มสธ.โพลล์ 4 คำถามนายกฯ ปชช.47% เชื่อเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ได้ รบ.มีธรรมาภิบาล
ศูนย์วิจัยฯ มสธ. ทำโพลล์ประชาชนคิดอย่างไรกับ 4 คำถามนายกฯก่อนเลือกตั้ง พบ ปชช. 47% เห็นว่าเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ได้ รบ. มีธรรมาภิบาล 68% ควรใช้กลไก รธน. แก้ไข เสียงส่วนใหญ่ 68% เห็นว่า การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงปฏิรูปไม่ถูกต้อง 89% เห็นว่า ไม่ควรให้โอกาสนักการเมืองพฤติกรรมไม่เหมาะเข้ามาอีก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (STOU PSC POLL) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ครั้งที่ 5/2560 ระหว่างวันที่ 1-7 มิ.ย. 2560 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 11,262 คน เป็นหญิง 6,026 คน (53.51%) ชาย 5,236 คน (46.49%) เกี่ยวกับ “ประชาชนคิดอย่างไร เกี่ยวกับคำถามสี่ข้อของนายกรัฐมนตรี ก่อนพาประเทศสู่การเลือกตั้ง”
พบว่า ในคำถามการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 47.28 เห็นว่า ไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล มีเพียงร้อยละ 11.25 เท่านั้นที่เห็นว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และไม่แน่ใจร้อยละ 41.47
ส่วนคำถามหากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลควรทำอย่างไร ประชาชนร้อยละ 68.34 เห็นว่า ควรใช้กลไกรัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหา มีเพียงร้อยละ 23.38 ที่เห็นว่าควรใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหา และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.28
ในคำถามการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่ มีประชาชนร้อยละ 68.84 เห็นว่า ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 8.62 เห็นว่าถูกต้อง และร้อยละ 22.54 ไม่แน่ใจ
ส่วนคำถามนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 89.25 เห็นว่า ไม่ควรมีโอกาส ร้อยละ 7.23 เห็นว่า ควรมีโอกาส และร้อยละ 3.52 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้หากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาได้ ใครจะเป็นผู้แก้ไข ประชาชนร้อยละ 71.22 เห็นว่า ผู้แก้ไขคือผู้ที่อยู่ในกลไกรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ 19.02 ที่ระบุว่า ผู้แก้ไขคือผู้ที่อยู่นอกกลไกรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 9.76 ไม่แน่ใจ
หากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาได้แล้วจะแก้ไขด้วยวิธีใด ประชาชนร้อยละ 76.32 เห็นว่า ควรรับโทษตามพฤติกรรม และเพิกถอนสิทธิ์การลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ร้อยละ 15.42 เห็นว่า ควรรับโทษตามพฤติกรรมและเพิกถอนสิทธิ์การลงรับสมัครเลือกตั้งระยะหนึ่ง ร้อยละ 4.62 เห็นว่า ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ให้ประชาชนพิจารณาเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และร้อยละ 3.64 ไม่แน่ใจ