รองปลัดยุติธรรม เสนอตั้งศาลพิเศษด้านทรัพยากรช่วยคดีคนจน
นักสิทธิชุมชนเสียดสีคนจนได้รับเกียรติให้ปฏิบัติตาม กม.มากกว่าคนรวย นายทุน-ขรก.รังแก ลดอคติในกระบวนยุติธรรมไม่ได้ก็ลดความเหลื่อมล้ำยาก อ.อคินเตรียมนำคดีคนจนเสนอ คปร.แก้ด่วน รองปลัดยุติธรรมเผย 25% คนจนราชทัณฑ์ติดคุกก่อนศาลตัดสินเพราะไม่มีเงินประกัน เสนอตั้งศาลทรัพยากร
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ “คนจนกับความไม่เป็นธรรมในการะบวนการยุติธรรมไทย”โดย นายบำรุง คะโยธา แกนนำเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมที่ผ่านมา คนจนต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในสังคม กระบวนการยุติธรรมมักตั้งข้อหาไว้ก่อนว่าคนชุมนุมคือคนผิด การปฏิรูปประเทศในสถานการณ์ขับไล่คนจนและความแตกแยกที่ขยายวงกว้างเช่นนี้จึงทำได้ยาก แต่ดูจากรายชื่อคณะกรรมการก็เห็นแสงสว่างบ้าง แม้จะยังไม่มีผลงาน แต่กระบวนการนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาไม่มากก็น้อย
“ในฐานะแกนนำชาวบ้านอดีตนักโทษข้อหาการชุมนุมหลายคดี การเคลื่อนไหวแล้วถูกจับเป็นเรื่องปกติ แค่ถือไม้สร้างเต็นท์ เจ้าหน้าที่ก็ยื่นข้อหาชุมนุมโดยมีอาวุธ ซึ่งชาวบ้านทำใจมานานแล้ว”
นายทุนจับมือข้าราชการ ผลักชาวบ้านโดนคดีที่ดิน
นายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน กล่าวว่ามีคดีคนจนกว่า 1,500 กรณีใน 37 พื้นที่อันดามัน เป็นคดีเอกชนฟ้องชาวบ้าน, รัฐฟ้องชาวบ้านและคดีปกครอง เป็นคดีความแล้ว 415 เรื่องครอบคลุมกว่า 7,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เพราะนายทุนต้องการจับจองพื้นที่จึงร่วมกับรัฐออกเอกสารสิทธ์โดยมิชอบ ทำให้ชุมชนที่เข้าไปทำกินในเหมืองแร่ร้าง ป่าชายเลนเสื่อมสภาพกลายเป็นผู้บุกรุก นอกจากนี้ยังมีการออกนโยบายเปิดช่องให้อุตสาหกรรมหรือเกษตรกรขนาดใหญ่เข้าไปใช้พื้นที่แล้วฟ้องขับไล่ชาวบ้าน, การจัดระเบียบที่ดินให้เป็นเขตอนุรักษ์เอื้อกลุ่มทุนท่องเที่ยวและนายทุนท้องถิ่น แต่กระทบวิถีชาวประมง, การประกาศพื้นที่อันดามันเป็นมรดกโลก ทำให้มีการประกาศเขตอุทยานฯมากขึ้น สุดท้ายคือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น ท่าเทียบเรือ จ. สตูล
คนจนมักได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมและได้รับเกียรติให้ปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่าคนรวย ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับหรือการบังคับคดี บางรายถูกฟ้องอาญาแล้วฟ้องแพ่งอีก บางรายมีข้อหาอื่นพ่วงท้าย
“กรณีหนึ่งชาวบ้านประสบภัยสึนามิเข้าไปตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กลับถูกฟ้องเรียกค่าปรับวันละ 1,000 บาท เอกชนอ้างว่าขัด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พี่น้องหาเช้ากินค่ำจะทำอย่างไร ข้อด้อยของกระบวนยุติธรรมเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านต้องพยายามสู้กันในทุกมิติ”
นายพงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง กล่าวถึงปัญหาคนจนเมืองว่า มีคดีที่ดินกับรัฐ 163 คดี 412 ราย ส่วนใหญ่เป็นการประกาศเขตพื้นที่สาธารณะโดยอ้างหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ส่วนคดีที่ดินเอกชนเป็นการออกโฉนดทับที่ชุมชน
“ชาวบ้านหนึ่งคนถูกฟ้องหลายคดี ไม่ค่อยมีสิทธิอุทรณ์ฎีกา บางรายกลัวถึงขั้นทิ้งที่หนี บางส่วนยอมจ่ายเงินซื้อจากนายทุน อีกไม่น้อยยอมติดคุก เพราะไม่รู้กฎหมาย พอไม่ไปศาลคดีก็ถูกตัดสินไป ที่สุดนายทุนก็ชนะออกโฉนดกลายเป็นความชอบธรรมด้วยอำนาจศาล ขณะที่ชาวบ้านเป็นเหยื่อการพัฒนา”
นางจินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนว่าคดีส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอกสารสิทธิ์ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผิดขั้นตอนทำให้อนุมัติโครงการทั้งโรงไฟฟ้า โรงเผาขยะ ฯลฯ เฉพาะโรงถลุงเหล็กบางสะพานที่เดียวชาวบ้านมี 22 คดี บางรายถูกฟ้องทั้งทางแพ่ง อาญา ทั้งข้อหาบุกรุก หมิ่นประมาท ละเมิดสิทธิ ทำให้เสียทรัพย์สิน หนักสุดคือร่วมกันฆ่า
“บางแห่งศาลตัดสินให้โรงไฟฟ้าได้เงินชดเชย ชาวบ้านบางคนสู้จนตายก่อนแล้วญาติต้องรับภาระค่าปรับแทน ความจริงแค่ชาวบ้านเดินขึ้นศาลก็ถูกตัดสินแล้ว เจ้าหน้าที่ชอบหมายหัวว่าเป็นพวกคัดค้าน แต่ไม่เคยมองว่าทำไมโครงการต้องมาตั้งที่บ้านเรา”
ข้อด้อยกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มอง “สิทธิชุมชน”
นายประยงค์ ดอกลำไย ผู้ประสานงานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโฉนดชุมชน กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกฟ้องจากการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น สร้างหลักฐานเท็จหรือใบจองสิทธิ์ให้เอกชนหรือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดการฟ้องร้องชาวบ้านบุกรุกที่ดิน
“ศาลก็มีความเชื่อว่าชาวบ้านบุกรุก ทำให้เสียงชาวบ้านไม่มีน้ำหนัก ฟังแต่ส่วนราชการกับเอกชน และการตั้งข้อหาเยอะๆคือต้องการให้ชาวบ้านติดคุก เพราะเค้ารู้อยู่แล้วว่าชาวบ้านไม่มีเงินประกันตัวสู้คดี”
นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานกลุ่มปัญหาที่ดินชัยภูมิ กล่าวว่า ภาคอีสานมีคดีชาวบ้านเรื่องที่ดิน 17 คดี 115 ราย หน่วยงานรัฐมักได้เปรียบในกระบวนการยุติธรรม และมักฟ้องทั้งแพ่งและอาญา
“เช่น คดีบุกรุกที่ป่าไม้ ขัดขวางการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ เป็นคดีอาญา เมื่อสิ้นคดีอาญาก็ฟ้องแพ่งต่อ เช่น ข้อหาใช้ทรัพยากรให้เสื่อมโทรม ชาวบ้านเรียกคดีโลกร้อน โดยเรียกค่าเสียหายปีละกว่า 100,000 บาท”
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ชาวบ้านยังขาดความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯทับซ้อนที่ดินชาวบ้าน แต่ในชั้นศาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งที่มีเอกสารยืนยันสิทธิการครอบครอง
“กระบวนการยุติธรรมไม่ได้พิจารณสิทธิชุมชน เช่น สวนป่าคอนสาร ชาวบ้านมี สค.1 มีใบจ่ายภาษีที่ดินมาตั้งแต่ 2494 ศาลบอกไม่มีน้ำหนักพอ แล้วสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน”
นายไพจิต ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานปัญหาเขื่อนปากมูล-ราษีไศล ชี้แจงกรณีที่ชาวบ้านดันประตูฝายราศีไศลเพื่อเข้าไปเปิดประตูเขื่อนปากมูล จึงถูกกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแจ้งข้อหาบุกรุก ศาลตัดสินให้ตนจำคุก 1 ปี 6 เดือน กำลังอยู่ระหว่างต่อสู้ในชั้นฎีกา ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวไปแล้ว 410,000 บาท
“พอดีมีคนไปสมัคร สส. แล้วเขาแจ้งว่ามีคดีซ่องโจร ไม่มีสิทธิสมัคร พวกเราถึงรู้ว่ามีคดีติดตัว ซึ่งหมายจับของตำรวจออกมาตั้งแต่ 2543 แต่ไม่เคยจับ ปีที่แล้วไม่รู้ตำรวจขยันอะไรไปจับชาวบ้านและบอกว่าขอจับเดือนละคน เราพยายามอ้างและยืนยันว่าเราใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่รับฟัง”
นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อติดขัดที่นำไปสู่ปัญหามี 2 ประการ 1.สังคมไทยตัดสินแบบเหมารวมด้วยระบบกฎหมายเดียวทั้งที่บริบทของพื้นที่มีความแตกต่าง 2.อคติของหน่วยงานมองคนสู้เป็นผู้ขัดขวาง หากลดอคติไม่ได้ก็ลดความเหลื่อมล้ำยาก นอกจากนี้กลไกต่างๆที่มีอยู่ไม่ยุติธรรม ย้อนไปถึงนโยบายที่บังคับให้ตำรวจพิจารณาว่าต้องจับกุมอย่างไร หรือแม้กระทั่งขั้นพิพากษาที่เป็นเพียงการชี้ผิดแล้วเลิก
“ถ้าศาลกล้าพิจารณาในประเด็นเคลือบแคลงจะช่วยชีวิตชาวบ้านได้อีกเยอะ กฎหมายตัวเดียวบังคับกับทุกคนไม่ได้ ควรนำความเข้าใจพื้นฐานของชาวบ้านมาร่วมพิจารณาด้วย”
นายสมนึก เสนอว่า ปัญหาคือชาวบ้านเข้าไม่ถึงกฎหมายและกฎหมายก็เข้าไม่ถึงชาวบ้าน ต้องปฏิรูปกระบวนยุติธรรมทั้งระบบ ทำกฎหมายที่แข็งให้ยืดหยุ่นโดยเน้นเชิงสังคมมากขึ้น แค่เปิดสมองและรับเรื่องเหล่านี้เข้าไปจะรู้เองว่าควรพิจารณาอย่างไร
นำคดีคนจนเข้า คปร.ด่วน -ผลักดันศาลพิเศษทรัพยากร
ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) กล่าวว่า ต้องมีมาตรการแก้ปัญหา 2 ช่วง คือ การแก้ปัญหาเร่งด่วนที่น่าจะแก้ไขทันที เช่น กรณีคนถูกจับจากข้อหาต่างๆซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอ คปร.ในการประชุมครั้งหน้า ส่วนระยะยาว อาจต้องแก้ไขที่กระบวนการยุติธรรม เช่น วิธีการพิจารณาของศาลที่ไม่ยึดแต่เอกสารว่าสำคัญที่สุด ทั้งที่เอกสารอาจออกมาด้วยการทุจริต
“เรื่องที่ดินหรือสิ่งแวดล้อมน่าจะใช้วิธีพิจารณาอีกแบบหนึ่ง หรืออาจสร้างศาลใหม่ขึ้นมาเพื่อพิจารณา แต่เรื่องด่วนที่ต้องทำคือการจับกุมโดยไม่ยุติธรรม คณะกรรมปฏิรูปฟังปัญหา ดังนั้นชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างพลังชุมชนช่วยกันผลักดันให้รัฐลบล้างความไม่เป็นธรรม”
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมในหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานตำรวจ ดีเอสไอ ทหาร สำนักงานที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรมีเป้าหมายเดียวกันคือความยุติธรรมแก่ประชาชนที่เดือดร้อน ปัจจุบันผู้ต้องขังประมาณ 204,000 ราย เป็นคนจน ที่น่าตกใจคือกว่า 25% หรือ 50,000 คนถูกจำคุกก่อนศาลตัดสิน เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว จึงผลักดันกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมในการบังคับคดี
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังเปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า กองทุนยุติธรรมจัดตั้งปี 2545 แต่ไม่แพร่หลาย แต่ก็ช่วยเหลือประชาชนแล้วหลายกรณี ซึ่งหลักการทำงานคือให้คำปรึกษาทางกฎหมาย รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับคำขอคุ้มครองพยานในคดีอาญา รวมทั้งช่วยเหลือทางการเงินในคดีอาญาแก่ผู้เสียหายและจำเลย แต่ทั้งนี้การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นสำคัญที่สุดเพื่อให้เกิดความเสมอภาค
“ให้กองทุนมีเงินมากขนาดไหนก็ไม่พอเท่ากับคนในท้องถิ่นช่วยกันทำให้เกิดความยุติธรรม และต้องให้ความรู้กฎหมายประชาชน แต่กรณีเรื่องที่ดินอาจต้องมีวิธีการแสวงหาความจริงในศาลรูปแบบอื่น หรือตั้งศาลที่มีความชำนาญพิเศษเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพยากรเพื่อตัดสินคดีอย่างเข้าใจและเป็นธรรม”
เวทีระดมความคิดคดีคนจน ยังเสนอแนวทางขจัดความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม ดังนี้ 1.จัดตั้งกองทุนยุติธรรมและจัดหาทนายความที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพให้คนจนที่โดนคดี 2.ตั้งคณะกรรมการร่วมรวบรวมคดีทั้งหมดเพื่อจำแนกว่าอยู่ในขั้นใด พร้อมวางมาตรการช่วยเหลือและทางออกในกรอบกฎหมาย 3.มีคณะทำงานจากส่วนกลางการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบและการทำตรวจสอบโดยกองทุนสิ่งแวดล้อม 4.ติดตามประเมินผลและมีมาตรการกดดันหากรัฐบาลไม่ดำเนินการแก้ไข
5.มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมระยะยาว ปรับปรุงมาตรการประกันตัว เช่น กำหนดวงเงินประกัน หรือไม่ให้คุมขังระหว่างรอเงินประกัน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องติดคุกเพราะไม่มีผู้ประกัน 6.ปรับขบวนการพิจารณาคดีจากระบบกล่าวหาเป็นไต่สวนหรืออาจตั้งศาลชำนาญการพิเศษขึ้น 7.ทำให้ศาลมีความรู้ความเข้าใจและนำปัญหาเชิงพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างมาพิจารณาร่วม และ 8.ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นสาเหตุการคดีต่างๆ .