โลกหลังภูเขาของครูและนักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง)
“นอกจากวิชาการ เป้าหมายของเด็กมีเรื่องชีวิตด้วย เราจะเบนเขาไปทางไหน ทุกวันนี้ผมชี้แนะแนวทางให้เขาเท่านั้น สุดท้ายก็อยู่ที่เขาว่าจะเรียนต่อไหม ผมชี้ได้แค่ว่า นักเรียนไปเรียนต่อตรงนี้นักเรียนไม่เสียเงินนะ ถ้าจังหวะชีวิตมันดีจริงๆ เธออาจได้ทุน”
โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 แต่เดิมเป็นโรงเรียนในสังกัดของโรงเรียน ต.ช.ด.บำรุงที่ 6 แรกเริ่มมีนักเรียน 6 คน
ในปี พ.ศ. 2519 โรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอแม่สะเรียง โดยเปิดเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านเสาหิน มีนักเรียนเรียน 18 คน ในปี พ.ศ. 2521 โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนเป็นโรงเรียนหลักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งในปี 2539 "สุพิทยา เตมียกะลิน" เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงเรียน จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 21 ปีแล้ว ปัจจุบัน โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาภายใต้ สพฐ. เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปีที่ 3 นักเรียนทั้งหมด 138 คนเป็นชาวไทใหญ่และกะเหรี่ยง พวกเขาพักแรมที่โรงเรียนตลอดทั้งเดือน เพราะบ้านอยู่ห่างโรงเรียนตั้งแต่ 3 กิโลเมตรเป็นต้นไป ก่อนจะหยุดทุกวันที่ 26-2 ของแต่ละเดือน
เส้นทางจากบ้านกับโรงเรียน เด็กๆ ใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เป็นเส้นทางลำห้วยและยอดดอยคณะครูก็เช่นกัน พวกเขาจะเดินทางลงจากโรงเรียนเดือนละครั้งเพื่อกลับบ้าน และจัดเตรียมเสบียงก่อนขึ้นมาเปิดปฏิทินดอยเรียนสอนกันในเดือนใหม่
เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเพียงหลวง 11 กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนักเรียนพักนอน นอกจากการเรียนหนังสือในห้อง พวกเขามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน ต่างจากนักเรียนในโรงเรียนพื้นราบทั่วไป เช้ามืดพวกเขาจะตื่นขึ้นมาทำธุระส่วนตัว นักเรียนที่ได้รับมอบหมายเป็นเวรประจำวันจะเตรียมประกอบอาหาร นักเรียนที่เป็นเวรดูแลสวนผักจะรดน้ำ นักเรียนที่เป็นเวรดูแลหมูขุน จะให้อาหาร อาบน้ำ ทำความสะอาดคอกหมู
ที่นี่เลี้ยงสัตว์อย่างหมู กบ ปลา เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้แก่นักเรียน เพราะหมู่บ้านสล่าเจียงตองไม่มีไฟฟ้าจากส่วนภูมิภาค แผงโซลาร์พาเนลกำลังผลิต 8 วัตต์ คือ แหล่งพลังงานไฟฟ้าเดียว ตัดเรื่องตู้เย็นออกไปได้เลย
นอกจากเลี้ยงสัตว์ พวกเขาปลูกเห็ด ผักสวนครัว ทั้งหมดนี้นักเรียนทั้งหมด 138 คน แบ่งหน้าที่กันทำ
“ถ้าเขามากินและนอน ก็เป็นแค่เด็กที่กินและนอน ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย” ครูใหญ่อธิบายถึงแนวคิดการทำกิจกรรมเหล่านี้ในโรงเรียน
“ครูคิดว่าการที่เขามาอยู่แล้ว เขาจะมีสังคมของเขา จะมีการปูพื้นเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อย่างกิจกรรมเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ จะมอบหมายหน้าที่ตามความสมัครใจ เธอจะรับผิดชอบอะไร หรือเธอชอบอะไร เธอจะลงงานตรงไหนให้ได้ผลดีที่สุด ความรับผิดชอบจะปลูกนิสัยรักการทำงานในการที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม”
ทุกกิจกรรมในโรงเรียนวางอยู่บนฐานเรื่องสุขภาวะ 4 ด้าน ร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และสติปัญญา ส่วนนี้เป็นความสามารถในการบริหารจัดการโรงเรียนมายาวนานของครูใหญ่ เจ้าของรางวัล ‘ครูยิ่งคุณ’ ประจำปี 2558 โครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะโดยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนในที่กันดาร แต่โรงเรียนเพียงหลวง 11 (สล่าเจียงตอง) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการประเมินของ สมศ. ซึ่งเราต้องให้เครดิตครูหนุ่มครูสาวที่ทำหน้าที่ทางวิชาการอย่างเต็มกำลัง
ครูโบ้-สราวุฒิ ตุ้ยมูล เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ครูโบ้มีพื้นฐานด้านการเขียนเพลงและเล่นกีตาร์ วันหนึ่งเขาเล่นกีตาร์ นักเรียนชาวกะเหรี่ยงรุมล้อมเข้ามาร้องเพลงร่วมกับครูโบ้
“ผมเล่นเพลงของวงลาบานูน วงแคลช บอดี้สแลม ผมก็แปลกใจ เราไม่สื่อสารผ่านภาษาไทยกัน แต่ถ้ามีดนตรีนักเรียนร้องเพลงตาม จากนั้นเขาเริ่มพูดคุยกับผมมากขึ้น ผมว่าเขาเปิดให้ผมเข้าไปในโลกของเขาเพราะดนตรี”
ชีวิตของนักเรียนที่นี่ต่างจากนักเรียนบนพื้นที่ราบทั่วไป การคมนาคมตัดพวกเขาออกจากโอกาสหลายอย่าง แต่ครูโบ้ถามตัวเองว่า เขามาทำอะไรที่นี่…นอกจากหน้ากระดานดำของวิชาคณิตศาสตร์ เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง…นอกจากเสียงดนตรี
“นอกจากวิชาการ เป้าหมายของเด็กมีเรื่องชีวิตด้วย เราจะเบนเขาไปทางไหน ทุกวันนี้ผมชี้แนะแนวทางให้เขาเท่านั้น สุดท้ายก็อยู่ที่เขาว่าจะเรียนต่อไหม ผมชี้ได้แค่ว่า นักเรียนไปเรียนต่อตรงนี้นักเรียนไม่เสียเงินนะ ถ้าจังหวะชีวิตมันดีจริงๆ เธออาจได้ทุน”
ภาษายังเป็นปัญหาการเรียนการสอนในห้อง ครูแมค-กิตติภัทร บารมีรัตนชัย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “ในการเรียนการสอนเราใช้ภาษาไทย เด็กบางคนมีอายุเยอะแต่อยู่ในชั้น ป.4-ป.5 เข้าโรงเรียนช้า แจ้งเกิดช้า ตกซ้ำชั้นก็มี ก็เป็นปัญหาการเรียนการสอนสำหรับครูดอย ซึ่งถ้าเราไม่แก้ปัญหาพวกนี้เขาก็ไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะภาษาไทย เพื่อที่จะไปศึกษาในวิชาอื่นต่อ ภาษาไทยต้องได้ ก็แก้ปัญหากันมาเรื่อยๆ”
จากปัญหาที่ครูแมคพบเจอ เขาพยายามควานหาวิธีแก้ปัญหา การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแต่ดั้งเดิม คือ การให้เด็กคัดคำศัพท์ เขียนคำผิดคำหนึ่ง เด็กต้องนั่งคัดคำหลายหน้ากระดาษ ครูแมคค้นพบวิธีการใหม่ซึ่งเกิดผลในทางที่ดีขึ้น เขาให้นักเรียนเขียนไดอารี
“โดยปกติการเรียนการสอน เราจะให้เด็กคัดคำศัพท์ ใครเขียนผิดมานั่งคัดคำ ผมเลยเปลี่ยนให้พวกเขาเขียนไดอารี สะท้อนได้ชัดเจนว่าเพื่อนแต่ละคนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากข้อเขียนที่พวกเขาเขียนถึงกัน บางคนเขียนเล่าถึงตอน ป.3 เพื่อนคนนี้ขี้เกียจ วันๆ เอาแต่ร้องไห้ แต่ทุกวันนี้เขาไม่ได้ร้องไห้แล้วครับ บางคนเขียนว่า หนูขอโทษนะคะที่เคยเรียกคนนี้ว่าไอ้ดำ เพราะหนูคิดว่าเขาจะไม่มีน้ำใจ แต่ทุกวันนี้เขามาช่วยเหลือคนอื่น มีเด็กแอบชอบกันก็เขียนบอกกัน เราได้สะท้อนความคิดของเด็กออกมาเรื่อยๆ”
หลังจากนั้น หลายหัวข้อหมุนเวียนสับเปลี่ยนบนกระดานดำและสมุดของเด็กๆ ความรัก ความสุข ความเศร้า ความฝัน แม้กระทั่งไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
“เราอ่านของเขา เราได้ความรู้ใหม่ เราได้รู้ความคิดของเขา ถึงแม้เขาจะเขียนถูกๆ ผิดๆ เราก็ไม่ได้ว่า แต่เขาเขียนทุกวัน บางคนเขียนจบทั้งเล่ม ดังนั้นทักษะการเขียนพัฒนาแน่นอน แต่ปัญหาที่ยังต้องแก้คือยังเขียนผิดๆ ถูกๆ แต่พอโตขึ้นไป เด็กพวกนี้จะเขียนได้”
ถ้าครูโบ้ใช้ดนตรีเป็นกุญแจไขเข้าไปในโลกของเด็กๆ ครูแมคก็ใช้การเขียนบันทึกเพื่อทำความรู้จักความคิดความฝันของพวกเขา ทั้งสองเป็นคนหนุ่ม เป็นคลื่นลูกใหม่ ครั้งหนึ่งครูสุพิทยา เตมียกะลิน ก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ ในอนาคต ด.ช.ฉ่าเกอปอ นายอาคม ด.ช.ศตวรรษ ด.ญ.แพรี่ ฯลฯ ก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่
ครูหนุ่มครูสาวที่สล่าเจียงตองไม่ได้ขับเรือลากโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนแพ พวกเขาผลักดันบางสิ่งที่หนักกว่า