ปัดใส่ความเห็น กก.เสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประชาพิจารณ์กม.บัตรทอง
ฝ่ายเลขาฯ งัดกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเสียงส่วนน้อย ปัดใส่ข้อคิดเห็นเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประกอบการประชาพิจารณ์
การจัดทำเอกสารประกอบการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ได้เกิดข้อถกเถียงเกิดขึ้นระหว่างกรรมการเสียงส่วนน้อยและฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากกรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยเข้าไปในเอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) ด้วย แต่ฝ่ายเลขานุการไม่ยินยอม โดยนำไปใส่ในตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตราเพียงฉบับเดียว
ทั้งนี้ เอกสารประกอบการประชาพิจารณ์จะมี 3 ส่วนหลักคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไข 2.เอกสารแนวคิดการแก้ไข 14 ประเด็น และ 3.ตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การประชาพิจารณ์จะมีเอกสาร 3 ฉบับที่นำขึ้นเว็บไซต์ หนึ่งในนั้นเป็น Concept Paper ซึ่งไม่ได้ใส่ความคิดเห็นของกรรมการเสียงส่วนน้อย จึงมีการถกเถียงว่าน่าจะใส่เข้าไปในเอกสารฉบับนี้ด้วย แต่ทางกองเลขาฯ ไม่เห็นด้วย โดยนำไปใส่ไว้ในเอกสารอีกฉบับซึ่งว่าด้วยรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายว่าแก้ในมาตราไหน ด้วยเหตุผลอะไร ในส่วนนี้จะมีทั้งเหตุผลของกรรมการเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย
“การใส่หรือไม่ใส่เหตุผลของกรรมการเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ก็มีผลกับการตัดสินใจ เพราะมันชี้ให้เห็นว่านี่เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มันจึงจำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์และการทำประชาพิจารณ์ก็ต้องเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอะไร เสียงส่วนน้อยคิดอะไร คนที่มาแสดงความคิดเห็นจะได้รู้ว่ามีข้อถกเถียงอะไรอยู่บ้าง แล้วคิดต่อจากตรงนั้น” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่กรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้ใส่ไปใน Concept Paper นั้น เป็นเรื่องเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายที่เขียนในเชิงลบ เช่น มีอธิบายว่ามีความพยายามที่จะเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายให้องค์กรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
“ใช้คำว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ อย่างกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่มารับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตีความว่าไม่ใช่หน่วยบริการ เพราะฉะนั้นกรมควบคุมโรคมารับเงินไปทำเรื่องป้องกันโรคไม่ได้ แต่จริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่ากรมควบคุมโรคทำงานเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็ควรเขียนในเชิงบวกหน่อย เรื่องนี้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ก็เสนอให้ทีมเลขาฯ ไปปรับแก้ภาษาใน Concept Paper ไม่ให้มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้ไม่เห็นเอกสารแล้วเพราะต้องให้อำนาจประธานเป็นคนตัดสินใจเนื่องจากต้องรีบเอาขึ้นเว็บไซต์ ทีนี้พอเราบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เติมเสียงส่วนน้อยเข้าไปด้วย เขาก็ไม่ยอม” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเลือกประเด็นในการแก้ไขกฎหมายเพราะถูกล็อกมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเอกสารที่จะอธิบายว่าเหตุผลหรือหลักการในการแก้กฎหมายครั้งนี้ว่าทำเพราะอะไร จึงควรเขียนเหตุผลที่มาที่ไปอย่างแท้จริงและไม่มีอคติจึงจะเป็น Concept Paper ที่ใช้ได้