สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคปอดและหัวใจเรื้อรัง
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ชี้ ควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากไอน้ำ และนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย แต่เป็นไปได้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าใจว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบเพราะว่ามีควันเยอะดี ขอชี้แจงว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และที่ผู้สูบพ่นออกมาจำนวนมากนั้น นอกจากไอน้ำ และนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม
ทั้งนี้การวิจัยพบว่าไอระเหยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีขนาดอนุภาคที่เล็กมากกว่าอนุภาคในควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้มีลักษณะเป็นควันละเอียดที่ถูกสูดเข้าสู่ปอดได้ลึกมาก อนุภาคที่เล็กมากนี้ส่วนหนึ่งจะจับกับเนื้อเยื่อปอดไม่สามารถที่จะถูกขับออกมาจากปอดได้ และส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยแม้ว่าสารก่อมะเร็งที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยชนิดกว่าในควันบุหรี่ธรรมดา และเป็นไปได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา
แต่มีรายงานการวิจัยในหนูที่ให้หายใจเอาไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าวันละหนึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละห้าวันเป็นเวลาสี่เดือน พบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอด มีการหลั่งสารเคมีที่บ่งถึงการได้รับความระคายเคืองของเนื้อเยื่อ และมีการทำลายของเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงระยะแรกของโรคถุงลมปอดพอง ในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา (Garcia-Arcos วารสาร Thorax 24 สิงหาคม 2559) ขณะที่มีรายงานการวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของการสูดควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยภายหลังการสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเพียงสิบครั้ง จะสามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก (L.Antonie Wiz วารสาร Atherosclerosis 2016) เช่นเดียวกับการตรวจพบในเลือดคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา การวัดความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็พบว่าลดลงหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอดและเซลล์บุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมือนกับการตรวจพบในการสูบบุหรี่ธรรมดา ต้องมีการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะแพร่หลายเป็นเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้เอง “ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และโดยเฉพาะขอเรียกร้องให้เยาวชนอย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยอย่าไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะเลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดาเลยทีเดียว”