ธนาคารพันธุ์ข้าว ทางเลือกทางรอด เกษตรกรบางระกำพ้นวิกฤติอุทกภัย
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สุภาษิตที่อาจจะคุ้นหูจนใครหลายคนชินชา และหลายคนแทบไม่สนใจกับความหมายของมัน กลับกลายเป็นสุภาษิตที่บ่งบอกถึงความเป็นประเทศไทยได้อย่างดีที่สุด
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยประมาณร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในชนบทล้วนเป็นกระดูกสันหลังที่ผลิตข้าวปลาอาหารหล่อเลี้ยงประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
หากแต่สถานการณ์ของมหาอุทกภัยที่ผ่านมากลับทำให้กระดูกสันหลังของชาติจำนวนมากได้รับผลกระทบ จนอาจจะกล่าวเป็นสุภาษิตบทใหม่ได้ว่า “ในน้ำมีแต่ปลา และในนาก็มีปลาไม่มีข้าว” โดยเฉพาะพื้นที่ในตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่มีพื้นที่ของเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 3,000 ไร่
ด้วยเหตุนี้โครงการรวมใจพลิกฟื้นคืนความสุขให้คนบางระกำ ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายสุขภาวะตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่บางระกำจึงได้ร่วมกันคิดโครงการ “ธนาคารพันธุ์ข้าว” ขึ้นมาเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งการเยียวยา
ที่จะช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็ว
ณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ เปิดเผยเรื่องราวของโครงการธนาคารพันธุ์ข้าวให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ. 2549 พื้นที่บางระกำก็ถูกน้ำท่วมแต่ไม่มากขนาดนี้ ซึ่งขณะนั้นสิ่งที่เสียหายมากที่สุดก็คือพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรจะต้องใช้ในการทำนา แนวคิดในการจัดตั้งโครงการธนาคารพันธุ์ข้าวจึงเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2550 แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร จนน้ำท่วมครั้งนี้
โครงการธนาคารพันธุ์ข้าว จึงได้เริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจังโครงการธนาคารพันธุ์ข้าวของตำบลบางระกำ อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม เริ่มต้นโดยการลงสำรวจความต้องการของชาวบ้านว่ามีความต้องการพันธุ์ข้าวแบบไหน อย่างไร เมื่อได้ความต้องการของชาวบ้านเสร็จสิ้นแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เปิดให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนว่าต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของพันธุ์ข้าวหรือเรื่องการปลูกพืชผักชนิดอื่น
“เราจะสำรวจข้อมูลความต้องการพันธุ์ข้าวของชาวบ้านด้วยการลงพื้นที่ดูผืนนา เพื่อดูว่าปริมาณน้ำที่ท่วมนั้นมีมากขนาดไหนและเสียหายมากแค่ไหน เมื่อได้ข้อมูลของเกษตรกรในแต่ละหมู่บ้านแล้วเราก็จะนำมาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกัน เพื่อจัดสรรพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของชาวบ้าน หลังจากนั้น เราก็จะปล่อยให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนในการเข้าร่วมโครงการธนาคารพันธุ์ข้าว เมื่อชาวบ้านมาลงทะเบียนแล้วเราก็จะขึ้นทะเบียนในแต่ละบ้านเลขที่ ว่าเกษตรกรคนใดมีความต้องการในพันธุ์ข้าวแบบไหน อย่างไรบ้าง เราก็จะแจกพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านต้องการให้”
เบื้องต้นโครงการนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อชาวบ้านทำนาเสร็จแล้วจะต้องนำพันธุ์ข้าวที่ได้มาคืนให้กับธนาคารพันธุ์ข้าว แต่ทางธนาคารจะไม่รับคืนเป็นข้าว จะรับคืนเป็นจำนวนเงินเท่าที่ให้พันธุ์ข้าวไป เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและหมุนเวียนในการจัดซื้อพันธุ์ข้าวในรูปแบบต่าง ๆ มาให้ชาวบ้านอีก
พันธุ์ข้าวในโครงการธนาคารพันธุ์ข้าวของชาวบางระกำนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคจากหลากหลายหน่วยงานที่มอบพันธุ์ข้าวให้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พยายามทยอยในการหาพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านที่อาจจะใช้พันธุ์ข้าวมากกว่า 4 ตัน
ความคาดหวังมากที่สุดของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินโครงการธนาคารพันธุ์ข้าวของคนบางระกำขึ้นมานั้นก็เพื่อต้องการให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และรู้ถึงคุณค่าในตัวเองพร้อมทั้งสามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เพราะเมื่อชุมชนของเราเข้มแข็งและยั่งยืนแล้ว เราก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ในประเทศได้ และช่วยเหลือประเทศของเราให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอีกด้วย.