สสค.จี้ยกระดับการศึกษา-หนุนเรียนอาชีวะ ป้อนตลาดแรงงานยุค 4.0
นักวิชาการ สสค.จี้รัฐพัฒนาการศึกษาไทย หลังพบเป็นตัวแปรฉุดดัชนีการพัฒนามนุษย์หล่นอันดับ 87 ของโลก ลดความเหลื่อมล้ำโดยเร็ว หนุนเด็กเรียนสายวิชาชีพ เชื่อช่วยพัฒนาตลาดแรงงานได้
วันที่ 7 มิ.ย. 2560 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป (Thai Reporter 4.0) นำร่อง 10 จังหวัด จัดประชุม “ชวนสื่อรู้เท่าทัน การศึกษายุคไทยแลนด์ 4.0 ณ โรงแรมเบสเวสเทิร์น พลัส จ.นนทบุรี
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเด็กไทยเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนฐานะร่ำรวยกับยากจนให้ได้ และต้องพัฒนาระบบการศึกษา โดยให้มีสัดส่วนเด็กออกจากการศึกษาก่อนระดับภาคบังคับให้น้อยลง
ทั้งนี้ จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ ( Human Development Index: HDI) ปี 2558 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 87 จาก 188 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการศึกษาถือเป็นตัวแปรสำคัญทำให้อันดับตกต่ำ ดังนั้นจะต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อหวังให้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยดีขึ้น อย่างน้อยอันดับที่ 60 ซึ่งใกล้เคียงกับมาเลเซีย หนึ่งในประเทศอาเซียน
ขณะที่ในด้านมิติความเหลื่อมล้ำ สัดส่วนประชากรไทยที่อยู่ใต้เส้นความเหลื่อมล้ำต้องลดลงร้อยละ 7.4 และระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคมต้องลดลงร้อยละ 16.25 ภายใน 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ถือว่าเรื่องที่ดีของคนในสังคม หากลดความเหลื่อมล้ำได้ จะสามารถช่วยเหลือเพื่อเป็นแต้มต่อแก่กลุ่มเป้าหมาย และสู้กับประเทศอื่นได้ .
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีหลักสูตรการศึกษามาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามักล้มเหลว เพราะให้ความสำคัญผิด เช่น การยกย่องเด็กสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง ลักษณะเหล่านี้เปรียบได้กับอาชญากรรมอีกทางหนึ่งหรือไม่ แทนที่จะยกย่องให้ทั่วถึง แม้จะไม่โดดเด่นในเรื่องการศึกษา แต่ยังประกอบอาชีพเสริมช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว
โดยมองว่าการศึกษาสายอาชีวะ หรือสายวิชาชีพ มีความสำคัญ และมีโอกาสจะมีรายได้สูงกว่าเด็กที่จบปริญญาตรี ดังนั้นในอนาคต การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่ทางออกของการก้าวไปสู่การทำงาน แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แม้ขณะนี้ภาพรวมยังพบผู้ใหญ่นิยมส่งเสริมเด็กให้เรียนหลักสูตรปริญญาตรีอยู่ก็ตาม เพียงเพราะเชื่อว่า จบมาแล้วจะได้มีฐานเงินเดือนสูงกว่าสายวิชาชีพ .