จากร้องเรียนซ้อมทรมานถึงคลิปอนาจารสาว และ"ข้อเท็จจริงสีเทา"ที่ชายแดนใต้
หลายคนเรียกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "แดนสนธยา" เพราะมีหลากหลายปัญหาซ้อนทับอยู่บนผลประโยชน์มหาศาล ขณะที่การ "เข้าถึง" ของอำนาจรัฐนั้น แม้จะมีการส่งกำลังจากนอกพื้นที่ลงไปมากกว่า 6 หมื่นนาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในหลายตำบล หลายหมู่บ้าน อำนาจรัฐยังไม่อาจเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
สภาพการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบเข้ากับกลไกการตรวจสอบที่พิกลพิการ ไม่มีความเป็นกลาง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง เช่น ไม่มีหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ตำรวจ ทหาร ในการตรวจจุดเกิดเหตุ หรือไม่มีกระบวนการชันสูตรพลิกศพที่ชาวบ้านยอมรับ ฯลฯ เหล่านี้ก็ยิ่งทำให้อำนาจรัฐถูกปฏิเสธหรือลดความเชื่อมั่นได้ง่ายขึ้น อีกทั้งมีการสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นแทรกซ้อนสร้างอิทธิพลในพื้นที่ได้เสมอ
ความหวาดระแวง ไม่เชื่อถือกัน และปรากฏการณ์ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกัน จึงเกิดขึ้นมากมายในดินแดนแห่งนี้ และหลายๆ เรื่องสังคมก็แทบจะค้นหา "ความจริง" อันเป็นที่ยุติไม่ได้เลย
เหตุการณ์ทหารพรานยิงรถกระบะต้องสงสัยจนมีผู้เสียชีวิต 4 ศพที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2555 ซึ่งฝ่ายทหารพรานกับชาวบ้านให้ข้อมูลตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คือตัวอย่างที่ดีของสภาพการณ์ที่ว่านี้ ทำให้หลายเรื่องราวในพื้นที่กลายเป็น "สีเทา" คือไม่สามารถแยกแยะ "ดำ" กับ "ขาว" ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครถูกหรือผิดอย่างแท้จริง
คงมีแต่การกล่าวหากันไปมา แต่ก็ทิ้งคำถามค้างคาใจไว้ให้กับสังคม...
ร้องเรียนถูกซ้อมทรมาน กับคำชี้แจงของฝ่ายทหาร
กรณีร้องเรียนซ้อมทรมานล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ปรากฎการให้ข้อมูลโต้ตอบกันไปมา แต่สุดท้ายก็ยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
10 ก.พ. นายซุลกิพลี ซิกะ ชาว จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 จับกุมและควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และคุมตัวไว้ที่กรมทหารพรานที่ 46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส
10-16 ก.พ. ระหว่างถูกควบคุมตัว ญาติของนายซุลกิพลีได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ว่าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าเยี่ยมในวันแรกของการควบคุมตัว และนายซุลกิพลีถูกทำร้ายร่างกายโดยวิธีทุบตีที่บริเวณศีรษะ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจได้สะดวก และกระชากอวัยวะเพศจนเป็นเหตุให้หมดสติ
16-20 ก.พ. มีการย้าย นายซุลกิพลี ไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา ตามลำดับ
20 ก.พ. ญาติของนายซุกิพลี โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายขณะควบคุมตัว และได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินญาติผู้ยื่นคำร้อง และขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวมาไต่สวนถึงเหตุแห่งการควบคุมตัวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินญาติในฐานะผู้ร้องในวันที่ 21 ก.พ.
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ปล่อยตัว นายซุลกิพลี ในห้วงที่ศาลกำลังไต่สวนถึงเหตุแห่งการควบคุมตัวนั้นเอง
27-28 ก.พ. มีข่าวปรากฏในสื่อกระแสหลักหลายแขนงว่า นายซุลกิพลีได้เข้าร้องเรียนผ่านสื่อว่าถูกทหารซ้อมทรมานเพื่อให้สารภาพว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ โดยมีการจับศีรษะกระแทกพื้นจนศีรษะแตก รุมซ้อม ชกต่อย และใช้เท้าเตะจนสลบ ใช้ถุงพลาสติกและกระสอบปุ๋ยสีขาวครอบศีรษะเพื่อทรมาน รวมทั้งใช้มือบีบอวัยวะเพศเพื่อให้สารภาพ
ในข่าวระบุด้วยว่าญาติของนายซุลกิพลีได้เข้าร้องเรียนต่อ กสม. กับกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเอาไว้แล้ว และแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว
29 ก.พ. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ และรองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้เปิดแถลงข่าวกรณีนายซุลกิพลี และให้ข้อมูลอีกด้านชนิดตรงกันข้ามกับที่ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องมา สรุปประเด็นได้ดังนี้
- หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกจับกุมนายซุลกิพลี เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2555 เวลา 11.45 น.ที่บ้านไม่มีเลขที่ของ น.ส.ซาเร๊าะ ซิกะ พี่สาวของนายซุลกิพลี ตั้งอยู่หมู่ 9 ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
- ระหว่างจับกุม นายซุลกิพลี ได้ต่อสู้ขัดขืน ทำให้มีบาดแผลถลอกเล็กน้อย และยังได้ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือทิ้ง รวมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนของน้องชายมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำพรางตนเอง ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่อ้างว่านายซุลกิพลียอมรับสารภาพทั้งหมด (ทั้งเรื่องซิมการ์ดโทรศัพท์ และใช้บัตรประชาชนของน้องชาย) และยังยอมรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบด้วย
- 13 ก.พ. เจ้าหน้าที่นำตัวนายซุลกิพลีไปชี้จุดซุกซ่อนยุทโธปกรณ์ 3 จุดตามคำให้การ โดยมี น.ส.ซาเร๊าะ ซิกะ พี่สาวร่วมเดินทางไปด้วย แต่อาวุธถูกเคลื่อนย้ายไปหมดแล้ว
- 16 ก.พ. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกหมาย ฉฉ. โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยได้นำตัวไปซักถามและขยายผลเพิ่มเติมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และศูนย์พิทักษ์สันติใน ศชต.ก่อนปล่อยตัวเมื่อวันที่ 22 ก.พ.เนื่องจากครบกำหนดอำนาจการควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.
- 24 ก.พ. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดไต่สวนตามคำร้องของ น.ส.ซอเร๊าะ ที่คัดค้านการควบคุมตัวและขอขยายเวลาการควบคุมตัวนายซุลกิพลี แต่เนื่องจากนายซุลกิพลีได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ศาลจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องต่อไปอีก
- ข่าวที่ว่านายซุลกิพลีถูกส่งฟ้องศาล และศาลพิจารณาว่าไม่มีความผิดจนได้รับการปล่อยตัวนั้น ไม่เป็นความจริง
- ตลอดเวลาการควบคุมตัว ไม่มีการซ้อมทรมานทุกรูปแบบ และช่วงที่มีการร้องเรียนจากญาติของนายซุลกิพลี ฝ่ายทหารก็ได้ส่งแพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย แต่ก็ไม่พบร่องรอยการซ้อมทรมาน
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงที่มีข่าวเรื่องการซ้อมทรมานนายซุลกิพลีนำเสนอในสื่อมวลชนกระแสหลักนั้น ได้ปรากฏการเผยแพร่คลิปวิดีโอเป็นภาพทหารหลายนายกำลังรุมทำร้ายเด็กหนุ่มมุสลิมคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอในเบื้องต้นของฝ่ายความมั่นคง พบว่าน่าจะเป็นคลิปเก่าที่เคยถูกเผยแพร่มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.พิเชษฐ์ ได้เคยสั่งการให้มีการตรวจสอบกระทั่งทราบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เกิดมาตั้งแต่ปี 2548-2549 และบุคคลที่ถูกรุมทำร้ายในภาพก็ไม่ใช่นายซุลกิพลี
ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นความจงใจเผยแพร่คลิปจากบางฝ่ายเพื่อให้สอดรับหรือเพิ่มน้ำหนักกับข่าวการร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานที่มีนายซุลกิพลีอ้างว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่
ขณะเดียวกันก็มีคำถามไปถึงฝ่ายทหารว่า เหตุใดจึงรีบปล่อยตัวนายซุลกิพลีเพียง 1-2 วันก่อนที่ศาลเรียกไต่สวนคำร้องควบคุมตัวโดยมิชอบ เนื่องจากตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้คราวละ 7 วันแต่รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน แต่ช่วงที่นายซุลกิพลีได้รับการปล่อยตัว เพิ่งถูกควบคุมตัวเพียง 6-7 วันเท่านั้น
ขณะที่ในคำชี้แจงของฝ่ายทหาร อ้างว่านายซุลกิพลียอมรับสารภาพ ถึงขั้นพาไปชี้จุดซุกซ่อนยุทโธปกรณ์ แต่กลับไม่มีการขอขยายเวลาการควบคุมตัวต่อไป ทั้งๆ ที่ยังมีอำนาจควบคุมตัวได้ ซึ่งในที่สุดน่าจะแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ได้ด้วย แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ดำเนินการ
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการชิงปล่อยตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวและข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานหรือไม่
ประเด็นที่น่ากังขาทั้งสองมุมนี้ยังไม่มีคำตอบ และเป็นประเด็นที่ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป
คดีอนาจารหญิงสาว กับเรื่องฉาวปล่อยคลิปปริศนา
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งปรากฏเป็นข่าวซุบซิบตามร้านน้ำชาในพื้นที่มาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็คือการเผยแพร่คลิปวิดีโอเป็นภาพเจ้าหน้าที่ทหารกำลังกระทำอนาจารหญิงสาวมุสลิม
เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักบางแขนงเมื่อวันที่ 1 มี.ค.เนื้อหาข่าวระบุถึงการบังคับขืนใจหญิงสาวอายุ 16 ปีโดยพลทหารรายหนึ่ง ชื่อย่อ "ว." และเหตุการณ์บังคับขืนใจนี้ถูกบันทึกภาพด้วยโทรศัพท์มือถือโดยพลทหารอีกรายหนึ่ง ชื่อย่อ "ย." เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ตามข่าวระบุว่า เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 21 หรือ 22 ก.พ. พลทหาร "ว." ได้นัดแนะให้เด็กสาวผู้เสียหายไปพบ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จากนั้นก็มีการบังคับขืนใจ โดยพลทหาร "ย." ถ่ายคลิปเอาไว้ พร้อมข่มขู่ฝ่ายหญิงว่าหากไม่ยอมเชื่อฟังจะนำคลิปออกเผยแพร่
หลังจากนั้นครอบครัวของฝ่ายหญิงทราบเรื่อง จึงเข้าร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของพลทหารทั้ง 2 นาย เบื้องต้นตกลงกันว่าจะต้องไม่มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ทว่าภายหลังคลิปกลับถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้ครอบครัวของฝ่ายหญิงแจ้งความดำเนินคดีเอาไว้ที่ สภ.ยะรัง และได้มีการนัดเจรจากันระหว่างฝ่ายผู้เสียหายกับฝ่ายทหาร โดยมีผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนาร่วมเป็นสักขีพยาน รวมทั้งร่วมกันหาทางออกไม่ให้เรื่องราวบานปลายออกไป เพราะเกรงว่าจะกระทบกับฝ่ายหญิง
เปิดข้อมูลฝั่งทหาร กับความรู้สึกของชาวบ้าน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พยายามรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้จากฝ่ายทหาร จนได้รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น สรุปได้ว่า เหตุการณ์กระทำอนาจารและถ่ายคลิปเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 21 ก.พ. และหน่วยทหารต้นสังกัดได้ทราบเรื่องในวันที่ 22 ก.พ.
จากนั้นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจได้เข้าไปพูดคุยกับครอบครัวของฝ่ายหญิง โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ กำนัน โต๊ะอิหม่าม ผู้นำชุมชน และผู้แทนจาก ศอ.บต. กระทั่งมีการทำข้อตกลงกัน 3 ข้อ กล่าวคือ
1.ให้ย้ายฐานทหารออกจากหมู่บ้าน ซึ่งได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่มีการพูดคุยเจรจา
2.ดำเนินการกับพลทหารที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุดฝ่ายทหารได้ดำเนินการเบื้องต้นด้วยการควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี และเอาผิดทางวินัยฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และรอการดำเนินคดีอาญาตามที่ฝ่ายผู้เสียหายจะฟ้องร้องต่อไป
3.เยียวยาความเสียหาย ยังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกัน
"เรื่องนี้เราถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล และไม่ได้ปกป้อง เบื้องต้นได้ลงโทษ รวมทั้งสอบสวนความผิดทางวินัยแล้ว ส่วนทางอาญาก็รอให้ฝ่ายผู้เสียหายดำเนินการ เช่นเดียวกับเรื่องการเยียวยาเราก็ไม่ได้ละเลย เรื่องที่เกิดขึ้นแม่ทัพได้สั่งให้ดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่รับทราบ เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว เพราะทุกฝ่ายต้องการให้เป็นเรื่องที่จบกันภายใน มิฉะนั้นฝ่ายหญิงจะได้รับความเสียหาย" แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตและคำถามจากฝั่งทหารในหลายประเด็น ดังนี้
- กรณีที่เกิดขึ้นกองทัพไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่เป็นการกระทำส่วนบุคคลที่ยากจะควบคุม และต้นตอของเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่การข่มขืน หรือบังคับขืนใจ แต่กระนั้นการลักลอบถ่ายคลิปย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย
- คลิปอนาจารถูกเผยแพร่ออกมาได้อย่างไร เพราะฝ่ายทหารเชื่อว่าไม่น่าจะมีการเผยแพร่จากฝั่งผู้กระทำ เนื่องจากถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่หลังก่อเหตุ
- ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นข่าวขึ้นมา ทั้งๆ ที่ตกลงกันแล้วว่าจะแก้ปัญหากันเป็นการภายในเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงฝ่ายหญิง
ด้านความเห็นของผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนมองภาพลักษณ์ของทหารในแง่ลบมากขึ้นไปอีก จริงอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบัน การมีอะไรกันระหว่างชายกับหญิง หลายๆ ฝ่ายอาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมีคลิปปรากฏและถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้กลายเป็นประเด็น
"กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมา บ้างก็ว่าเป็นการยินยอมของฝ่ายหญิง บ้างก็ว่าเป็นการข่มขืนนั้น ส่วนตัวผมไม่อยากพูดไรมาก เพราะพฤติกรรมการสมยอมหรือข่มขืน คนที่ได้เห็นภาพในคลิปจะตัดสินใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คนที่ไม่มีโอกาสได้ดูคลิป ก็ไม่อยากให้ตัดสินใจมุมใดมุมหนึ่งไปก่อน อยากให้มอง 2 มุม"
"จุดที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือ ช่วงที่คนสองคนกำลังมีอะไรกันอยู่ แล้วอีกคนถ่ายคลิป ถือเป็นเรื่องผิดปกติใช่หรือไม่ และการที่คลิปเผยแพร่ออกมาอย่างนี้ ถือว่าเด็กได้รับความเสียหายมาก เด็กผู้หญิงอายุแค่ 16 ปี การกระทำนี้จึงถือเป็นความผิดอาญา จะมาอ้างว่าเป็นการสมยอม ผมว่าไม่ยุติธรรมกับครอบครัวของเด็กและตัวเด็กเอง ซึ่งทราบว่าทางครอบครัวของเด็กจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เพราะเสมือนลูกสาวตายทั้งเป็น"
ผู้นำท้องถิ่นรายนี้ กล่าวด้วยว่า อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับกำลังพลของหน่วยอื่นๆ ว่าก่อนจะทำอะไรให้นึกถึงผลเสียที่จะตามมาด้วย ไม่ใช่กระทำตามแต่อารมณ์ของตัวเอง
ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เสียหายนั้น มี 3 ข้อ คือ 1.ให้ย้ายทหารสังกัดนี้ออกจากตำบล 2.ต้องดำเนินคดีกับทหารเกณฑ์ที่ก่อเหตุให้ถึงที่สุด และ 3.เยียวยาชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเหตุการณ์ 4 ศพที่ปุโละปุโย (เหตุการณ์ทหารพรานยิงรถต้องสงสัยมีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บ 4 รายที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555)
ต้องทำความจริงให้ปรากฏ
ระยะหลังมักได้ยินคำพูดจากฝ่ายความมั่นคงบ่อยครั้งว่า "เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ อยากให้สังคมได้ใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน เพราะบางครั้งสิ่งที่มองเห็น อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป..."
แม้คำพูดลักษณะนี้จะมีน้ำหนักไม่น้อย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ "ข้อมูลข่าวสาร" ทั้ง "ข่าวลือ" และ "ข่าวจริง" ผ่านทั้ง "สื่อกระแสหลัก" และ "สื่อทางเลือก" ทั้งหลาย เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในสงครามที่ดินแดนปลายสุดด้ามขวานก็ตาม ทว่าในฐานะของการเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ย่อมมิอาจปฏิเสธ "หน้าที่" ของการ "ทำความจริงให้ปรากฏ"
เพราะเสียงจากชาวบ้านหลังเกิดกรณีคาใจทุกกรณี ทุกคนพูดตรงกันว่าส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจ ทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...
และหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐก็กระทำความผิดเสียเอง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเสียเอง แม้บางกรณีจะเป็นเรื่องในอดีต หรือเป็นเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ ทว่าเมื่อกรณีต่างๆ เหล่านั้นยังคงเป็น "สีเทา" เพราะไม่ได้ได้รับการพิสูจน์อย่างจริงจัง ไม่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษผู้กระทำผิดให้ชาวบ้านเห็น สภาพการณ์ของความไม่เชื่อมั่นก็จะปรากฏต่อไป และจะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดกรณีใหม่ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานความมั่นคงต้องสร้างกลไกป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และ "ทำความจริงให้ปรากฏ" ทุกกรณี มิฉะนั้นหน่วยงานความมั่นคงเองนั่นแหละจะหมดสิ้นความชอบธรรมและพ่ายแพ้ในสงครามแย่งชิงมวลชน ณ ปลายด้ามขวาน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา