เปิดคำพิพากษา สั่ง บ.เสริมสุข ชดใช้กว่า 2 ล้าน คดีขวดแก้ว ‘เอส’ ระเบิด เข้าตาผู้บริโภคบอด
เปิดคำพิพากษา คดีขวดน้ำอัดลมเอสโคล่าระเบิด พุ่งใส่หน้านักศึกษา ม.รามคำแหง ตาบอด ศาลแพ่งสั่งชดใช้กว่า 2 ล้านบาท ชี้กระบวนการผลิตอาจไม่ปลอดภัย
นับเป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กรณีนายธีรเกียรติ เจริญบัณฑิตสกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (โจทก์) ยื่นฟ้อง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) (จำเลย) ผู้ประกอบกิจการขายเครื่องดื่มน้ำอัดลม ยี่ห้อ เอส (est) ภายหลังขวดน้ำอัดลมระเบิด ขณะกำลังเป็นพนักงานหยิบส่งให้ลูกค้าในร้านอาหารตะวันแดง สาดแสงเดือน ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2557 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จนทำให้เศษแก้วพุ่งเข้าใส่ใบหน้าอย่างแรงเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกและบอดสนิท และยังเป็นแผลที่คาง
โดยศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาออกมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2560 หลังจากนายธีรเกียรติ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตัดสินให้บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ชำระเงินจำนวน 1,410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นายธีรเกียรติ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 พ.ค. 2558) ต้องไม่เกิน 828,626 บาท ตามที่ขอมา
นอกจากนี้ยังให้ชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพเป็นเงิน 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ค่าเสียหายกรณีสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคตกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้ จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม คดีนี้นายธีรเกียรติได้ยื่นฟ้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551
โดยก่อนมีคำพิพากษา บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้ให้การในชั้นศาลตอนหนึ่งว่า นายธีรเกียรติไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายที่ถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าของบริษัทฯ อาการบาดเจ็บไม่ได้เกิดขึ้นจากการระเบิดของสินค้า พร้อมกับยืนยันว่า สินค้าน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำอัดลม ผลิตโดยได้มาตรฐานสากลตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทนแรงดันและมีความปลอดภัย ไม่อาจแตกหรือระเบิดได้แต่อย่างใด ดังนั้นค่าเสียหายที่นายธีรเกียรติเรียกร้องเป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากมูลความจริงและไม่มีพยานหลักฐาน จึงขอให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ นายธีรเกียรติ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 11,725,626 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,897,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และขอให้ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลภายในเวลาที่ศาลกำหนด และขอให้บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงตามมาตรา 42 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551
ส่วนประเด็นอื่น ๆ ซึ่งศาลมีประเด็นต้องวินิจฉัยไว้ ที่น่าสนใจ คือ ขวดน้ำอัดลมเอสโคล่าระเบิดระหว่างนายธีรเกียรติใช้มือหยิบขวดขึ้นมาจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดหรือไม่
การนำสืบในประเด็นข้างต้น สรุปพอสังเขปว่า มีนายธีรเกียรติ นายภาณุเดช เป็นพยาน และวิดีทัศน์ เป็นวัตถุพยาน สอดคล้องกันว่า นายธีรเกียรติ นำใบสั่งเครื่องดื่มของลูกค้ามาให้นายภาณุเดช ซึ่งนายภาณุเดช จัดเครื่องดื่มเอสโคล่าขวดแก้ว 3 ขวด เพื่อให้นายธีรเกียรตินำไปส่งให้ลูกค้า
ขวดน้ำอัดลมเอสจากตู้แช่มาวางพักบนชั้นวางเครื่องดื่มไม่ได้ถูกเปิดขวด และไม่ได้ตกพื้นหรือกระแทกกัน นายธีรเกียรติหยิบน้ำอัดลมเอสขวดแรกด้วยมือซ้าย และหยิบขวดที่สองด้วยมือขวา ทันใดนั้นขวดที่สองก็ระเบิด ทำให้เศษแก้วพุ่งกระเด็นเข้าใบหน้าและดวงตาซ้ายอย่างรุนแรง
ด้าน นางอรุณรุ่ง อุ่นอ่อน เบิกความบางช่วงบางตอนว่า สถานที่เก็บน้ำอัดลมเอสโคล่ามีหลังคาคลุมเรียบร้อย ขณะเดียวกัน น.ส.จิราภรณ์ เอื้อชลิตานุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือและวัสดุ ยืนยันว่า นายธีรเกียรติ หยิบขวดน้ำอัดลมเอสโคล่าในลักษณะทั่วไป
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำเบิกความของทุกคนสอดคล้องกับภาพเหตุการณ์ตามวิดีทัศน์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่นายธีรเกียรตินำสืบมา รับฟังได้ว่า ได้รับอันตรายจากสินค้าของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ขณะใช้มือหยิบขวดน้ำอัดลมขึ้นมา
อีกประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย คือ กระบวนการผลิตสินค้าของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) มีวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยได้มาตรฐานหรือไม่
ข้อนี้นายธีรเกียรติ มีนายไพบูลย์ ช่วงทอง และน.ส.จิราภรณ์ เอื้อชลิตานุกูล พยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นพยานเบิกความ บางช่วงระบุว่า น้ำอัดลมที่ผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีความดันในขวดสูง และการนำขวดแก้วเก่ามาบรรจุใหม่หลายรอบอาจชำรุดได้ ด้วยเหตุมีผู้ใช้รายก่อน ๆ นำขวดไปแช่แข็ง ชำรุดจากการขนส่ง หรือชำรุดขณะล้างขวด ซึ่งหากเป็นการชำรุดรุนแรงก็จะมีร่องรอยเป็นที่ประจักษ์
อย่างไรก็ตาม การชำรุดบางประเภทอาจมีขนาดเล็กมากถึงระดับไมครอน ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อนำขวดที่ชำรุดไปบรรจุน้ำอัดลม ขวดอาจจะแตกขณะบรรจุทันทีหรือแตกหลังบรรจุ เมื่อถึงจุดที่ขวดไม่สามารถรับแรงดันได้
ขณะที่บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) มีนายพีรพงศ์ กรินชัย เป็นพยานเบิกความถึงกระบวนการผลิตน้ำอัดลม โดยยืนยันว่า โรงงานผลิตสินค้าได้มาตรฐานการรับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานราชการ สินค้าผลิตโดยได้มาตรฐานสากล มีกระบวนการและกรรมวิธีการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
พร้อมกับมีนายบรรพต ญานุปิติศักดิ์ เป็นพยานเบิกความยืนยันประกอบภาพถ่ายและวิดีทัศน์แสดงขั้นตอนกระบวนการผลิตและทดสอบขวด
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) นำสืบให้เห็นว่าสินค้าน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ปลอดภัย เพราะมีการผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่เหตุการณ์ที่ปรากฎตามภาพวิดีทัศน์ แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย เนื่องจากนายธีรเกียรติได้รับอันตรายจากการระเบิดของขวดน้ำอัดลมขณะอยู่ในมือ ในขณะที่หยิบจับแบบวิญญูชนทั่วไป
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาขั้นตอนการตรวจสอบขวดแก้ว มีจุดตรวจขวดอัตโนมัติด้วยเครื่องจักรจุดเดียว แม้จะมีพนักงานร่วมตรวจด้วย ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เพราะสายพานลำเลียงด้วยความเร็ว และการตรวจจุดสุดท้ายก็เป็นการสุ่มตรวจเพื่อวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขวดน้ำอัดลม
โดยในระยะเวลา 30 นาที จะสุ่มตรวจเพียง 2 ขวดเท่านั้น ซึ่ง 1 นาที โรงงานผลิตน้ำอัดลมได้ถึง 400 ขวด ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าขวดน้ำอัดลมทุกขวดทั้งหมดที่ผ่านการตรวจสอบดังกล่าวจะมีความปลอดภัย .
อ่านประกอบ:ศาลพิพากษาให้เครื่องดื่ม เอส จ่ายกว่า 2 ล.พบกระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย