คดี 4 ศพปัตตานี...หนึ่งเดือนที่ยังไม่มีคำตอบ
ผ่านมาครบ 1 เดือนแล้วกับเหตุการณ์กำลังพลของกองร้อยทหารพรานที่ 4302 รับผิดชอบพื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระดมยิงรถกระบะต้องสงสัยริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 ท้องที่หมู่ 1 บ้านกาหยี ต.ปุโละปุโย จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย ขณะออกติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้ายที่ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มฐานปฏิบัติการ เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2555
เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่ขึ้นมา เนื่องจากฝ่ายทหารกล่าวอ้างในวันแรกๆ ว่า กลุ่มชาวบ้านในรถกระบะต้องสงสัยบางรายมีพฤติการณ์เป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ทำให้บุคคลระดับรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ในลักษณะฟันธงว่าบางคนในรถเป็น "โจร" ไม่ใช่ "ชาวบ้าน" ขณะที่ฝั่งชาวบ้านยืนยันว่าคนบนรถทั้ง 9 คนส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา กำลังเดินทางไปละหมาดให้คนตายในอีกหมู่บ้านหนึ่ง!
แม้ต่อมาบุคคลระดับรัฐมนตรีจะพยายาม "ถอย" และหยุดการกล่าวหาล่วงหน้า พร้อมไฟเขียวให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ข้อมูลข้อเท็จจริงจากทางฝ่ายทหารก็ยังยืนกรานว่ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชาวบ้านอย่างแน่นอน
กลายเป็นข้อเท็จจริง 2 ชุดที่ต้องพิสูจน์กัน...
หลังเกิดเหตุราว 10 วัน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกรรมการประกอบด้วยผู้นำศาสนา ฝ่ายปกครอง ผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้แทนฝ่ายทหาร และตัวแทนชาวบ้านผู้สูญเสีย มี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน
แต่ดูเหมือนตลอด 20 วันที่ผ่านมา บทบาทของคณะกรรมการอิสระจะหล่นหายไปจากกระแสความสนใจของสังคม ขณะที่ความเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ก็ดูนิ่งสนิท ภายใต้บรรยากาศแผ่ซ่านอย่างเงียบๆ ของ "น้ำผึ้งหยดเดียว" เพราะสังคมที่ชายแดนใต้คล้ายจะตัดสินไปแล้วว่าเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้เป็นความผิดของ "ทหารพราน" และลุกลามกลายเป็นความไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด
หนึ่งเดือนที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง..."ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมข้อมูลจากทุกด้านมารายงาน...
ตั้งฝ่ายปกครอง-อัยการร่วมสอบ
ในแง่มุมทางคดี นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้พยายามสร้างความมั่นใจเรื่องความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย ทั้งยังโดดเข้าคุมคดีด้วยตนเอง
"เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผมจึงได้เข้าควบคุมการสอบสวนคดีนี้ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 และได้แต่งตั้ง นายชัชชล บุณยเกียรติ ปลัดอำเภอหนองจิก เป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เข้าร่วมสอบสวนคดีดังกล่าวกับฝ่ายตำรวจและอัยการด้วย" ผู้ว่าฯธีระ ให้สัมภาษณ์เอาไว้
ส่วนในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา ได้มีการมอบเงินช่วยเหลืออย่างเป็นทางการไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง จากทางจังหวัดโดยผู้ว่าฯปัตตานี 1 ครั้ง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก 1 ครั้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีก 1 ครั้ง
ผ่าน 20 วันเพิ่งส่งปืน
ความเคลื่อนไหวในทางคดี สังคมพุ่งเป้าจับตาไปที่ฝั่งทหารพราน เพราะฝ่ายชาวบ้านนั้นได้ให้ปากคำในฐานะพยานไปเกือบหมดแล้ว ยกเว้นผู้ที่เจ็บหนัก ยังต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
เป็นที่น่าสังเกตว่า วันศุกร์ที่ 17 ก.พ.2555 หรือหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วถึง 20 วัน ผู้บังคับบัญชาของกรมทหารพรานที่ 43 เพิ่งจะนำเจ้าหน้าที่ทหารพรานจำนวน 4 นาย ประกอบด้วย ร.อ.วิโชติ หมวกเปี๊ยก ส.ท.แสงอาทิตย์ บูรณเรืองกิจ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) สุไลมาน เจะโก๊ะ และ อส.ทพ.พรเทพ สุขสวัสดิ์ สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4302 เข้ามอบอาวุธปืนประจำกาย ซึ่งเป็นปืนอาก้าจำนวน 4 กระบอก ให้กับพนักงานสอบสวน ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี
หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงส่งปืนให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยะลา ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น เกลียวลำกล้อง เพื่อตรวจเทียบกับหัวกระสุน ปลอกกระสุน และวัตถุพยานอื่นๆ ที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ เป็นต้น
ข่าวว่าขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาอีก 30 วัน!
สำหรับกำลังพลทั้งหมดของกองร้อยทหารพรานที่ 4302 ได้ถูกย้ายด่วนเข้าประจำที่กรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก ตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุที่อ้างว่ายิงรถกระบะต้องสงสัยจนชาวบ้านเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีก 4 ราย
ในวันเดียวกันนั้น (17 ก.พ.) คณะพนักงานสอบสวนซึ่งมีทั้งตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครองยัง ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ประจำอยู่ในฐานปฏิบัติการขณะถูกคนร้ายยิงถล่มด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ด้วย
ตั้ง 3 สำนวนเดินหน้าทำคดี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหากลุ่มทหารพรานว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่น แต่กลุ่มผู้ต้องหาก็มีข้อต่อสู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และอ้างเหตุป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จึงถือว่ามีการตายเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานสอบสวนจึงได้ทำสำนวนคดีแยกเป็น 3 สำนวน ประกอบด้วย
1.สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ 1 สำนวน เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 ที่ระบุว่า "ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป"
นี่คือขั้นตอนตามกฎหมายที่พนักงานสอบสวนกำลังดำเนินการ
2.สำนวนคดีเจ้าพนักงานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 1 สำนวน
3.สำนวนคดีที่เจ้าพนักงานกล่าวหาว่าผู้ตายกับพวก (ฝ่ายชาวบ้าน) เป็นคนร้ายที่ยิงเจ้าพนักงานก่อน ผู้ตายกับพวกถูกเจ้าพนักงานกล่าวหาว่าร่วมกันพยายามฆ่าและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานอีก 1 สำนวน
กรรมการอิสระยังมึน
ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้น และดำเนินการคู่ขนานไปกับคดีอาญานั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการฯได้ประชุมกันไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนใดๆ
นายอนุกูล อาแวปูเตะ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนึ่งในกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า หัวใจของคดีนี้คือการพิสูจน์อาวุธปืนที่อยู่ในรถกระบะของชาวบ้าน และรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ผ่านมาได้มีการนัดประชุมย่อยเพื่อหาแนวทาง รวมทั้งเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งชาวบ้านและทหารมาให้ข้อมูล
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องคดีค่อนข้างเงียบ เพราะมีเรื่องอื่นร้อนกว่า โดยเฉพาะเรื่องเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ทำให้ทุกคนให้ความสนใจมากที่สุด ส่วนเรื่องคดี 4 ศพยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียดมากนัก ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วก็เพิ่งประชุมกันไปไม่กี่ครั้ง
ขณะที่กรรมการบางรายถึงกับออกปากว่า "ได้รับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ไม่รู้จะเชื่อใครดี"
ด้าน นายอดินัน ดือราแม ตัวแทนของชาวบ้านผู้เสียหายซึ่งร่วมเป็นกรรมการด้วย กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการอิสระฯยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก หลังจากนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ความรู้สึกของชาวบ้านคือกลัว แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด
หวาดกลัวและหวาดระแวง
ในแง่ความรู้สึกของชาวบ้านที่หลายฝ่ายห่วงใย "ทีมข่าวอิศรา" ได้เดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้ง และพบว่าบรรยากาศของความหวาดระแวงยังปกคลุมไปทั่ว ชาวบ้านมองทุกคนอย่างไม่เป็นมิตร รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย
นางอาอีดะห์ บือราเฮง พี่สาวของนายรอปา บือราเฮง หนึ่งในผู้เสียชีวิต บอกว่า ตอนนี้ไม่ว่านักข่าว หมอ ภาคประชาสังคมเข้ามา จะไม่ไว้ใจทุกคนเลย ส่วนทหาร ตำรวจไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครคิดดีหรือคิดไม่ดีกับชาวบ้านบ้าง กลัวไปทุกคน เพราะทุกคนไม่เคยทำให้ชาวบ้านไว้ใจได้
"สื่อน่ะตัวดี (หมายถึงสื่อกระแสหลักบางแขนง) เขียนข่าวไม่มีความจริงเลยแม้แต่นิดเดียว ตอนนี้ได้เอาหนังสือพิมพ์หลายฉบับมาตัดแปะใส่กระดาษ ถ้านักข่าวของสื่อเหล่านี้เข้ามาวันไหนจะได้ถาม แต่ก็อย่างว่า เราเป็นชาวบ้านจะไปทำอะไรได้มากกว่านี้ สุดท้ายก็นั่งเจ็บใจอยู่แต่พวกเรา ช่วงที่เรื่องยังใหม่ๆ หลังเกิดเหตุคนก็เข้ามาเรื่อยๆ แต่พอเวลาผ่านไปทุกอย่างก็จะเงียบลง และสุดท้ายก็จะไม่มีใครเข้ามาที่นี่เหมือนเคย" นางอาอีดะห์ กล่าว
ด้านครอบครัวของ นายอิสมัน ดือราแม ผู้เสียชีวิตอีกราย ทั้งภรรยา ลูกๆ และญาติ ยังคงอยู่ในอาการโศกเศร้าและหวาดระแวงเช่นกัน หลายคนถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น นายยา ดือราแม ญาติของนายอิสมันซึ่งรอดชีวิตอย่างหวุดหวิดจากเหตุการณ์ร้าย
"ทุกวันนี้ผมกลัวจนไม่กล้าเดินทางไปไหนมาไหน ไม่กล้าแม้กระทั่งไปทำงาน ต้องนอนอยู่เฉยๆ เพราะกลัว แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร" นายยา ซึ่งนับเป็นพยานปากเอกอีกคนหนึ่ง กล่าว
ข้อเท็จจริง 2 ชุดที่ยังไร้ข้อสรุป
หนึ่งเดือนเต็มของเหตุการณ์ยิงรถกระบะของชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นรถต้องสงสัย จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 4 รายนั้น จนถึงวันนี้ "ความจริงอันเป็นที่ยุติ" ก็ยังไม่ปรากฏ คงมีแต่เพียงข้อเท็จจริง 2 ชุดจาก 2 ฝ่ายที่ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
ข้อเท็จจริงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่
- คนในรถมีมากกว่า 9 คน น่าจะมีคนร้ายซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ไม่หวังดีปะปนอยู่
- นายยา ดือราแม ไม่ใช่คนขับรถตัวจริง เพราะรถคันที่ถูกยิงผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าหมู่บ้านก่อนแล้ว ก่อนจะไปพบกับกำลังพลของทหารพรานที่จุดเกิดเหตุ โดยกำลังพลประจำด่านยืนยันว่านายยาไม่ใช่คนขับ
- มีกำลังพลของทหารพรานเห็นรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยจอดอยู่ข้างรถกระบะคันที่ถูกยิง อาจเป็นรถของคนร้าย
- มีเศษกระสุนปืนลูกซองตกอยู่ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าอาจเป็นปืนของคนร้ายที่สร้างสถานการณ์
ข้อเท็จจริงฝั่งชาวบ้าน
- ยืนยันว่าคนในรถมีแค่ 9 คน เพราะกำลังเดินทางไปละหมาดคนตายในอีกหมู่บ้านหนึ่ง
- นายยา ดือราแม ยืนยันว่าเป็นคนขับรถตัวจริง
- ไม่มีคนอื่นอยู่ในรถ และไม่มีรถจักรยานยนต์ต้องสงสัย
- อาวุธปืนอาก้าที่พบในรถกระบะที่ถูกยิง อาจถูกยัดจากเจ้าหน้าที่
- อาจมีหน่วยอื่นร่วมปฏิบัติการด้วยนอกเหนือจากทหารพราน จึงมีเศษกระสุนปืนชนิดอื่นปรากฏเป็นหลักฐานในที่เกิดเหตุ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชาวบ้านกำลังแห่ศพเหยื่อของเหตุการณ์ไปฝังยังกุโบร์ หลังเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 29 ม.ค.
2 ความเศร้าโศกของครอบครัวผู้สูญเสีย
3 เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานบริเวณจุดเกิดเหตุและใกล้เคียง (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)