กรมควบคุมมลพิษเผย 13 คลองชุมชนรอบมาบตาพุด ยังปนเปื้อนสารอันตราย
กรมควบคุมมลพิษชี้ 13 คลองรอบมาบตาพุดระยองเน่าหมด พบ รง.ยังลักลอบทิ้งสารอันตราย แหล่งน้ำชุมชนพบทั้งตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ซิลิเนียม สารหนู ด้านคุณภาพน้ำลำตะคองโคราชวิกฤติจากเกษตรเคมีรุก เสนอกระตุ้น อปท.เคร่งครัดจัดการน้ำเสียทั่ว ปท.-กม.เฉียบขาด-มีแผนจัดการน้ำชุมชน
วันนี้(22 ก.ค.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมวิชาการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้วิกฤติชีวิตโลก” โดย นางสาววิลาสินี ศักดิ์นาวินทร์ จากสำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอผลงานวิชาการสถานการณ์น้ำว่าปริมาณน้ำเสียชุมชนมีมากถึง 14 ล้าน ลบ.ม. ที่ผ่านมาใช้ระบบการจัดการน้ำถึง 101 ระบบ ซึ่งพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ยังเกิดปัญหาในการนำระบบไปใช้ในทางปฏิบัติ กรมฯจึงพัฒนาระบบใหม่คือ MSMS 2008 ที่ย่อยมาจากมาตรฐานการจัดการน้ำสากล เน้นการใช้งานที่ง่ายขึ้น มีการตรวจสอบและทบทวนแผนงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ อปท. เคร่งครัดในการจัดการน้ำเสียชุมชน
ดร.ชญาวีย์ หวังเจริญรุ่ง จากสำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.ระยองว่า แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพผิวดิน 30 จุด รวม 13 คลองบริเวณรอบนิคมฯ มีปัญหาเกือบทั้งหมดและชุมชนก็มีปัญหาในการจัดการน้ำเสีย
“คุณภาพน้ำใต้ดินมีปัญหาและน่าห่วงมากที่สุดเพราะชาวบ้านยังไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องใช้น้ำบาดาลซึ่งมีสารปนเปื้อนเป็นโลหะหนัก สำรวจพบ 5 ชนิด ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ซิลิเนียม ที่สำคัญคือสารหนู”
ดร.ชญาวีย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหามลพิษทางน้ำหลักๆคือ 1.ตะกอนสีแดงสนิมที่ปากคลองตากวน ซึ่งทางกรมฯร่วมกับชาวบ้านตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบนำสารเคมีที่เป็นกรดไปทิ้ง เบื้องต้นประสานหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 2.ตะกอนสีดำบริเวณอ่าวประดู่ เป็นปัญหา ซึ่งมีกลิ่นรบกวนชาวบ้าน และ 3.น้ำใต้ดินปนเปื้อนโลหะหนัก ขณะนี้ประสานประปาพื้นที่เพื่อหาน้ำบริสุทธิ์ให้ชาวบ้านอุปโภคบริโภคไปก่อน โดยทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวกรมควบคุมมลพิษจะเร่งหาต้นตอและแก้ไขโดยเร็วที่สุด
นางสาวกลิ่นสุคนธ์ สุวรรณรัตน์ จากสำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวถึงคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา ว่าเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่วิกฤติ 5 ลุ่มน้ำ โดยมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญ แต่การรุกคืบเข้ามาของประชากรและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างรวดเร็วทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ากังวลมากที่สุดคือบริเวณท้ายน้ำ
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าสาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำเสียชุมชน, เกษตรกรรมและปศุสัตว์จากการเลี้ยงสุกร, อุตสาหกรรมและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามลำดับ ทั้งนี้มีความพยายามแก้ไขโดยตลอดแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังขาดปัจจัยสำคัญนั่นคือสำนึกร่วมของชุมชน
นางสาวกลิ่นสุคนธ์ เสนอมาตรการป้องกันแก้ไขว่า ในระยะสั้น 1.มาตรการควบคุมบำบัดน้ำทิ้ง โดยสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ที่ยังขาด และพัฒนาระบบที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ, ปิดทางระบายน้ำเสียของชุมชน, ควบคุมการผลิตภาคเกษตร โดยยึดหลักเกษตรกรรมยั่งยืนลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมี 2.มาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในลักษณะการสร้างเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยรวมเครือข่ายต่างๆที่มีมากแต่กระจัดกระจายมาวางเป้าหมายทำงานร่วมกัน 3.มาตรการกฎหมาย ดำเนินการอย่างเฉียบขาดและต่อเนื่องกับสถานประกอบการหรือผู้มีส่วนทำให้ลำน้ำเน่าเสีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยบังคับใช้ได้ผล รวมถึงควบคุมการเปิดฝายกั้นน้ำ เพื่อระบายการไหลของน้ำและทดน้ำเข้าในพื้นที่
“ระยะยาวต้องทำแผนการจัดน้ำให้ชุมชนที่อยู่ในระยะ 2-5 กม. บรรจุไว้ในแผนจัดการน้ำเสียของหน่วยงานที่รับผิดชอบ สำคัญคือต้องทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้องทำทั้งลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา สุดท้ายคือจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกช่วยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้วย” นางสาวกลิ่นสุคนธ์ กล่าว .