ท้องถิ่นกินงบฟื้นฟูภัยพิบัติสะบั้น 8.5 หมื่นล้าน 20%
รัฐเทงบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 8.5 หมื่นล้าน จัดบริการสาธารณูปโภค การศึกษา ชดเชยรายได้ลดลงความไม่สงบชายแดนใต้ แบ่งเปอร์เซ็นต์กันสะบั้น 20 – 25% ภาคเอกชนยอมรับเป็นกลไกคอร์รัปชั่น หวังจ่ายหัวคิวแย่งงาน
มีข่าวจากทั่วทุกสารทิศานุทิศว่าขณะนี้หน่วยงานราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นเตรียมรับมือกับงบฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วยสัดส่วน 20%
ขบวนการเรียกรับนี้ มีลักษณะเป็นบูรณาการ คือร่วมมือร่วมใจกันเป็นฉันทมติทุกฝ่าย ไม่เลือกพรรค แต่เลือกสี คือเลือกแต่สีธนบัตรใบละพัน
เงื่อนไขจ่ายสดเต็มจำนวน ไม่มีสายรัดแบงก์ ไม่ใส่บิ๊กแบ๊ก
ตัวเลขงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วมพร้อมแผงงานออกมาแล้ว 3.5 แสนล้านบาท เป็นงบฯ ที่สามารถใช้ได้ทันทีเป็นก้อนแรก 9 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นเฟสแรกของแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว 3 แสนล้านบาทในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาระยะเวลาโครงการ 1-3 ปี
ก้อนถัดมาเวลาเดียวกัน 6 หมื่นล้านบาทในแผนจัดการน้ำเร่งด่วนพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิงเสริมด้วยแผนลงทุนป้องกันน้ำท่วมระยะยาว 3 หมื่นล้านบาท
อีกก้อนเป็นก้อนโดดของแผนปิดล้อมเขตเศรษฐกิจหลัก 5 หมื่นล้านบาท งบประมาณปลูกป่าต้นน้ำ 3.3 แสนไร่ ภายใน 3 เดือนข้างหน้า 1 หมื่นล้านบาท งบประมาณบูรณาการด้านขนส่ง 1.2 แสนล้านบาท
นอกจากงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมแล้ว ยังมีงบประมาณประจำ และงบประมาณในโครงการใหม่ในกระทรวงอื่น ๆ โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยที่เด่น ๆ ได้แก่ งบประมาณสนับสนุนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครอง ส่วนท้องถิ่นจำนวนเงิน 85,694,993,900 บาท
องค์กรส่วนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณนี้ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล งบประมาณจำนวนนี้แบ่งเป็น 2 กองใหญ่ คือ 55,768,892,000 บาทสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับการจัดบริหารสาธารณะขั้นพื้นฐานเช่นระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ
อีกกอง 29,926,101,900 บาท สำหรับภารกิจที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับถ่ายโอนมาจากส่วนกลาง เช่น ด้านการศึกษา การชดเชยรายได้ที่ลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ ส่วนกองย่อย ๆ นั้นแบ่งกันไปตั้งแต่กองละพันล้าน ร้อยล้านและต่ำสุด 20 ล้านบาท
กองย่อย ๆ เหล่านั้น บางกองเคยเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเพราะคนที่ประมูลได้งานไปนั้น พยายามลดต้นทุนเพื่อเหลือกำไรไว้บ้าง เพราะได้จ่ายต้นทุนล่วงหน้าไปแล้ว 20-25% เช่น นมโรงเรียน เป็นต้น
จึงเกิดเรื่องนมเสียนมบูดอยู่บ่อย ๆ เพราะไปเอานมค้างมาเวียนเทียนส่งให้นักเรียนดื่ม งบประมาณเหล่านี้ ถ้าเอามากองรวมกันแล้วตัด 20-25% ออกไป ก็จะเหลือเม็ดเงินจ่ายให้ผู้รับเหมาหรือผู้รับงานไปทำเพียง 75% เท่านั้นหากตัดกำไรอีก 20-25% ก็จะเหลือเงินไว้บริหารโครงการจริงๆ เพียง 45-50%
งบฯเหลือ 40-50% ผลงานออกมาก็คงจะได้ 45-50% ตามเม็ดเงินที่เหลือ
เมื่อจบงานแล้ว ยังต้องเตรียมงบอีกอย่างน้อย 10% เพื่อให้แก่ผู้ตรวจและรับมอบงาน
เคยมีผู้รับเหมาหลายรายถ่ายรูปโครงการที่สำเร็จแล้ว 100% ไปให้ผู้ตรวจ และรับมอบงานดู และเซ็นรับงาน โดยโครงการที่ปั้นกันขึ้นมาเพื่อผันงบฯมานั้น ไม่ได้สร้าง
หากเป็น อบต. หรือ อบจ. ที่เป็นทีมเดียวกัน นายก อบต. หรือ นายก อบจ.สามารถควบคุมได้ทุกคนก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้ามีคนอื่นแทรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตรงข้ามหรือนักการเมืองนอกกลุ่ม ก็จะมีการเปิดโปงแง่มุมทุจริต
กระสุนปืนเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา
ภาคใต้ดูจะทำกันได้ง่าย เพราะปิดคดีด้วยการโยนให้เป็นการ “สร้างสถานการณ์” ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ขบวนการกินเปอร์เซ็นต์นี้ เป็นเชื้อร้ายที่เกิดขึ้นทุกหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ถึงขนาด ดร.ดุสิต นนทนาคร อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผู้ล่วงลับไปแล้วได้จุดประกายให้องค์กรเอกชน 24 องค์กรร่วมมือต่อต้านการคอรัปชั่นในวงราชการ
โดยระบุว่ามีการคอรัปชั่นในทุกโครงการของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
องค์กรเอกชนถึงกับประกาศสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือหัวคิวให้แก่นักการเมือง ข้าราชการเพื่อให้ได้งานในโครงการของรัฐบาล
ช่วงที่องค์กรเอกชนออกมารณรงค์ต้านคอรัปชั่นนั้นเป็นช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งองค์กรเหล่านั้นระบุว่ามีการจ่ายหัวคิวกันถึง 40-50% วงเงินที่คอรัปชั่นกันไปนั้นกว่า 2 แสนล้านบาท
องค์กรเอกชนยอมรับว่า พวกตนคือกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการคอรัปชั่น เพราะเป็นคนจ่ายค่าหัวคิวเพื่อแย่งงานในระหว่างพวกเดียวกันนั่นเอง
ถ้าจะไม่ให้มีการคอรัปชั่น ก็ต้องไม่มีคนจ่าย
เป็นตรรกะที่พูดกันง่าย แต่ทำกันยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เหลือ 0%
แต่ถ้าจะเป็น 8-10% เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็พอจะพูดกันรู้เรื่องหน่อย
ในรัฐบาลชุดก่อนนั้น หน่วยงานระดับ อบต.ได้ตั้งต้นไว้ที่ 25%
รัฐบาลนี้ชิมลางที่ 20%
โพลล์ที่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นทุกมหาวิทยาลัยมีคำถามประเด็นที่ว่า “หากมีคอรัปชั่นในรัฐบาล แต่มีผลงานเป็นที่พึงพอใจของประชาชน จะรับได้ไหม” ผลปรากฏว่าประชากรสำรวจตอบว่ารับได้ทุกโพลล์
ไม่เชื่อสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า องค์กรธุรกิจเอกชน ฯลฯ ตั้ง questionaires เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปให้มหาวิทยาลัยเอแบค หอการค้า ศรีปทุม ราชภัฏสวนดุสิต ฯลฯ ทำโพลล์ดู
ด้วยเหตุผลดังกลอนบทหนึ่งของบรรพกวีท่านหนึ่งที่ร่ายไว้ว่า
“สุนัขไม่กินขี้หามีไม่”