้น a-day 308 ล.-ก่อน‘วงศ์ทนง’หาทางล้มดีล,
ขมวดปม! โพลาริส ซื้อหุ้น 'a-day' 308 ล. ปริศนาส่วนต่างกำไร-นอมินีโผล่?
เปิดตัว'วังขนาย'คอนเนกชั่นธุรกิจล่าสุด'วินิจ'ก่อนจับมือ'วงศ์ทนง'ตั้งบ.ใหม่ บอกลา'อะเดย์'
แต่ไม่ทันจะเปิดตัวเว็บไซต์ ก็มีดราม่ามาแต่ไกล เมื่อเริ่มมีการประกาศตัวคอลัมนิสต์ที่จะเขียนแล้วดันมีชื่อ อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งภายหลังจากเกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางการให้พื้นที่อดีตนายกฯคนนี้จะเป็นการชุบตัวหรือไม่นั้น โดยอ้างถึงกรณีสลายการชุมนุมในปี 2553
ต่อมา "โหน่ง วงศ์ทนง" ยืนยันชัดช่วงงานเปิดตัวว่า ได้ระงับคอลัมน์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อน หลังปรึกษากับคณะบรรณาธิการถึงความเหมาะสม และลงความเห็นร่วมกัน
ขณะที่ทางด้าน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการ ระบุถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ว่า น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคน และขอขอบคุณที่หลายๆ คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น
“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดจากเหตุการณ์นี้คือ ผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังมีคำถามถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมและมาตรฐานความถูกต้อง ซึ่งผมดีใจมากที่คนแสดงออกมาในลักษณะนี้ ผมรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของสื่อที่จะตรวจสอบความไม่ถูกต้องต่างๆ เราจะพยายามนำเสนอข้อมูล และเป็นสื่อที่ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ทุกฝ่าย"
อยากให้ดูคอนเทนต์โดยรวมทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสรุป อย่าเพิ่งรีบตัดสินใครจากภาพภาพเดียว ขอให้ดูกันยาวๆ วิจารณ์ได้ รับรองว่าไม่ลบคอมเมนต์ ไม่ปิดรีวิว พร้อมเปิดกว้างเสมอ และสุดท้ายคอนเทนต์จะพิสูจน์ตัวมันเอง”
จากนั้น ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาตอบโต้ว่าไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์อย่างที่โดนเคลมเอาไว้ โดยระบุว่ายังไม่ได้ตอบรับด้วยซ้ำ เนื่องจากขอดูก่อนเพราะว่าเว็บไซต์ใหม่ ไม่รู้ด้วยว่าเอาชื่อไปขึ้นแล้ว
"เขาเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง มาขอผม เอารูปผมขึ้น จะเลิกหรือไม่เลิกอะไรผมก็ยังไม่ทราบ"
และดูเหมือนกระแสยังไม่ได้ซาไปไหน เพราะหลังจากเปิดตัวได้เพียง 3 วันกระแสของ The Standard ก็มาถึงจุดที่มีเพจล้อขึ้นในในชื่อ Double Standard ที่มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ชื่อยันโลโก้ว่าตั้งขึ้นมาล้อ The Standard โดยเฉพาะ และหากใครได้ติดตามทั้งสองเพจจะพบว่า ไม่ว่า The Standard ออกบทความไหนมาสักพักอีกเพจจะขึ้นบทความแซะทันที เรียกว่า กลายเป็นสีสัน ให้ตามอ่านกัน
"อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ' นักวิจัยด้านสื่อใหม่ RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองประเด็นเรื่องความประชดประชันอารมณ์ขัน ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม ในแง่หนึ่งคือการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการรับรู้ ขณะเดียวกันการล้อหรือแซะก็มีคุณูปการให้กับเพจที่โดนล้อ เช่นกรณี Double Standard เพจ The Standard เองก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้เพราะว่า จะอ่านให้รู้เรื่องว่าที่เขียนล้อคืออะไร ก็ต้องกลับมาอ่านว่าต้นฉบับเขียนอย่างไร
ส่วนว่าทำไมคนถึงปัญหาอะไรที่ นายอภิสิทธิ์ จะมาเป็นคอลัมนิสต์นั้น เขามองว่าเพราะเกิดจากความผิดหวังของคนกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกันพอเห็นรายชื่อคอลัมนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าโอเค นี่น่าจะเป็นสื่อความหวังให้เราได้ คอลัมนิสต์ที่เอามาถูกจริตเรา เราก็คาดหวังว่า The Standard ตามมาตรฐานที่คาดหวัง แต่พอเขาเชิญคอลัมนิสต์อีกท่าน ที่ไม่คาดหวังว่าว่าเขาจะมาอยู่ในแฟลตฟอร์มเดียวกัน เลยเกิดความผิดหวัง ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่อาจเรียกว่า พาลได้ เพราะพวกเขาเองก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามได้
"คำถามของผมคือว่า เราไปตั้งคำถามกับเขาแล้วเขาจำเป็นต้องตอบด้วยหรือ ในเมื่อตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเอาใครมาเป็นคอลัมนิสต์ก็ได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่อ่าน จะบอยคอต เป็นอิสระภาพของเรา"
ผมเองก็เลยยังงงว่า เพื่อนบางคนอาจรู้สึกผิดหวัง และเป็นห่วงว่าคนที่ไปใช้แฟลตฟอร์มร่วมกันกับคนที่ไม่ชอบจะเป็นการช่วยฟอกตัวเองให้อีกฝ่ายหรือเปล่า การแสดงอาการเป็นห่วง ผิดหวัง เลยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา ส่วนเรื่อง Double Standard ผมคิดว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เขาไม่ได้ผิดหวัง แต่น่าจะเป็นอาการมั่นไส้มากกว่า
“ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย ผมมองว่าการถือกำเนิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน มีอิสรภาพในการนำเสนอเต็มที่ ขณะที่ผมเองก็มีอิสรภาพในการรับสาร แต่ผมมีปัญหากับเพื่อนๆ หลายคน ที่เข้าไปเชียร์เพื่อนตัวเองที่เข้าไปเป็นคอลัมนิสต์ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าไปด่าเว็ปไซต์นั้นที่เอาคนที่คุณไม่ชอบมาเป็นคอลัมนิสต์ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ย้อนแย้งในตัว”
แต่หากดูปฏิกิริยาของ "โหน่ง วงศ์ทนง" ที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนการออกมาเผยเหตุระงับประเด็นอภิสิทธิ์ไปก่อนนั้น เท่ากับว่าแคร์เสียงคนอ่าน ฐานแฟน ซึ่งหากมองในเชิงธุรกิจ ที่อรรคณัฐออกตัวว่า มุมมองนี้ซึ่งเขาอาจจะผิดทั้งหมด นั่นคือ The Standard พยายามจะขยายฐานลูกค้า ประเมินแล้วว่า ฐานผู้อ่านเดิมคือคนชนชั้นฝั่งขวาเดิม เขาเลยต้องการขยายให้ครอบคลุมทั้งสองฝั่ง เลยเอาคอลัมนิสต์ที่เป็นปัจจัยของทั้งสองฝั่งมา
"ผมไม่แน่ใจว่าเป็นจุดขายที่เขาเอาไปเสนอนายทุนหรือเปล่า ว่าเขาจะเป็นพื้นที่กลางๆ ให้ใครก็ได้มาแสดงความเห็นเพื่อที่ขยายพื้นที่ในการรับรู้ เขาก็เลยแคร์เรื่องนี้"
ด้านพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน วิพากษ์ประเด็นนี้ว่า The Standard ด้วยความที่เขามาจากสื่อเก่า ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า พื้นที่ใหม่ๆ ที่คนรับสารมีสิทธิ์ผลิตคอนเทนต์ ตอบโต้ได้จริงๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ The Standard และ Double Standard
จากเดิมที่โมเดลของเขาที่ขายบุคลิกของผู้นำองค์กร ความเท่ ความชิค ซึ่งยกวิธีขายทั้งก้อนจากสื่อเดิมมาใช้กับสื่อใหม่ จากเดิมเขาเคยประสบความสำเร็จมากๆ จากโมเดลนั้น A Day ผู้ก่อตั้งก็กลายเป็นศาสดาของเด็กดื้อ
"การนำเอาแนวทางเก่าที่อยู่ในพื้นที่การสื่อสารทางเดียว คือคนอาจจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เต็มที่ก็อาจจะบ่นในหมู่เพื่อนฝูง แต่ตอนนี้เมื่อมีพื้นที่ใหม่ คนไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นทั้งวิธีขายและการนำเสนอ คนก็โต้กลับทันที ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็เกิดปรากฏการณ์ 3 หมื่นไลก์ในสามสัปดาห์ซึ่งส่วนตัวถือว่าไม่เยอะ สำหรับการเปิดตัวขนาดนั้น ขณะที่ตัวเพจล้อเองก็มีคนกดไลก์เพจไม่ต่างกันมาก ซึ่งไม่แปลก แต่บางโพสต์เพจล้อดันมากกว่า"
พิมพ์สิริ ยังมองด้วยว่า การเกิดขึ้นของสื่อเหล่านี้ ไม่ได้มีผลต่อสังคมอะไรมากมาย เพราะต่อให้ไม่อ่านเราก็ยังไม่ตกกระแสอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏการณ์ของพื้นที่ มีการพูดคุยว่า การบอยคอตของชาวเน็ต เป็นการไปจำกัดเสรีภาพของสื่อหรือคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคน แต่เป็นคนกับคน กรณีThe Standard ที่เอาอดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นคอลัมนิสต์ แล้วมีคนออกมาต่อต้าน ซึ่งมุมก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ฝั่งของเขาเองที่เอามาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
“เราไม่มีปัญหาการเกิดขึ้นมาของเขา เอาจริงๆ การมีพื้นที่แบบนั้น ในสภาวะที่สังคมไทยทุเรศอย่างวันนี้ คือจะให้เรียกคนไปประท้วง 50 คนก็ถือว่าเก่งเเล้ว แต่หากเราตามไปดูคอมเม้นต์ ใต้ข่าว เรายังเห็นพื้นที่นิดหนึ่งที่คนสามารถไประบายความรู้สึก ด่ารัฐบาล ด่าผู้นำได้ ซึ่งพื้นที่จริงๆ ในทางกายภาพไม่มีอยู่เเล้ว เราก็รู้ว่า อะไรพูดได้ ไม่ได้ กระทั่งในพื้นที่เสมือนที่เรากำลังพูดถึงก็มีเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่กระนั้นก็ยังพอมีที่ทางให้เราได้หายใจ มากกว่าพื้นที่กายภาพ”
สมมติ อภิสิทธิ์กับพวกไปเขียนลง 'ผู้จัดการ' เราจะโกรธขนาดนี้ไหมเรื่องนี้ พิมพ์สิริ อธิบายว่าประเด็นปัญหาเรื่อง อภิสิทธิ์ เท่าที่เห็นปรากฏการณ์นี้ผ่านหน้าสื่อออนไลน์ คือ (1) การใช้สโลแกนว่า ยืนเคียงข้างประชาชน Stand up for the people ดูเป็นการเคลมที่ใหญ่เกินไป โดยที่การเชิญอภิสิทธิ์มาเป็นคอลัมนิสต์อาจจะไม่ได้ Stand up for the People แต่เป็นStand on the People คือยืนบนหัวประชาชน มากกว่า
(2) ที่มีคนแย้ง คือการเชิญไปเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง โดยพูดว่ามารู้จักอีกด้านของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ซึ่งคนรู้สึกว่า ถ้าข้ามเรื่องการเมืองแล้วมาดูเรื่องสบายๆ คือการช่วยให้อภิสิทธิ์ที่จริงๆ พังไปแล้วในทางการเมือง กลับมาได้อีกรอบหรือไม่ โดยการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เป็นคนที่สไตล์ชิคๆ คูลๆ เชียร์นิวคลาสเซิ่ล ชอบวงโอเอซิส ชอบวงColdplay ซึ่งเป็นจริตคนชนชั้นกลางมากๆ เพราะอภิสิทธิ์คุยเรื่องการเมืองยังไง คนก็ก็ด่า เสื้อแดงด่าแน่นอน ฝ่ายประชาธิปไตยก็ด่า บางครั้งฝ่ายเดียวกันก็ยังด่า
ดังนั้นเลยข้ามไปคุยเรื่องไลฟ์สไตล์เก๋ๆ จึงเป็นกระบวนการจับใส่ตระกร้าล้างน้ำอีกรอบหรือเปล่า
นั่นคือปฏิกิริยาที่คนในสังคมโกรธเคืองมากๆ ซึ่งตอนนี้เห็นแว๊บๆ ว่าอภิสิทธิ์ก็ไปเขียนให้ ผู้จัดการเเล้ว ซึ่งประเด็นอยู่ที่ เรารู้อยู่เเล้วว่าผู้จัดการกลุ่มเป้าหมายเขาเป็นใคร
"แต่ว่าการที่ The Standard พยายามวางตัวให้เขาถึงชนชั้นกลางส่วนมาก ก็อาจจะทำให้หลายคนไม่วายต้องคิดว่าตัวละครทางการเมืองที่มีปัญหามากๆ และยังไม่ได้รับการสะสางทางคดี การนำมาครั้งนี้เพื่อชำระให้กลับมาอีกรอบหรือไม่ ในจังหวะที่(อาจจะ)มีการเลือกตั้งในปีหน้า"
ทำไมThe Standard ถึงต้องเกรี้ยวกราดในกรณีอภิสิทธิ์ด้วย ในขณะที่บอกว่าจะเป็นกลาง แล้วทำไมต้องแคร์
พิมพ์สิริ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า เขาอาจจะประเมินกลุ่มเป้าหมายผิดไปด้วยส่วนหนึ่ง คนอ่านอะเดย์อาจไม่ได้ตามมาที่ The Standard กลายเป็นว่า คนที่มาตามในยุคนี้อาจเป็นชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีความเห็นในทางการเมืองไปในทางฝ่ายเดิม แต่อาจเป็นชนชั้นกลางที่มีความคิดข้ามมาในฝ่ายอีกตรงข้าม เพราะว่าจนถึงวันนี้เรตติ้ง การให้ดาวในเพจก็ยังไม่ขึ้น ยังอยู่ที่ 2.3 เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาประเมินลูกค้าผิดไปนั้นเอง
แต่อย่างไรเสีย ปรากฏการณ์นี้ สำหรับตัว พิมพ์สิริเเล้ว เธอเห็นว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในยุคที่มีพื้นที่ที่ให้คนธรรมดาได้พูดมากขึ้น แม้ว่าในทางกฎหมายไม่สามารถทำอะไรคน(นักการเมือง)เหล่านั้นได้ แต่เรื่องราวของพวกเขาจะยังคงถูกส่งต่อ เป็นพื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ทางความทรงจำได้
ข้อมูลที่มาข่าวจาก
https://thestandard.co/news-thailand-the-standard-launch-05-06-2017/
http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000058857
ขอบคุณภาพประกอบจาก