'ทรัมป์' อ้างเป็นผลงานของตัวเอง ที่ซาอุฯ-รัฐอาหรับกำลังโดดเดี่ยว'กาตาร์'
บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่เพียงออกโรงหนุนหลังเต็มที่เท่านั้น แต่ยังอวดว่าเป็นผลงานของตนเองอีกด้วย ในการที่ซาอุดีอาระเบียและเหล่าพันธมิตรรัฐอาหรับ กำลังพยายามโดดเดี่ยวกาตาร์ โดยกล่าวหาว่าเป็นชาติสนับสนุนการก่อการร้ายในภูมิภาค
ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), บาห์เรน, เยเมน, รัฐบาลที่มีฐานอยู่ทางภาคตะวันออกของลิเบีย, และมัลดีฟส์ ต่างประกาศอย่างฉับพลันในวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และสายสัมพันธ์อื่นๆ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งกับกาตาร์
ทรัมป์ระบุในข้อความที่เขาทวิตในวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่า ระหว่างที่เขาเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 20-21 เดือนที่แล้ว เขาได้รับการบอกเล่าว่า กาตาร์กำลังให้เงินทุนสนับสนุน “อุดมการณ์แบบรุนแรง”
เขากล่าวอีกว่า การเยือนคราวนั้นของเขา “กำลังผลิดอกออกผล”
พวกนักวิเคราะห์มองว่า การที่เหล่ารัฐอาหรับเคลื่อนไหวตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ภายหลังทรัมป์ไปเยือนซาอุดีอาระเบีย และร่วมประชุมสุดยอดกับพวกผู้นำรัฐอาหรับและชาติอิสลาม ทำให้การเยี่ยนเยียมของทรัมป์ครั้งนั้นดูมีความหมายความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ระหว่างพูดปราศรัยที่กรุงริยาด นครหลวงของซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์ได้กล่าวประณามอิหร่านว่าเป็นผู้สร้างความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง พร้อมกับเร่งเร้าพวกประเทศมุมลิมทั้งหลายให้แสดงตนเป็นผู้นำในการสู้รบกับกระบวนการแห่งการสร้างความรุนแรง ซึ่งเป็นคำพูดที่เวลานี้ถูกมองว่าคือสิ่งที่เพิ่มพูนกำลังใจให้เหล่าชาติริมอ่าวเปอร์เซียลงมือกระทำการต่อต้านกาตาร์
“ระหว่างการเยือนตะวันออกกลางของผมเมื่อเร็วๆ นี้ ผมเน้นว่าต้องไม่ให้มีการให้เงินทุนหนุนอุดมการณ์แบบรุนแรง พวกผู้นำต่างพากันชี้ไปที่กาตาร์ -นี่แหละ ดูไว้!” ทรัมป์ทวิตเช่นนี้ในวันอังคาร (6 มิ.ย.)
ต่อมาในวันเดียวกัน เขายังทวิตอีกข้อความหนึ่งว่า “ดีเหลือเกินการไปเยือนซาอุดีอาระเบียได้เฝ้ากษัตริย์และพูดกับ 50 ประเทศกำลังผลิดอกออกผล พวกเขาบอกว่าพวกเขาอยากใช้ไม้แข็งกับการให้เงินทุนหนุน … ลัทธิสุดโต่ง และการระบุอ้างอิงทั้งหมดกำลังชี้ไปที่กาตาร์ บางทีนี่จะเป็นการเริ่มต้นของการยุติความโหดเหี้ยมของลัทธิก่อการร้าย!”
ในสัปดาห์เดียวกันกับที่ทรัมป์ปราศรัยที่ริยาด ปรากฏว่าอียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, และยูเออี ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวสำนักต่างๆ ของกาตาร์ ซึ่งก็รวมทั้งเว็บไซต์ของโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ ด้วย
มาถึงวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ไม่เพียงตัดสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, และยูเออี ยังประกาศให้เวลาบุคคลสัญชาติกาตาร์ 2 สัปดาห์ ในการเดินทางออกไปจากประเทศของพวกเขา, ห้ามพลเมืองของพวกเขาเองเดินทางไปกาตาร์, และตัดการติดต่อเชื่อมโยงทางการคมนาคมขนส่งทุกๆ อย่างทั้งทางบก เรือและอากาศ
การกล่าวโจมตีรุนแรงทางทวิตเตอร์ของทรัมป์ครั้งนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ เอมีร์ ชัยค์ ซาบาห์ อัล-อาหมัด อัล-จาเบอร์ อัล-ซาบาห์ ผู้ปกครองของคูเวต เดินทางมุ่งหน้าสู่ซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมาน และพบหารือกับผู้นำคนอื่นๆ ของราชอาณาจักรแห่งนี้ ในความพยายามที่จะแก้ไขคลี่คลายความบาดหมาง ซึ่งกำลังกลายเป็นวิกฤตทางการทูตครั้งร้ายแรงที่สุดที่เผชิญหน้าโลกอาหรับในระยะเวลาหลายๆ ปี
คูเวตไม่ได้เข้าร่วมกับชาติอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ ในการดำเนินมาตรการต่อต้านกาตาร์ และในการหารือกันทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันจันทร์ (5 มิ.ย.) เอมีร์ ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัล-ษานี ผู้ปกครองของกาตาร์ก็เห็นชอบให้เขาเป็นคนกลางหาทางไกล่เกลี่ยคลี่คลายข้อพิพาท
รัฐมนตรีต่างประเทศ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล-ษานี ของกาตาร์ ก็กล่าวว่า ประเทศของเขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจาหารือกัน พร้อมกับเรียกร้องให้มี “การสนทนาด้วยการเปิดกว้างและจริงใจ” เพื่อคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้
“เราเชื่อว่าประเด็นปัญหาใดๆ ก็ตาม ควรได้รับการแก้ไขโดยผ่านการหารือกันและความเคารพซึ่งกันและกัน” เขากล่าวกับทีวีข่าวอัลญะซีเราะห์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโดฮา
อย่างไรก็ตาม อันวาร์ การ์กาช รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการระหว่างประเทศของยูเอดี ระบุในข้อความที่โพสต์ทางทวิตเตอร์วันอังคาร (ุ6 มิ.ย.) ว่า จำเป็นที่จะต้องมี “โรดแมปซึ่งเป็นที่รับประกันกันแล้ว” เสียก่อน ประเทศของเขาจึงจะพิจารณาเรื่องการสมานสายสัมพันธ์ที่ขาดวิ่นไปแล้ว
ทำไมพวกพี่เบิ้มอาหรับไม่ชอบกาตาร์?
บีบีซีนิวส์รายงานว่า ขณะที่การตัดสายสัมพันธ์ครั้งนี้ดูเหมือนเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะกระหน่ำเปรี้ยงขึ้นมาอย่างไร้ร่องรอย แท้ที่จริงแล้วความตึงเครียดมีการสะสมตัวมาเป็นเวลาหลายปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ นี้
กล่าวอย่างกว้างๆ มีปัจจัยสำคัญที่สุด 2 ประการซึ่งขับดันให้เกิดการตัดสินใจเมื่อวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ได้แก่ ความผูกพันที่กาตาร์มีอยู่กับกลุ่มอิสลามิสต์ต่างๆ และที่มีอยู่กับอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจในภูมิภาคของซาอุดีอาระเบีย
เป็นที่เชื่อกันว่า บุคคลผู้มั่งคั่งร่ำรวยจำนวนหนึ่งในกาตาร์ ได้บริจาคเงินทอง และรัฐบาลกาตาร์เองก็ได้ให้ทั้งเงินและอาวุธแก่พวกกลุ่มอิสลามิสต์แนวทางแข็งกร้าวกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย ถึงแม้กาตาร์เองปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องนี้ก็ตามที
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ยังรายงานว่า พวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียพากันโกรธกริ้วตอนที่กาตาร์ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ราวๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่พวกนักรบญิฮาดและพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิหร่าน ภายหลังมีบุคคลสัญชาติกาตาร์จำนวนหนึ่งถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ในอิรักและซีเรีย
อย่างไรก็ดี รายงานของบีบีซีนิวส์ชี้ว่า อันที่จริงแล้วซาอุดีอาระเบียก็ถูกกล่าวหาว่าให้เงินทุนสนับสนุนแก่พวกไอเอสเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการให้ความสนับสนุนกันตรงๆ หรืออยู่ในลักษณะของการบกพร่องล้มเหลวมิได้สกัดกั้นพวกผู้บริจาคภาคเอกชนซึ่งกำลังส่งเงินไปให้กลุ่มก่อการร้ายนี้ ทั้งนี้ริยาดก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากกาตาร์แล้ว ฟิลิปปินส์ซึ่งมีคนงานราว 200,000 คนพำนักอาศัยอยู่ในกาตาร์ ก็กำลังวิตกกังวลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะออกมาแถลงว่าได้ยุติการส่งคนงานไปทำงานในรัฐริมอ่าวเปอร์เซียตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ขณะที่ ซิลเวสเตอร์ เบลโล เจ้าหน้าที่แรงงานบอกว่า เขาหวาดกลัวว่าชาวฟิลิปปินส์ในกาตาร์ จะกลายเป็น “เหยื่อรายแรกๆ” เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลจากการขาดแคลนอาหารขึ้นในกาตาร์