ครบรอบ 12 ปี ใครคือ ‘ดีพโธรท’ ปล่อยข้อมูล คดีวอเตอร์เกต
31 พ.ค. ครบรอบ 12 ปี แห่งการเปิดเผยตัว ใคร คือ ‘ดีพโธรท’ ปล่อยข้อมูลให้ 2 นักข่าว The Washington Post ในคดีวอเตอร์เกต ทำให้ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออก
คดีวอเตอร์เกต ( Watergate scandal) คือ เหตุการณ์อื้อฉาวทางการเมืองในสหรัฐ เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ลักลอบโจรกรรมสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon ) พยายามปกปิดหลักฐานถึงการข้องเกี่ยวในเหตุโจรกรรมดังกล่าว จนในที่สุดเรื่องอื้อฉาวนี้นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2517 (ค.ศ. 1974) ซึ่งเป็นการลาออกครั้งแรกและครั้งเดียวของประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์อเมริกัน
เป็นที่รู้กันในเวลาต่อมาว่า เบื้องหลังคดี วอเตอร์เกต มาจากการให้ข้อมูลลึกชนิด สุดคอหอย หรือ “ดีพโธรท (Deep throat)” แก่นักข่าววอชิงตันโพสต์
31 พฤษภาคม วันนี้ เมื่อสิบสองปีที่แล้ว และ 31 ปี หลังการลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน “ดีพโธรท (Deep throat)” ผู้แฉคดีอื้อฉาววอเตอร์เกตคนสำคัญ ได้เปิดเผยตัวตนผ่านบทความในนิตยาสารแวนิตี้แฟร์ ( Vanity Fair magazine)
การเผยโฉมของ “มาร์ค เฟลท์” (Mark Felt) สร้างความตื่นตะลึง แก่ บ็อบ วู้ดเวิร์ด (Bob Woodward) และนายคาร์ล เบิร์นสไตน์ (Carl Bernstein) สองนักข่าวหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ผู้สมรู้ร่วมคิดรายงานข่าวจนนิกสันต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทั้งสองคนปกปิดตัวตนของนายเฟลท์มาเป็นเวลานานและสัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับจนกว่าจะเสียชีวิต
แม้ชื่อของเขาจะได้รับการกล่าวถึงอยู่เป็นเวลาหลายปีหลังการลาออกของประธานาธิบดีนิกสัน เฟลท์ก็ได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าตนไม่ใช่ดีพโธรทตามที่ต้องสงสัย และได้เขียนในบันทึกส่วนตัวในปี 2522 (1979) ว่า “ผมไม่เคยปล่อยข้อมูลให้วู้ดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ หรือคนอื่นใดเลย” นอกจากนี้แล้ว หกปีก่อนหน้าการรับสารภาพในปี 2548 (2005) เฟลท์ในวัย 91 ปี ยังได้พูดด้วยว่า “หากผมปล่อยข้อมูลไปก็คงจะย้อนแย้งกับความรับผิดชอบของตนในฐานะที่เป็นลูกจ้างอันซื่อสัตย์ต่อเอฟบีไอ ชอบกล”
Former Associate FBI Director W. Mark Felt, and his wife Audrey, appear on NBC's "TODAY" television show in Washington, D.C. on April 11, 1978.
กลางดึกคืนนั้น ณ ที่จอดรถในเมืองอาร์ลิงทัน รัฐเวอร์จิเนีย นายเฟลท์ รับรองต่อนายวู้ดเวิร์ดว่าคณะกรรมการเลือกตั้งครั้งใหม่ของนิกสันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมที่โรงแรมวอเตอร์เกต และการสืบสวนพรรคเดโมแครตอย่างผิดกฏหมาย พร้อมแจ้งว่าข่าวอื้อฉาวนี้จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยอาจจะสามารถสืบสาวกลับไปได้ถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมถึงตัวประธานาธิบดีนิกสันเองด้วย
การลาออกของนิกสันถือเป็นการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ในระหว่างที่มีกระบวนการพิจารณาถอดถอนเป็นครั้งแรก ผู้มีส่วนรู้เห็นคนสำคัญอย่าง นายเอช. อาร์. ฮัลเดแมน (H.R. Haldeman) นายจอห์น เออร์ลิชแมน (John Erlichman) และ นายจอห์น ดีน (John Dean ) ที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ต่างก็ต้องโทษจำคุกทั้งหมด
ผู้มีส่วนร่วมคนอื่น ๆ ที่สำคัญที่ต้องโทษจำคุกได้แก่ นายจอห์น มิทเชล (John Mitchell) อัยการสูงสุด นายโฮเวิร์ด ฮันท์ (Howard Hunt ) และ นายจี กอร์ดอน ลิดดี้ (G. Gordon Liddy) ทั้งสองคนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว รวมไปถึงนายชาร์ล โคลสัน (Charles Colson) ที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีด้วย นอกจากนี้ นักโจรกรรม 5 ราย ที่ถูกจับได้ขณะเข้าโจรกรรมข้อมูลในสำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครตที่อาคารวอเตอร์เกต ก็ต้องโทษจำคุกด้วยเช่นกัน
ในการเปิดโปงคดีนี้ ในปี 2516 (1973) หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เนื่องมากจากการเปิดโปงดังกล่าว ฮอลลีวูดได้สร้างภาพยนต์ในปี 2519 (1976) เรื่อง “All the President’s Men” ร่วมแสดงโดยโรเบิร์ต เรดฟอร์ด (Robert Redford) และ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน (Dustin Hoffman)
ส่วนนายมาร์ก เฟลท์ เสียชีวิตด้วยวัย 95 ปี เมื่อ 18 ธันวาคม 2551 (2008)
(หมายเหตุ:เรียบเรียงจาก This Day in History: Watergate Leaker 'Deep Throat' Reveals Self in 2005, “Voice of America”, เข้าถึงได้จาก http://www.voanews.com/a/deep-throat-watergate-leaker-reveals-his-indentity-after-30-years-of-hiding-on-this-day-in-history/3881289.html -เรียบเรียงโดย วศินี พบูประภาพ )