ไขปริศนา!“ตู่-จตุพร”ถือหุ้น 7 แห่ง 19.6 ล้าน -ซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่?
ไขปริศนา!ความมั่งคั่ง 19.6 ล้านของ“ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์”จากจัดตั้ง หจก.5 แห่งรวดยุคแม้ว ลงหุ้น “ทีวีแดง” 2 บ. 1.1 แสนหุ้น ยุค คมช. ก่อนนั่งเก้าอี้ ส.ส.ยุคสมัคร กับปมเงื่อนคาใจซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่?
กลายเป็นปมปริศนาไปเรียบร้อยแล้วกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกคือ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย และนายฐาปนา จินดากาญจน์ อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขนเงินลงทุน 25 ล้านบาทผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัด 5 แห่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลและได้ปิดกิจการในเวลาอันรวดเร็ว
ต่อมาได้ร่วมลงทุนในบริษัท เพื่อนพ้อง น้องพี่ จำกัด และ บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด และถอนหุ้นออกมาในช่วงก่อนเลือกตั้งปลายปี 2550
ความมั่งคั่งดังกล่าวทำให้เกิดคำถามอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก นายจตุพรกับพวกจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.5 แห่งเพื่อทำธุรกิจจริงหรือไม่ ?
ประการที่สอง นายจตุพรแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างน้อย 3 ครั้งตรงไปตรงมาหรือไม่?
ขณะที่เจ้าตัวไม่ได้ตอบคำถามนี้ หากแต่พยายามกลบทำนองว่าเป็นเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่
ทั้งๆที่ ข้อมูลดังกล่าวแม้เคยตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ถูกขุดคุ้ย“ที่มา”ของเงิน 25 ล้าน เบื้องลึกในการจดทะเบียนทำธุรกิจ และความถูกต้องในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ขณะที่นายจตุพรก็ไม่เคยชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
เพราะฉะนั้น ก่อนจะกล่าวถึงปมปริศนาในประการแรก ขอไล่เลียงช่วงเวลาการทำธุรกิจของนายจตุพรกับพวกเสียก่อน
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 นายจตุพรกับพวกจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ ทุน 5 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง ถมดิน ขุดดิน ปรับหน้าดิน มีหุ้นส่วน 3 คน นายจตุพร 1,600,000 บาท นายฐาปนา จินดากาญจน์ 1,600,000 บาท นายสถาพร มณีรัตน์ 1,800,000 บาท
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 จดทะเบียนจัดตั้งหจก. 3 แห่ง ได้แก่
หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ผลิตสื่อโฆษณา หุ้นส่วน 2 คน นายจตุพร 4,000,000 บาท นายสถาพร มณีรัตน์ 1,000,000 บาท
หจก. ศรีหมวดเก้า ทุน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ขุดถ่านหิน ขุด ขนแร่ต่างๆ หุ้นส่วน 2 คนนายจตุพร 1,000,000 บาท นายสถาพร มณีรัตน์ 4,000,000 บาท
หจก.บุตรตะวัน ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการ ถมดิน ขุดปรับหน้าดิน ขายซื้อที่ดินทั้งหมด และ ประกอบกิจการขนถ่ายขุดถ่านหิน แร่ต่างๆทำเหมืองแร่ทั้งหมด มีหุ้นส่วน 2 คน นายจตุพร 1,000,000 บาท นายฐาปนา จินดากาญจน์ 4,000,000 บาท
วันที่ 12 มีนาคม 2545 จดทะเบียนจัดตั้ง หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์ ทุน 5 ล้านบาท แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแก่ชาวไทยและต่างชาติเพื่อเป็นสมาชิกประกอบธุรกิจท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการจองที่พัก โรงแรม ในโครงการที่พักระยะยาว และประกอบกิจการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาโครงการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน หุ้นส่วน 2 คน นายจตุพร 1,000,000 บาท
นายสถาพร มณีรัตน์ 4,000,000 บาท
หจก.ทั้ง 5 แห่งมีที่ตั้งเลขที่เดียวกัน เลขที่ 69/12 อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ชั้น 12 โซนเอ ถนนวิภาวดีรังสิต สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ และไม่ได้แจ้งผลประกอบการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและแจ้งเลิกกิจการพร้อมกันวันที่ 24 ธันวาคม 2547
รวมเงินลงทุนเฉพาะของนายจตุพรใน หจก. 5 แห่ง 8.6 ล้านบาท จากทั้งหมด 25 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงขับเคลื่อนทางการเมืองปลายปี 2549 ปรากฏข้อมูลว่านายจตุพรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท เพื่อนพ้อง น้องพี่ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 100 บาท รวม 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มสัดส่วนเป็น 100,000 หุ้น เท่ากับ 10 ล้านบาท (วันที่ 18 มกราคม 2550 บริษัท เพื่อนพองน้องพี่ จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท)
2.บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด (โทรทัศน์ PTV) 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เท่ากับ 1 ล้านบาท
รวมเงินลงทุน 2 แห่งของนายจตุพร 11 ล้านบาท (ต่อมานายจตุพรได้โอนหุ้นทั้งสองบริษัทให้บุคคลอื่นในช่วงเดือนตุลาคม 2550)
เท่ากับนายจตุพรมีเงินลงทุน 7 แห่ง 19.6 ล้านบาท
กรณีการจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. 5 แห่งของนายจตุพรกับพวกนั้นอาจมาจาก 3 แนวทาง
แนวทางแรก นายจตุพรกับพวกต้องการทำธุรกิจจริงๆ เพราะในช่วงที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด 5 แห่ง เกิดขึ้นในช่วงพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และมีโครงการประชานิยมจำนวนมาก บริษัทที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอาจได้รับอานิสงส์ เห็นได้จาก การจัดตั้ง หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์ ได้ระบุวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ
“ 1.ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแก่ชาวไทยและต่างชาติเพื่อเป็นสมาชิกประกอบธุรกิจท่องเที่ยวพำนักระยะยาว 2.ประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการจองที่พัก โรงแรม ในโครงการที่พักระยะยาว และ 3.ประกอบกิจการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาโครงการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน”
แต่ต่อมาได้กลับใจ จึงยกเลิกกิจการดังกล่าว
แนวทางที่สอง นายจตุพรกับพวกได้เงินมาก้อนหนึ่ง ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร? จึงจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นมา โดยใช้ที่ตั้งเดียวกัน แล้วก็ “ปล่อยกู้”ให้ตัวเองและพวกพ้อง เสร็จแล้วแจ้งเลิกกิจการ
แนวทางที่สาม นายจตุพร “รับอาสา” นำเงินจากพรรคพวกมาบริหารจัดการโดยจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากนั้นก็ปล่อยกู้กลับคืนไปให้พรรคพวกและแจ้งเลิกกิจการ
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแนวทางแรกและแนวทางที่สอง เท่ากับข้อเท็จจริงในช่วงเวลาปี 2545 นายจตุพรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 8.6 ล้านบาท
กรณีการถือหุ้น บริษัท เพื่อนพ้อง น้องพี่ จำกัด และ บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด จำนวน 110,000 หุ้น มูลค่า 11 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2549 –ปลายปี 2550 นั้น
แนวทางแรกนายจตุพรอาจนำเงิน 8.6 ล้านบาทดังกล่าวบวกกับเงินอีกจำนวนหนึ่ง มาลงทุนร่วมกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับพวกใน บริษัท เพื่อนพ้อง น้องพี่ จำกัด และ บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด ต่อมาก็ถอนหุ้นออกก่อนเลือกตั้งปลายปี 2550
แนวทางที่สองเงิน 8.6 ล้านบาท เป็นคนละก้อนกับเงินลงทุน 11 ล้านบาท ซึ่งเงิน 11 ล้านบาทอาจเป็นเงินส่วนตัวของนายจตุพรเองหรือไม่มีทราบที่มา แล้วนำมาลงทุน 2 บริษัทดังกล่าว เท่ากับในช่วงปลายปี 2550 นายจตุพรมีทรัพย์สินอย่างน้อย 19.6 ล้านบาท
กรณีของการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน
ในช่วงปลายปี 2550 นายจตุพรได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนตำแหน่งระบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 22 มกราคม 2551 มีทรัพย์สิน 8,050,892.2 บาท แบ่งเป็น
1.เงินฝาก 5 บัญชี 2,599,939.46 บาท
2.โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 99/92 หมู่ 4 แขวงคลองถนน เขตสายใหม่ กรุงเทพฯ 2,700,000 บาท
3.รถยนต์ 2 คัน ทะเบียน สอ.2535 กรุงเทพมหานคร 1,750,800 บาท คันที่ 2 ทะเบียน ชศ 2535 กรุงเทพมหานคร มูลค่า 999,312 บาท รวมมูลค่า 2,750,122 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น
หนี้สิน เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 2,750,112 บาท (หนี้สินมีจำนวนเท่ากับมูลค่ารถยนต์)
บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (นอกสมรส) 1 คน มีเงินฝาก ธนาคารออมสิน 1 บัญชี 840.96 บาท
เบ็ดเสร็จมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 5,300,780.2 บาท
เห็นได้ว่าทรัพย์สินที่แจ้ง ต่อ ป.ป.ช.ครั้งแรกใกล้เคียงกับเงินลงทุน 8.6 ล้านบาท
ถ้าคิดแบบหยาบๆ ก็คือ ทรัพย์สินที่แจ้ง ป.ป.ช. เป็นก้อนเดียวกับ 8.6 ล้านบาท
ประเด็นปริศนาก็คือเงินอีกก้อนที่นายจตุพรได้จากการขายหุ้น 2 บริษัทมูลค่านับสิบล้านบาทสูญหายหรือหลงลืมไว้กับใครหรือไม่?
เงินลงทุนของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ในช่วงปี 2545-2550
ที่มา:สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)รวบรวม