ภาคปชช.วอล์คเอาท์ประเดิมเวทีประชาพิจารณ์แก้ กม.บัตรทอง
เวทีประชาพิจารณ์แก้ กม.บัตรทอง ประเดิมรับฟังความเห็นพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ผู้ร่วมประชาพิจารณ์คึกคัก ภาคประชาชนแสดงจุดยืน “วอล์คเอาท์ ไม่ร่วมประชาพิจารณ์” พร้อมแถลงการณ์ เรียกร้องยุติรับฟังความเห็น เหตุมุ่งแก้ไขเจตนารมณ์ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทบผู้ป่วย ขณะที่ภาพรวมผู้ให้บริการ หนุนเดินหน้าแก้ไข
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมลีการ์เดนท์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ" ซึ่งเป็นเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรก โดยมีผู้แทนวิชาชีพทางการแพทย์ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และเครือข่ายประชาชนสนใจเข้าร่วมเพื่อแสดงความเห็นทั้งลงทะเบียนล่วงหน้าและลงทะเบียนที่ที่ประชุมเป็นจำนวน เกือบ 300 คนตามเป้าหมาย
นพ.พลเดช กล่าวว่า การประชาพิจารณ์วันนี้เป็นการรับฟังความเห็นและระดมข้อเสนอแนะต่อประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่คณะกรรมการยกร่างแก้ไขกฎหมายที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้จัดทำร่าง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ แล้วเสร็จ ตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยจะมีการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
สำหรับการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นครั้งแรก โดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กำหนดจัดเวที 4 ภาค ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) จะเป็นเวทีประชาพิจารณ์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ส่วนเวทีประชาพิจารณ์ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น และเวทีประชาพิจารณ์ภาคกลาง กรุงเทพ จะมีขึ้นในวันที่ 17 มิ.ย. และ วันที่ 18 มิ.ย. ตามลำดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ซึ่งเป็นเวทีลำดับสุดท้ายในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจะมีการถกแถลงผู้แทนกลุ่มเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วม ส่วนการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซด์ www.lawamendment.go.th ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีประชาชนร่วมแสดงความเห็นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“การประชาพิจารณ์ในวันนี้มีความสำคัญมากจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลระบบให้ยั่งยืน” ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชาพิจารณ์ฯ ในเวทีได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งจากฝ่ายผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และตัวแทนเครือข่ายต่างๆ โดยภาพรวมแทนผู้ให้บริการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ทั้งการแยกเงินเดือน การเพิ่มกรรมการสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. การร่วมจ่ายค่าบริการ เป็นต้น ขณะที่ภาพรวมผู้รับบริการและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้
ทั้งนี้ในช่วงที่ นางชโลม เกตุจินดา ประธานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ได้แสดงความคิดเห็นเห็นโดยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งดำเนินมาร่วม 15 ปีแล้วถือเป็นระบบที่ดี ซึ่งเท่าที่ดูข้อเสนอ 14 ประเด็น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจากมองว่ากำลังทำให้ประชาชนถูกริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ และจะทำให้ สปสช. กลายเป็นกรมหนึ่งของกระทรงสาธารณสุข อีกทั้งกระบวนการรับฟังความเห็นนอกจากไม่เปิดกว้าง ยังจำกัดเวลามาก ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงเห็นว่าอยากให้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ พร้อมกับตะโกนข้อความว่า “หากแก้ไขแล้วแย่ อยากให้เริ่มใหม่”
ต่อจากนั้นกลุ่มเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้วอล์คเอาท์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ฯ นี้ พร้อมกับได้ร่วมตัวอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้าห้องประชุม เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ “แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม หยุด!!!กระบวนการและเริ่มใหม่”
โดยแถลงการณ์ระบุว่า “เครือข่ายฯ ได้ติดตามการใช้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อระบบบริการสุขภาพภาพรวมเป็นอันมาก ลดการล้มละลายครัวเรือนชัดเจน ขณะเดียวกันก็พบข้อติดขัดทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ มาตรฐานการรักษาเดียวกันทุกกองทุน การแยกผู้จัดบริการและผู้บริการ การครอบคลุมประชากรทุกลุ่ม การร่วมจ่ายภาษีทางตรงและทางอ้อม ไม่เรียกเก็บ ณ จุดบริการ และสิ่งสำคัญคือหลักการการมีส่วนร่วมที่ต้องสนับสนุนให้ภาคประชาชนจัดบริการ
ทั้งนี้ เราพร้อมร่วมประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขกฎหมายแต่ต้องคงหลักการสำคัญข้างต้น แต่กระบวนการรับฟังความเห็นที่จำกัดผู้เข้าร่วม 300 คน กำหนดเวลา 3 นาที รวมทั้ง 14 ประเด็นที่แก้ไขยังมีนัยยะขัดหลักการสำคัญที่เครือข่ายกังวล ทั้งการเพิ่มกรรมการ สปสช.ในสัดส่วนผู้ให้บริการ การเน้นปลดล็อคการเบิกจ่ายเงินหน่วยบริการ ทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอประชาชนต่อการเข้าถึงยา ดังนั้นเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์รับฟังไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดความยั่งยืน จึงขอเรียกร้องให้ยุติกระบวนการรับฟังความเห็นครั้งนี้ และจัดกระบวนการรับฟังความเห็นใหม่โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อเสนอ ซึ่งเครือข่ายฯ จะยังคงติดตามการแก้ไขกฎหมายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคงเจตนารมณ์และหลักการต่อไป
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า การที่ภาคประชาชนวอล์คเอาท์ออกจากเวทีควรมีการทบทวน เพราะการพูด 3 นาทีในประเด็นสำคัญไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนความเห็น ดังนั้นในการจัดเวทีความเห็นกลางทางสถาบันพระปกเกล้าควรจัดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ตกผลึก ซึ่งจะทำให้เกิดความสมานฉันท์และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จจริง ทั้งมองว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ภาพรวมยังดำเนินไปได้อยู่ หากจะแก้ไขเห็นว่าควรเป็นการแก้หลังเลือกตั้ง ไม่ควรรีบเร่งจนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้น
ขณะที่ นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่เครือข่ายประชาชนออกจากเวทีประชาพิจารณ์ก่อน และแถลงการณ์นอกห้องประชุม นับเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยและเป็นสันติวิธี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ แต่อยากฝากไปยังประชาชนที่ออกไปก่อนว่ายังสามารถแสดงความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยยังเปิดกว้างรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ดียิ่งขึ้นตามที่มุ่งหวัง