นักวิชาการรุมยำ “โมเดลปรับชาวบ้านค่าโลกร้อน” กรมอุทยานฯเพี้ยน
นักวิจัยเผยชาวบ้าน 500 รายโดน 131 คดีรุกป่า 30 คดีโลกร้อน เรียกค่าเสียหายกว่า 17 ล้าน นักวิชาการรุมยำโมเดลค่าโลกร้อนกรมอุทยานฯ ธีรยุทธชี้คิดแบบตั้งใจโง่ เดชรัตมองไร้เศรษฐธรรม นักกฎหมายบอกเกณฑ์ 7 ข้อเลื่อนลอย แนะชุมชนยืนยันสิทธิในการใช้ควบคู่รักษาทรัพยากร
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดสัมมนา “การคิดค่าเสียหายคดีโลกร้อน : นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” โดย คปท. ระบุว่าจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดปี 2553 พบว่ามีชาวบ้านในเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาข้อหาบุกรุกป่า 131 คดี 500 รายทั่วประเทศ จำนวนนี้เป็นข้อหาทำให้โลกร้อน 30 ราย ซึ่งนอกจากถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ ยังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามมาอีกรวมกว่า 17,559,434 บาท
นายธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รากเหง้าคดีโลกร้อนเกิดจากฐานวิธีคิดที่ผิดพลาด รับกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบตะวันตกเข้ามาโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับสังคมไทย ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด นอกจากนี้เกิดจากฐานอำนาจในสังคมที่ไม่สมดุล โดยกระจุกตัวอยู่ที่รัฐ ไม่กระจายอำนาจสู่ชาวบ้าน ทั้งนี้การคำนวณค่าโลกร้อนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช เป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้มองภาพรวมทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ตามสภาพความเป็นจริง คือปัญหาโลกร้อนเกี่ยวข้องกับหลายตัวแปรทั้งด้านทรัพยากร วิถีชุมชนทั้งเมืองและชนบท ทั้งคนใช้ปุ๋ยและคนใช้เครื่องปรับอากาศ
“วิธีคิดแบบตัดตอนง่ายและไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการคิดแบบตั้งใจโง่ ความผิดพลาดเกิดจากการพัฒนาตั้งแต่ต้น คนที่เข้าใจวิทยาศาสตร์ไม่น่ามองปัญหาปลายทางเช่นนี้ ต้องดูต้นตอและภาพรวมจะดีกว่า”
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าใช้หลักการ “ใครก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องเป็นผู้จ่าย” กรณีอากาศร้อนขึ้นหรือการสูญเสียน้ำ ก็ต้องวางระบบคิดค่าเสียหายสำหรับผู้ก่อเหตุในทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม มิใช่คิดเฉพาะเกษตรกรรายย่อย บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จ้างชาวบ้านทำการเกษตรก็ต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม
“แบบจำลอง(โมเดล)การคิดค่าเสียหายของกรมอุทยานฯ เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ไร้เศรษฐธรรม คือคิดค่าเสียหายกับเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น ทั้งที่เกษตรกรสร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรในเมือง ภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม”
นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ กล่าวถึงแบบจำลองการคิดค่าเสียหายของกรมอุทยานฯว่าไม่สมเหตุสมผล พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ เช่น การปรับค่าทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ฝนตกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ซับซ้อน แต่กรมอุทยานฯกลับเหมารวมว่าเป็นเพียงเพราะชาวบ้านเข้าไปทำมาหากิน ทำให้ต้นไม้น้อยลงและมีความผิด ซึ่งขาดความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
“มีแค่การคิดมูลค่าความเสียหายทางตรงตามประเภทป่าเท่านั้นที่พอฟังได้ นอกนั้นใช้ไม่ได้เลย เป็นเรื่องที่นักกฎหมาย นักวิชาการต้องทำความเข้าใจและสื่อให้ชาวบ้านรู้”
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิชุมชนในการเข้าถึง จัดการและดูแลรักษาทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การคิดค่าเสียหายก็ควรใช้หลักเสมอภาคไม่ใช่บังคับใช้เฉพาะกับชาวบ้าน และต้องไม่ใช่การคิดแนวเดียว ต้องมีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น และคำนึงถึงสิทธิชุมชนด้วย
“ชุมชนต้องแสดงออกว่ามีสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิธรรมชาติในการทำกิน ไม่ใช้สิทธิทุน และแสดงตนว่ามีความสามารถในการจัดการทรัพยากร โดยระบุให้ชัดว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร ใช้ทรัพยากรเพื่ออะไรโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาวางเจตจำนงร่วมกัน ส่วนนักกฎหมายต้องสร้างความเข้าใจให้ชัด และยืนยันสิทธิให้ชาวบ้าน” ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว .