รื้อถอนวาทกรรม คนไร้บ้าน =คนขี้เกียจ กับการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ
การแก้ปัญหาต้องเปิดใจ ให้โอกาสปรับมุมมองต่อคนไร้บ้าน นำไปสู่การเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยและสวัสดิการทางสังคมต่อไปได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมด้วยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิกระจกเงา จัด “กิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ Human of Street” ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ณ พิพิธภัณฑ์บางลำพู
สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวถึงประเด็นคนไร้บ้านเป็นประเด็นที่สำคัญ มีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ไทยพีบีเอสเห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจในสังคม จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจในเรื่องราวของคนไร้บ้านอย่างถูกต้อง มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยให้สังคมเมืองเดินหน้าไปได้
ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสเคยทำสารคดีเกี่ยวกับเด็กไร้บ้าน “ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน” ในปี 2555 (2012) เพื่อถ่ายทอดชีวิตบนพื้นที่สาธารณะมาแล้ว
ด้าน ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนัก 9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการดำเนินการเก็บข้อมูล พบปัจจัยการดำรงชีวิตบนพื้นที่สาธารณะส่งผลให้คนไร้บ้านส่วนใหญ่ประสบปัญหาสุขภาพ มากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศไทย อาทิ คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 70 มีปัญหาสุขภาพจิต สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศไทยจากร้อยละ 17 ร้อยละ 70 มีปัญหาด้านช่องปาก ซึ่งบริโภคอาหารได้อย่างยากลำบาก นำมาซึ่งปัญหาเรื่องสุขภาพอื่น ๆ
ที่น่าห่วง สังคมคนไร้บ้านเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ คนไร้บ้านร้อยละ 32.5 มีอายุระหว่าง 40 - 49 ปี และมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 22 จึงมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สูงถึงร้อยละ 31 โดยคนไร้บ้านกว่าครึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เนื่องจากขาดเอกสารพิสูจน์สิทธิ มีผู้เข้าถึงสิทธิดังกล่าวเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น นอกเหนือจากนี้มักเลือกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง (ร้อยละ 18) ซื้อยาตามร้านขายยา (ร้อยละ 40) จนไปถึงปล่อยให้หายเอง (ร้อยละ 18)
อีกเรื่องหนึ่ง คือ การสื่อสารเพื่อปรับทัศนคติและมุมมองของคนทั่วไปต่อคนไร้บ้านที่ทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างยากลำบาก สสส.ต้องการให้คนไร้บ้านตระหนักในคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง จึงจัดให้มีการศึกษาให้คนไร้บ้านสามารถทำงานได้
ส่วนนายสิทธิพล ชูประจงจากมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิกระจกเงา พยายามแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มที่ขาดสถานะทางสังคม กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อจัดการดูแลตามเหมาะสม มูลนิธิกระจกเงาที่ทำงานร่วมกับคนไร้บ้านก็อยากร่วมผลักดันให้ปัญหาคนไร้บ้านได้ออกสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการร่วมแก้ปัญหาในวงกว้างมากขึ้นด้วย
"คนไร้บ้าน" ต้องเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ
ข้อเท็จจริงจากการสำรวจในปี 2558 ชี้ให้เห็นว่าสภาวะไร้บ้าน ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ ไม่ทำงานอย่างที่เข้าใจกัน หากร้อยละ 90 ล้วนมีงานทำ ปัญหาคือ เป็นงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ลูกจ้างรายวันทำให้รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการ หากวันใดป่วยก็จะขาดรายได้ไป
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ “โลกของคนไร้บ้าน” ของบุญเลิศ วิเศษปรีชา เมื่อครั้งเป็นนักศึกษามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระ จนกระทั่งมีโอกาสทำสำรวจเชิงประชากรศาสตร์และปัญหาสุขภาวะเรื่องคนไร้บ้าน ปัจจุบันเป็นผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนคนไร้บ้าน
นายอนรรฆกล่าวในการเสวนา “Meet & Read คนไร้บ้าน” ถึงสภาวะไม่เท่าเทียมว่า “ครึ่งหนึ่งบอกว่ารายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน หมายความว่าพี่น้องคนไร้บ้านก็ยากที่จะกลับเข้ามามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการเจ็บป่วย เราเจ็บป่วยราก็ไปหาหมอ ได้เงินเดินหรือได้สวัสดิการ แต่พี่น้องคนไร้บ้านเมื่อการจ้างงานไม่แน่นอน วันไหนที่เขาไปหาหมอ วันนั้นต้องขาดแคลนหลายด้าน ต้องจ่ายเงิน เสียรายได้ที่จะเดินทางไป”
“เมืองไทยโชคดีมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนที่มีบัตรประชาชนสามารถเข้าถึงหลักประกันการรักษาพยาบาลได้ แต่จากการสำรวจในกรุงเทพมหานครพบว่าคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 25 เป็นคนไม่มีบัตร บางคนอาจจะบัตรหายชั่วคราว บางคนอาจจะหายนานหน่อย ต้องใช้วิธีพิสูจน์ตัวตน และกลุ่มที่พิสูจน์สิทธิไม่ได้เลย เช่น ไม่ได้แจ้งเกิด ในแง่หนึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ องค์กรที่เกี่ยวข้องก็ได้ผลักดันให้สถานพยาบาลใช้กองทุนของสถานพยาบาลเองช่วยเหลือเฉพาะหน้าไป และมีการผลักดันในระยะยาว” อนรรฆกล่าว
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีบัตรแต่สิทธิอยู่ที่อื่นทำให้ไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลในกรุงเทพได้ ย้ายสิทธิมากรุงเทพ ฯ ลำบากเนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหานี้ อนรรฆแจ้งว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ( สปสช. ) ก็เริ่มมีการเปิดช่องทางให้ย้ายสิทธิเข้ามาในเขตกรุงเทพได้ง่ายขึ้นแล้ว
อนรรฆ ยังกล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้จะมีบัตรประชาชนหรือมีหลักประกันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ “ความยากจน” ทำให้คนไร้บ้านสมัครใจจะไม่รับบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากต้องหยุดงาน เสียเดินทาง และยังเกรงทัศนคติของบุคคลากรทีี่ทำงานด้านสุขภาพต่อคนไร้บ้านอีกด้วย
เพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม
ชณัฐ วุฒิวิกัยการ นักทำสารคดีผู้ผลิตรายการ ยักษ์คิ้วท์ in New York เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคนไร้บ้านในมหานครนิวยอร์กในระหว่างการทำสารคดี โดยทดลองใช้ชีวิตโดยไม่ใช้เงินในมหานครดังกล่าวจึงได้รู้จักกับศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ พบว่า คนไร้บ้านในไทยและที่นิวยอร์คมีข้อแตกต่างอยู่หลายประการ ทั้งในด้านบุคลิกลักษณะที่คนไร้บ้านไทยจะเป็นมิตรกว่า รวมถึงการประกอบอาชีพด้วย
ส่วนวินัย ดิษฐจร ช่างภาพสารคดีมือรางวัล เคยใกล้ชิดกับคนไร้บ้านเมื่อครั้งทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ที่คนไร้บ้านมาอาศัยเป็นที่หลับนอนตลอดทั้งคืน และเมื่อผันตัวเองมาเป็นช่างภาพก็ชอบถ่ายภาพคนบนท้องถนน จึงได้พบเห็นคนไร้บ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น คลองหลอด หรือลานคนเมือง หรือปลอมตัวเป็นคนเก็บขวดเมื่อต้องการเก็บภาพสารคดีกรุงเทพยามกลางคืน
โดยวินัยได้แบ่งปันการอ่านความรู้สึกนึกคิดของคนไร้บ้านที่สะท้อนจากผ่านภาพถ่ายโดยคนไร้บ้านทีจัดแสดงภายในงาน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การเป็นคนไร้บ้านในต่างจังหวัดระหว่างการเดินทางไปทำงาน ต้องอาศัยวัดหรือสถานีตำรวจ แต่ด้วยความมีที่มาที่ไปชัดเจนทำให้การร้องขอดังกล่าวได้รับการยอมรับ คนไร้บ้านก็ต้องการสถานที่ที่ปลอดภัย น้ำอาหารไม่ต่างกัน
“การเป็นคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย อยากให้มองว่าเป็นคนที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กับเรา เพียงแค่เรามีแต้มต่อทางเศรษฐกิจและเครือข่ายทางสังคมที่ดีกว่า คนไร้บ้านที่อยู่ในกรุงเทพก็เป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีเหมือนเรา ควรจะเข้าใจและเปิดโอกาสให้เขายืนได้อีกครั้ง มีชีวิตที่ดี และพัฒนาตัวเองต่อไปได้” อนรรฆกล่าวทิ้งท้ายเป็นการปิดวงเสวนา
นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด R-E-A-D (Reality - เรื่องจริง, Equality - เท่ากัน, Art - ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง, Deconstruction - รื้อถอนมายาคติ) อาทิ นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้าน “My Everyday Life” รวบรวมโดย “จ๋วน” ญัฐวุฒิ พิมพ์สำราญ นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ละครเวทีโดยคนไร้บ้านร่วมกับคณะละครมาร็องดู และบทเพลงเพื่อคนไร้บ้าน โดย จรูญวิทย์ พัวพันวัฒนะ หรือ “บิว เดอะวอยซ์” กิจกรรม Homeless Tour เดินเท้าจากพิพิธภัณฑ์บางลำพูลงพื้นที่ตรอกสาเก และลานคนเมือง เพื่อพูดคุยศึกษาคนไร้บ้าน และยังมีการแสดงสินค้าจากโครงการส่งเสริมศากยภาพคนไร้บ้านอีกด้วย .